xs
xsm
sm
md
lg

“ธปท.-กนง.-สถาบันการเงิน” นัดถก 18 มิ.ย.นี้ เตรียมพร้อมรับมือ ศก. ทุกสถานการณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธปท.” นัดถก “กนง.-สถาบันการเงิน” วันที่ 18 มิ.ย.นี้ คาดแลกเปลี่ยนความเห็นบูรณาการ เพื่อใช้เครื่องมือทางการเงินสร้างเสถียรภาพ ศก. และรับมือความเสี่ยง ขณะที่บอร์ด กนง. มีมติคง ดบ.นโยบาย 3% ตามคาด เอกชนมั่นใจหนุน ศก. ขยายตัว

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน 2555 นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน จะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และการผสมผสานการใช้เครื่องมือทางการเงิน และนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมดังกล่าวจะทำให้เกิดเสถียรภาพด้านการเงิน และระบบเศรษฐกิจที่สามารถรองรับความเสี่ยง หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวนั้น ถือเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก และตั้งเป้าจะประชุมร่วมกันทุกปีๆ ละ 2 ครั้งต่อไปจากนี้

สำหรับผลการประชุมบอร์ด กนง. วันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3 และเป็นการคงนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง และก็รองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่มีความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้กรีซที่มีแนวโน้มเลวร้ายมากขึ้น และปัญหาจากภาคการเงินในประเทศสเปน ถึงแม้จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนมากนัก

ดังนั้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจยูโรจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจในเอเชีย

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงมติ กนง. ที่คงดอกเบี้ยวเอาไว้ที่ร้อยละ 3 โดยมองว่า เป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังสามารถขยายตัวได้ โดยราคาพลังงานยังคงเป็นปัจจัยที่จะต้องมีการจับตาอย่างใกล้ชิด

สำหรับผลสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ พบว่า ปัญหาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด คือ ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น รองลงมา คือ ความเชื่อมั่น การเมือง เศรษฐกิจในประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และค่าแรงขั้นต่ำ ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการมองว่ายังไม่มีผลกระทบมากนัก

ขณะที่ปัญหาทางการเมืองจะมีผลมากขึ้น เพราะถือเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น