xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ย หั่นจีดีพีเหลือ5.7หวั่นเศรษฐกิจโลกทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เสียงแตก! กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 คงดอกเบี้ย 3% ชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังดี นโยบายการเงิน-การคลังยังเอาอยู่ ขณะเดียวกันลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 5.7% และปีหน้า 5%จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกสำคัญ รวมถึงตัวเลขส่งออกเหลือ 7% เงินเฟ้อทั่วไป 2.9% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.2%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ด กนง.เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3%ต่อปี โดยเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการเห็นว่าการผสมผสานนโยบายการเงินและการคลังยังเหมาะสมในขณะนี้ โดยเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวใกล้เคียงกับศักยภาพและเงินเฟ้อยังอยู่ตรงกลางของกรอบเป้าหมายขณะเดียวกัน ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นและมองไปข้างหน้ามีโอกาสอ่อนแอและยืดเยื้ออีกนาน จึงควรเก็บกระสุนไว้ใช้เวลาจำเป็น ซึ่งสามารถมีพื้นที่เพียงพอในการกระตุ้นหรือประคองเศรษฐกิจไทยได้ในเวลาเหมาะสม

“เราได้มีการผ่อนปรนนโยบายการเงินของไทยไปล่วงหน้าแล้ว ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแท้จริงของไทยใกล้เคียงกับ 0% และต่ำสุดในภูมิภาคนี้ และแม้มองไปข้างหน้าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่เราได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีบางตัวเลวร้ายที่เราคิดไปบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลให้ทิศทางนโยบายการเงินถูกกระทบมากนักและนโยบายแบบนี้ก็เหมาะสมอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ปิดโอกาสทีเดียว หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เราคาดไว้ เราก็สามารถดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าที่คาดไว้เช่นเดียวกัน”

**ปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทย**

ในการประชุมครั้งนี้ บอร์ด กนง.ได้ปรับประมาณการตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 55 ได้มีการทยอยปรับลดลงตั้งแต่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเมื่อวันที่ 11 พ.ค.อยู่ที่ระดับ 6.5% การประชุมกนง.ครั้งก่อนในวันที่ 13 มิ.ย.อยู่ที่ 6% และล่าสุดการประชุม กนง.ครั้งนี้ลดลงเหลือ 5.7% เนื่องจากความเสี่ยงต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทยช่วง 6 เดือนแรกฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง แต่มองไปข้างหน้าอาจจะอ่อนตัวลง เพราะเร่งบริโภค การลงทุนสูงกว่าปกติหลังน้ำท่วม จึงคาดว่าปี 56 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัว 5% จากช่วงเดือน พ.ค.ที่ประเมินไว้ที่ระดับ 5.8% และเดือน มิ.ย.ที่ระดับ 5.4%

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังได้ปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า(รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อประจำเดือนพ.ค.) อยู่ที่ 3.5% ต่อมาเดือนมิ.ย.ในการประชุมกนง.ครั้งก่อนอยู่ที่ 3.3% และบอร์ดกนง.ครั้งนี้ประเมินอยู่ที่ 2.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็มีการปรับจาก 2.5% 2.3% และลดลงเล็กน้อยเหลือ 2.2% ในการประชุมกนง.ครั้งนี้และจากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีปัญหาในขณะนี้ จึงได้ปรับตัวเลขการส่งออกเช่นกันจากตัวเลข 9.2% ในเดือนพ.ค. การประชุมกนง.ครั้งก่อนในเดือนมิ.ย.ลดลงเหลือ 8.3% และในการประชุมกนง.เดือนก.ค.เหลือ 7% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยใหม่ครั้งนี้จะประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานแนวโน้มเงินในวันที่ 3 ส.ค.นี้

**2 เสียงในบอร์ด กนง.ให้ลดดบ.**
สำหรับ 2 เสียงที่แตกต่างกันออกไปเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ลงอีก 0.25% โดยมองว่าเห็นความอ่อนแอเศรษฐกิจไทยจากการลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าลงและถ้ามองไปข้างหน้าความเสี่ยงด้านลบมีมากกว่า รวมถึงแรงกระตุ้นทางการคลังที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอาจจะล่าช้าหรือเศรษฐกิจขยายตัวไม่เต็มที่ต่อไป จึงควรส่งสัญญาณให้เอกชนตระหนักถึงความเสี่ยงด้วยการลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นหรือประคองเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอกชน

**ดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยสำคัญดึงเงินเข้า**
อย่างไรก็ตาม แม้มติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไว้ แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินทุนต่างชาติไหลเข้า-ออกบ้าง ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่เห็นว่าส่วนใหญ่น่าจะมาจากความรู้สึกของนักลงทุนในการดูตลาดการเงินโลกมากกว่า อีกทั้งพิจารณาการเจริญเติบโตของประเทศที่ไปลงทุนด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบางประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงหรือต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทย แต่ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น