xs
xsm
sm
md
lg

ทางแพร่ง

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การประชุมร่วมของรัฐสภาในวาระสำคัญรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐสภารอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 “ฉบับมาตุฆาต” วาระ 3 ไว้ก่อนเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555 ยังไม่จบ จะมีการประชุมต่อในวันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2555

ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้แจ้งให้ประธานรัฐสภารับทราบ

ไม่ได้สั่งประธานรัฐสภาหรือสั่งรัฐสภา

คำชี้แจงของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2555 หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ไม่ได้บอกเลยนะครับว่ารัฐสภาต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ดูเหมือนท่านจะบอกโดยนัยว่าไม่มีอำนาจออกคำสั่งรัฐสภาเลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อประโยชน์ในการทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งเป็นบทพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นบทให้ศาลรัฐธรรมนูญป้องกันการกระทำความผิดใหญ่หลวงมิให้เกิดขึ้น ท่านจึงเห็นควรรับคำร้องไว้ไต่สวน แค่ไต่สวน ยังไม่ได้วินิจฉัย โดยท่านกำหนดให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 และกำหนดออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนในวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2555 ซึ่งถ้าได้ข้อมูลครบถ้วน ก็เชื่อว่าคำวินิจฉัยจะออกมาภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น จากประสบการณ์ของผมที่เคยขึ้นศาลรัฐธรรมนูญมาก็เชื่อว่าจะประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากนั้น หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคม 2555

ถ้าจะมองอย่างไม่หาเรื่อง มองอย่างให้เห็นทางออก ก็ต้องมองอย่างนี้

ถ้ามองอย่างนี้ ประธานรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไรก็ตัดสินใจได้ไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องนัดประชุมให้สมาชิกฝ่ายเสียงข้างมากรุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญอย่างสาดเสียเทเสีย เพียงแต่ประธานรัฐสภาจะต้องคำนึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในอนาคตหากเดินหน้าให้รัฐสภาลงมติวาระ 3 โดยไม่รอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

นี่คือแก่นแกนหลักที่ผมอภิปรายในรัฐสภาเมื่อเกือบบ่ายโมงวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555

ผมบอกว่าถ้าประธานรัฐสภาจะรอการลงมติวาระ 3 ไว้ ก็ไม่ได้แปลว่าประธานรัฐสภาทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ท่านทำด้วยวิจารณญาณของท่านเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำของชาติของแผ่นดิน โดยประเด็นที่ท่านจะต้องใคร่ครวญอย่างหนักคืออะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังลงมติวาระ 3

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับมาตุฆาตขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วัน !

ความรับผิดชอบใหญ่หลวงจะตกอยู่แก่ท่าน ไม่อาจหนูไม่รู้หนูไม่ได้อ่านอีกต่อไป

จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคสุดท้ายประกอบมาตรา 150 บัญญัติไว้ แต่ครั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา แสดงว่าเรื่องยังอยู่ในความสงสัยยังไม่สมบูรณ์แบบ ตามปกติประเพณีปฏิบัติแล้วจะไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดนำเรื่องลักษณะนี้ขึ้นทูลเกล้า

เพราะจะเสมือนเป็นการผลักภาระไปให้องค์พระประมุข

ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรคท้ายประกอบมาตรา 151 องค์พระประมุขมิสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย ซึ่งถ้าเกิดขึ้น รัฐสภาจะต้องนำกลับมาปรึกษาว่าจะยืนยันด้วยมติ 2 ใน 3 หรือไม่

คนไทยต้องการให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นหรือ ??

เพราะเหตุการณ์จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น คนไทยส่วนน้อยในขบวนการที่ต้องการลดพระราชอำนาจต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแบบตะวันตกจะต้องนำไปขยายความโฆษณาไปทั่วในเชิงลบว่าความต้องการของประชามหาชนถูกขัดขวาง และเป้าหมายที่ถูกโฆษณาในเชิงลบจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการแน่นอน

แต่มีคนไทยเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้

คนหนึ่งคือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา และอีกคนคือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

หรือถ้าจะมีอีกคนก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


ประธานรัฐสภาเมื่อเล็งเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหากเดินหน้าลงมติวาระ 3 แล้ว ก็อย่าเพิ่งนัดลงมติ จะแถลงยืนยันอำนาจนิติบัญญัติที่ไม่อาจให้ใครสั่งได้ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ให้ขึงขังอย่างไรก็แถลงได้ แต่การยังไม่นัดลงมติวาระ 3 เพราะเล็งเห็นสถานการณ์ข้างหน้าที่ไม่พึงบังเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เพราะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

นายกรัฐมนตรีช่วยให้การตัดสินใจของประธานรัฐสภาง่ายขึ้นได้ ด้วยการเร่งเสนอคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเร็ววัน

ถ้าปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติภายในปลายสัปดาห์หน้าทุกอย่างก็จบ

เปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปวันที่ 1 สิงหาคม 2555 สถานการณ์ก็จะคลี่คลายไปในทุกทาง เพราะผมไม่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าใครทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้ง่าย ๆ เพราะเป็นฐานความผิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน

แต่ถ้ามองอย่างหาเรื่องอย่างที่เป็นอยู่ ก็คือการสร้างภาพว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังบำเพ็ญตนเป็นกบฏแผ่นดินโดยการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” หรือ “อำนาจตั้งแผ่นดิน” หรือภาษาวิชาการ(เป็นภาษาฝรั่งเศส)เรียกว่า “Pouvoir Constituant” ของรัฐสภา ยอมไม่ได้ ต้องมีมติปฏิเสธ เพราะนี่คือการรัฐประหารโดยอำนาจตุลาการ เป็นก้าวแรกของการยุบพรรคเพื่อไทยแล้วอุ้มพรรคประชาธิปัตยก์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ หรือ ฯลฯ

มองอย่างหาเรื่องจะส่งผลไปยังการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยส.ส.ร.ด้วย เพราะจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การล้มเลิกระบบศาลคู่ กลับไปใช้ระบบศาลเดี่ยว ล้มศาลรัฐธรรมนูญ ล้มศาลปกครอง

และถ้ามองอย่างหาเรื่องอย่างนี้ ผู้ถูกร้องว่าทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อาจจะเมินคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ไปชี้แจงภายใน 15 วัน

เดินหน้าสู่วิถีแตกหักสถานเดียว เพราะถือว่ามีมวลชนเรือนล้านอยู่ในมือ !

นาทีนี้ผมว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะยังมีความเห็นไม่ลงตัวกันนัก

เห็นที พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกำลังเจอทาง 2 แพร่งอีกแล้ว

ทางหนึ่ง ประนีประนอมกับกลุ่มทุนเก่าและชนชั้นนำเก่าต่อไป ค่อย ๆ ขึ้นบันไดทีละขั้นกินข้าวทีละคำ

ทางหนึ่ง เดินหน้าโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เพราะเชื่อตามกลุ่มแดงก้าวหน้าแดงฮารดคอร์ว่าเมื่อถึงจังหวะก็สามารถขึ้นลิฟต์และกินข้าวทั้งจานได้

ถ้าเลือกทางแรกก็ต้องสบับสนุนให้ประธานรัฐสภารอการพิจารณาลงมิรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อนเพื่อเซฟน้องสาวไม่ให้ต้องตกที่นั่งลำบากในการที่จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญบับมาตุฆาตขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ถ้าเลือกทางนี้ก็จะกลับสู่สถานการณ์กลุ่มแดงก้าวหน้าแดงฮาร์ดคอร์ไม่พอใจเหมือนช่วงปล่อยวาทะถีบหัวเรือ 19 พฤษาคม 2555 และก็มีความไม่แน่นอนเช่นกันว่าจะถูกกลุ่มทุนเก่าชนชั้นนำเก่าตีตลบหลังให้ต้องร้องเพลงไปโดนเขาหลอกอีกแล้วหรือไม่

แต่ถ้าเลือกทางหลังโดยการเร่งให้รัฐสภาเดินหน้านัดประชุมลงมติวาระ 3 ในเร็ววัน ก็จะมีผลเท่ากับเอาทั้งน้องสาวและบริษัทบริวารสายการมืองมาเดิมพันครั้งหญ่ให้อยู่ในความเสี่ยงกับความไม่แน่นอน

คำถามที่ 1 ถ้าผู้อ่านเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะเลือกทางไหน ??

คำถามที่ 2 ผู้อ่านอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเลือกทางไหน ???

กำลังโหลดความคิดเห็น