xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเพ้อเจ้อของนิติราษฎร์

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

น่าประหลาดใจว่า รัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะฉีกทิ้งแบบหามรุ่งหามค่ำอยู่นี้ ไม่มีเสียงที่ติฉินออกมาจากบรรดานักกฎหมายและนักนิติศาสตร์เลยว่า กระบวนการที่กระทำอยู่นั้นมันชอบธรรมถูกต้องหรือไม่ หรือว่า มันตัดสินกันเพียงแค่ว่า เพราะเป็นเสียงข้างมาก ดังนั้นจึงสามารถกระทำอะไรก็ได้

อาการลุกลี้ลุกลนเร่งรีบที่จะดึงดันฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่นี้มันไม่ส่ออากัปกิริยาที่ไม่สุจริตออกมาให้บรรดาผู้รักความเป็นธรรม ผู้ชอบแอบอ้างว่ารักความเป็นธรรม ผู้ไม่ชอบความอยุติธรรมได้เดือดเนื้อร้อนใจเลยหรือ

จริงอยู่ถ้าหากใครก็ตามที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลไม้พิษของต้นไม้พิษ แต่เราก็ยินยอมให้ใช้วิธีการที่สกปรกที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมทำลายมันทิ้งลงไปได้ใช่หรือไม่ ถ้างั้นขึ้นชื่อว่าโจรแล้วเราก็ไม่ต้องคำนึงวิธีการสำเร็จโทษโจรตามครรลองเช่นนั้นหรือ

ข้างบนนี้ผมตั้งคำถามสำหรับคนที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะครับ แต่ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่คนส่วนใหญ่ยอมรับครับ ผมพูดแบบนี้ได้เต็มปาก ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมากไงครับ

ผมถามว่า ถ้าคนถือปืนมาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไม่ได้ ทำไมคนที่เข้ามาในสภาด้วยอำนาจเงินและการหาเสียงแบบหลอกลวงประชาชนจึงสามารถฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญได้ด้วยเล่า

แล้วแนวโน้มของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันส่อให้เห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า มีกรรมวิธียิ่งกว่าเผด็จการ ไม่ต้องพูดว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะร่างให้มีที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนนั้นแน่นอนอยู่แล้วว่า ต้องมาจากร่มธงของนักการเมืองที่มีอิทธิพลในจังหวัดนั้นๆ สมาชิกอีก 22 คน ยิ่งแล้วไปใหญ่เพราะแม้จะเปิดให้สถาบันอุดมศึกษา องค์กรทางสังคม และองค์กรเอกชนส่งรายชื่อเข้ามา และให้ตัวแทน 15 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานรัฐสภาทำการกลั่นกรองมาให้สมาชิกรัฐสภาเลือกให้เหลือ 22 คน ก็หนีไม่พ้นการล็อกสเปกจากฟากรัฐบาลที่เป็นเสียงส่วนใหญ่

มันมีแนวโน้มชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายเสื้อแดง นักวิชาการเสื้อแดงกล่าวหาว่า เขียนขึ้นมาเพื่อจัดการกับทักษิณคนเดียว (ซึ่งผมอ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วไม่รู้ว่ามาตราไหนที่ถูกกล่าวหาอย่างนั้น) เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญที่ทักษิณได้ประโยชน์คนเดียว

ผมขอเดาเล่นเอาไว้ตรงนี้เลยว่า ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะมี อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน และมีอาจารย์จากคณะนิติราษฎร์เป็นหางเครื่อง แค่ได้ยินชื่ออุกฤษก็ลมมันเย็นแล้วครับ พอมีนิติราษฎร์มาอีกนี่ขนหัวลุกเลย เพราะผมกลัวว่าอุกฤษกับวรเจตน์จะคลุกวงในกันนัวเนียเนี่ยซิครับ

นิติราษฎร์ที่เงียบไปนาน เพราะมุกแป็กจากมาตรา 112 ที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่เอาด้วย และล้มเหลวกับข้อเสนอล้างผลพวงรัฐประหารเฉพาะกรณี 19 กันยา เพราะตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าทำไมแค่ 19 กันยา นอกจากพูดแบบกลบเกลื่อนว่า เพราะการรัฐประหารครั้งนี้นั้นใกล้เราที่สุด

วันนี้นิติราษฎร์ออกมาอีกแล้วครับ ออกมาแถลง “จุดยืนของคณะนิติราษฎร์” (ซึ่งอ่านไปอ่านมาเป็นการยืนกระต่ายขาเดียว) ว่า จะผลักดันแก้ไขมาตรา 112 ต่อไป อันนี้ผมว่าช่างนิติราษฎร์เถอะครับ เพราะสังคมส่วนใหญ่เขาไม่เห็นด้วย ทุรังไปซักพักนิติราษฎร์ก็ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพมติของสังคมถ้าคิดว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตยอย่างที่อ้าง แต่ถ้าวันหนึ่งสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย สำหรับผมแล้วคิดว่าเราต้องเคารพมติของสังคมครับ

ส่วนข้อเสนอที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปรองดองนิรโทษกรรมนั้น ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผมเห็นด้วยนะครับที่จะนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ถูกหลอกด้วยวาทกรรมไพร่อำมาตย์ แต่คนที่ติดอาวุธและเผาบ้านเผาเมืองนั้นผมไม่เห็นด้วยแน่

แต่ข้อเสนอของนิติราษฎร์นอกเหนือจากคนธรรมดาฟังแล้วตลกดีครับ นิติราษฎร์บอกว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติการและผู้สั่งการ แต่เขียนไว้แนบเนียนว่า ให้ยกเลิกความผิดแกนนำเสื้อแดงที่บงการ คนที่เอาอาวุธมายิงต่อสู้ คนที่เผาบ้านเผาเมืองว่า ให้ศาลและองค์กรยุติธรรมที่กำลังดำเนินคดีอยู่ยุติทั้งหมดและนำเข้าสู่บทบัญญัติที่นิติราษฎร์เสนอให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง และให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นผู้พิจารณา

ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้เขียนไว้อย่างนี้ตรงๆ ครับ แต่นิติราษฎร์เขียนไว้ว่า ความผิดของบุคคลแม้ไม่ได้ร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาให้นำเข้าสู่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง

ผมมองเห็นเงื่อนไขนี้นอกจากจะหมายรวมถึงแกนนำแดงที่สั่งเผาบ้านเผาเมืองและติดอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐแล้ว ยังสื่อไปถึงคนเดียวครับที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ไม่ได้ร่วมเดินขบวนคนนั้นคือ ทักษิณ ชินวัตร ครับ

อันนี้ผมว่าตลกนะครับ นิติราษฎร์พยายามโต้แย้งไม่ยอมรับ คตส.ที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะรัฐประหารว่าทำหน้าที่วินิจฉัยแทนกระบวนการยุติธรรมปกติ แล้วทำไมไม่ปล่อยให้กรณีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรมปกติละครับ ทำไมไปตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งดังกล่าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาล และกระบวนการยุติธรรมปกติเล่า อย่างนี้มันไม่ขัดกับหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างที่กล่าวอ้างกับ คตส.หรอกหรือ

นิติราษฎร์ยังประกาศด้วยว่า ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติไว้หมวดหนึ่งว่าด้วยว่าการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร คือ ให้ประกาศการนิรโทษกรรมการกระทำรัฐประหารเป็นโมฆะ และนำเอาผู้กระทำการ ผู้ใช้ ตลอดจนผู้สนับสนุนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฟังแล้วผมก็เคลิ้มๆ เกือบจะเห็นด้วยครับ จะได้เอาบิ๊กบัง สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าคุกเสียเป็นคนแรก แต่พอตั้งสติแล้วก็อุทานว่าตายห่านิติราษฎร์จะให้เอาผิดถึงคนที่เอาดอกกุหลาบไปให้ทหารในฐานะผู้สนับสนุนด้วยซิครับ มันก็เลยฮาไม่ออกน่ะครับ

ไอ้ที่เผาบ้านเผาเมืองให้เลิกดำเนินคดีแล้วส่งให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งดำเนินการ แต่ไอ้พวกที่ไปมอบดอกไม้ให้ทหารนี่ต้องเอาผิดให้ได้ ผมยืนยันนะครับว่าไม่ได้ตีความแถลงการณ์ของนิติราษฎร์เกินเลยไป

แต่คำถามที่ผมต้องถามก็คือ เราออกกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมาย แล้วเขียนกฎหมายใหม่แล้วย้อนไปเอาผิดได้หรือ

ที่สำคัญแล้วใครล่ะครับเป็นคนออกกฎหมาย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังออกแบบกันอยู่นี้หรือ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากไหนก็มาจากรัฐสภาชุดนี้ สมาชิกรัฐสภาชุดนี้มาจากรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วถ้าล้มล้างผลพวงรัฐประหารได้จริง สมาชิกรัฐสภาชุดนี้ย่อมจะต้องถูกล้มล้างไปในฐานะผลพวงของรัฐประหารด้วยไม่ใช่หรือ

ผมแนะนำนิติราษฎร์ว่าช่วงนี้เป็นหน้าว่าวครับ ถ้าเพ้อเจ้อมาก ข้ามฝั่งธรรมศาสตร์มาสนามหลวงอาจได้อรรถรสมากกว่านะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น