xs
xsm
sm
md
lg

SCBปรับจีดีพีโต5.6-5.8% จับตาต้นทุนพุ่ง-ส่งออกสะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยเป็นโต 5.6-5.8% จากเดิม 4.5-4.7% จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่าย-ลงทุนภายในประเทศที่ดีขึ้น แต่ยังห่วงเรื่องต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และศก.ยุโรปยังฉุดส่งออก

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCB) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์(EIC)ได้มีการปรับเพิ่มประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 5.6-5.8% จากเดิมที่ประมาณการไว้ 4.5-4.7% เนื่องจากทางศูนย์วิจัยประเมินว่าภาคการลงทุนของภาคเอกชนจะฟื้นตัวได้รวดเร็วจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน รวมถึงผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะลงทุน ทำให้มีแนวโน้มการขยายตัวได้สูงในช่วงไตรมาส2 ถึงไตรมาส3 และมีปัจจัยในทิศทางบวก ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะเห็นภาพการลงทุนชัดเจนขึ้นในช่วงปีหน้า หลังจากที่จัดสรรโครงการลงตัวในช่วงไตรมาส 3-4

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจะมีแรงกดดันด้านต้นทุนจากการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมีผลไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3%และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.7%โดยประมาณ รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ แต่ต้นทุนการกู้ยืมอาจสูงขึ้นเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากการระดมเงินและอาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ลดความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการระดมเงินสกุลดอลลาร์ที่จะทำได้ยากขึ้นเนื่องจากธนาคารในยุโรปประสบกับปัญหาเด้านความเชื่อมั่น

ด้านการส่งออกนั้น จากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยชัดเจนขึ้น เนื่องจากตลาดยุโรปมีสัดส่วน 1 ใน 10 ของการส่งออกของไทย ซึ่งล่าสุดการส่งออกไปยังยุโรปในเดือนมีนาคมหดตัว 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี EIC ยังประเมินการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ 13%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี จะยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงจากแรงกดกดันด้านต้นทุน ซึ่งEIC ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 3.5-4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงานจะอยู่ที่ระดับ 2.5-3% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น