xs
xsm
sm
md
lg

แตกหัก ?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

    การเมืองไม่ว่าในสภาหรือนอกสภานั้น สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น

    คุณทักษิณ ชินวัตรดูเหมือนจะเริ่มรู้ตัวแล้วละว่าการเดินจูงมือขึ้นเขาไปกับชนชั้นนำเก่านั้นมันไม่มีอะไรแน่นอน มีโอกาสพลาดพลั้งตกลงมาคนเดียวได้ทุกเมื่อ ในการปราศรัยกับมวลชนคนเสื้อแดงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่ธันเดอร์โดมจึงพลิกพลิ้วเปลี่ยนโทนไปจากเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมมากพอสมควร เพราะกลัวมวลชนจะพายเรือกลับ เดี๋ยวตัวเองพลาดพลั้งตกลงมาแล้วจะไม่มีใครช่วย

    แต่คุณทักษิณก็ยังเชยเหมือนเดิม บอกว่าวันนี้ต้องร้องเพลง “รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก” ทั้ง ๆ ที่ในบริบททุกอย่างเพลงที่ควรจะต้องร้องคือ...

     “ไปโดนเขาหลอกอีกแล้ว...”

    เมื่อรู้ว่าถูกหลอก คุณทักษิณจะทำยังไง จะเลิกเกี้ยเซี้ย เลิกปรองดอง เดินหน้าใช้เสียงข้างมากที่มีอยู่ในสภาและนอกสภาเดินหน้าหักดิบทุกอย่างเลยหรือไม่ เป็นโจทย์ที่เราต้องมาวิเคราะห์กันเล็กน้อย

    ท่าทีน่ะเหมือนจะทำอย่างนั้น แต่ความจริงยังไม่แน่

    ความแหลมคมของสถานการณ์วันนี้อยู่ที่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2555 รับคำร้องของบุคคลและคณะบุคคล 5 คณะที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยคณะบุคคลที่ไม่ใช่รัฐสภานั้นเป็นวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ขัดกับมาตรา 291 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 68 นอกจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2555 โดยให้เจ้าหน้าที่ของศาลเดินทางมายื่นหนังสือคำสั่งต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในช่วงบ่ายวันนั้น

    มติของศาลรัฐธรรมนูญในการนี้ 7 : 1

    มาตรา 68 ไม่ใช่แค่ว่าทำผิดแล้วทำต่อไม่ได้ แต่ยังมีโทษทางอาญา และโทษทางการเมืองในระดับยุบพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมอย่างนั้น

    มาตรา 68 จะเป็นประเด็นศูนย์กลางของสถานการณ์ไปอีกนาน จึงขออนุญาตนำบทบัญญัติทั้งมาตรามาลงไว้ ณ ที่นี้ พี่น้องตัดแปะไว้ข้างฝาได้เลย

มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสองศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว


มีประเด็นใหญ่มาก ๆ ที่จะต้องถกเถียงกันในมาตรานี้อย่างน้อย 2 ประเด็น

    1. การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการ “ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” หรือเป็นการ “ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ” กันแน่ ?

    2. การยื่นคำร้องให้เลิกการกระทำดังกล่าวจะต้องยื่นให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น เมื่ออัยการสูงสุดเห็นว่ามีมูลจึงให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือว่าสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงควบคู่กันไปได้เลย


     นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ประเด็นที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับมาตรา 68

    3. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งรัฐสภาได้หรือไม่ ?

    ซึ่งอาจจะแตกเป็นอีก 1 ประเด็นย่อยได้อีกคือ แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้าจะบัญญัติให้ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ถือเป็นเด็ดขาดและผูกพันทุกองค์กรก็จริง แต่ “คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อบ่ายวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ที่ส่งมาถึงรัฐสภานั้นถือเป็น “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ด้วยหรือไม่

    ทั้ง 3 ประเด็นหากจะจัดลำดับความสำคัญก็ต้องไล่ขึ้นไป 3, 2, 1 ครับพี่น้อง

    อันที่จริงยังมีประเด็นอื่นอีกมาก ที่ปรากฏจากการแถลงของเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในวันนั้น แต่ในเมื่อยังไม่เป็นทั้งคำสั่งและคำวินิจฉัยก็จะยังขอไม่พูดถึง เพราะแค่ 3 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ 3 ก็นับว่าต้องอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหลากหลายมิติแล้ว

    มาตรา 68 อยู่ในหมวด 3 “สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย” ส่วนที่ 13 “สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่เพิ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับหลังสุดก่อนหน้านี้ คือรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราเดียวคือวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2539 ที่เรียกว่าการแก้ไขมาตรา 211 ที่ให้กำเนิดสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นจึงยังไม่มีใครโต้แย้งประเด็นนี้ เพราะในขณะนั้นรัฐธรรมนูญ 2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในมีบทบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 68 ปัจจุบัน

    การตัดสินใจของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์เมื่อดึกคืนวันที่ 1 มิถุนายน 2555 สั่งงดการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ไม่ทราบว่าได้ปรึกษาคุณทักษิณแล้วหรือไม่ ?

    การตัดสินใจงดการประชุมรัฐสภาถือว่าสำคัญมาก

    เพราะเท่ากับประธานรัฐสภายอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ !

     ทั้ง ๆ ที่ไม่ยอมรับก็ได้ เดินหน้าประชุมต่อตามกำหนดนัดก็ทำได้ เพราะปมประเด็นที่ 3 นี้ชัดเจนว่าไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเองในการแถลงข่าวเมื่อบ่ายวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ยังบอกเลยว่ารัฐสภาจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เพราะถ้าไม่ทำตามก็ไม่มีบทบัญญัติใดลงโทษได้

    คุณทักษิณมาดุ ปราศรัยว่านี่เป็นการปล้นอำนาจประชาชน แกนนำนปช.คนอื่นก็ดุ บอกอำมาตย์สั่งอีกแล้ว

    ทำไมขุนค้อนไม่เดินหน้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ตามกำหนดเดิมเลยล่ะ ?

    ฐานทางวิชาการรองรับก็พอมี ทั้งนิติราษฎร์ ทั้งเกษียรฯ ทั้งนิธิฯ ทั้งนักวิชาการอิสระอีกมากหลาย ฐานทางมวลชนก็มีแดงทั้งแผ่นดินรองรับ กลัวอะไรหรือถึงงดประชุมหลังศาลมีคำสั่ง

    โอกาสแตกหักอย่างนี้ไม่มีมาบ่อย ๆ นะครับ

    หรือว่า(ยัง)ไม่อยากเสี่ยง

    เพราะถึงแม้จะเพลี่ยงพล้ำไปบ้างแต่ก็ยังเป็นรัฐบาลอยู่ ยังได้ใช้งบประมาณอยู่ ยังจะได้ลงทุนเมกะโปรเจ็คครั้งมหาศาลของประเทศอยู่ ถึงมีเลือกตั้งใหม่ก็ยังชนะประชาธิปัตย์อยู่ ทักษิณยังไม่ได้กลับยังไม่ได้เงินคืนก็ไม่เป็นไร บริษัทบริวารก็ยังคุมอำนาจบริหารอำนาจนิติบัญญัติของประเทศไปเรื่อย ๆ

    สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เห็น !
กำลังโหลดความคิดเห็น