xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษฯ 6 มาตรา-ชำเรา รธน. รอจังหวะ “ทักษิณ” ทำคลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

มัวแต่สนใจแต่เรื่องร้อนข้างนอกรัฐสภากับเรื่องแก้ไขมาตรา 112 และกลุ่มนิติราษฎร์ แม้ด้านหนึ่งเป็นเรื่องดีกับการจับจ้อง ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ขบวนการจดจ้องล้มล้างสถาบันและท้ายทายพระราชอำนาจ คิดการใหญ่

แต่ก็ต้องระวังคอยตรวจสอบการเมืองในรัฐสภาอย่าให้เผลอ เพราะอาจเป็นแผนเล่นหลายขาของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่จะทำให้สังคมจับทางผิด

คอยดูแต่เรื่อง 112 กับนิติราษฎร์ จนลืมการขับเคลื่อนเรื่องในสภาฯ ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร จะกลายเป็นไฟไหม้บ้านไม่รู้ตัว

การเคลื่อนไหวเรื่องในสภาฯของเพื่อไทยที่ดูแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับทักษิณ-เพื่อไทยมากกว่าเมื่อเทียบกับประเด็นมาตรา 112 เพราะอย่างไรเสีย การเคลื่อนเรื่อง 112 โอกาสจะเกิดขึ้นจริงทำได้ยากอยู่แล้ว เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองไหน-ส.ส.-ส.ว.คนไหนกล้าเสนอแก้ไขให้เรื่องถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ และคงไม่มีคนไหนกล้าลงมติเอาด้วย

แก้ 112 จึงยังเป็นแค่ข้อถกเถียงกันในสังคมและการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเท่านั้น โอกาสเกิดขึ้นจริงเป็นไปได้ยาก

เวลานี้เริ่มเห็นการขยับของรัฐบาลและทักษิณกันแล้ว ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแต่แปลงชื่อเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อหวังหลบกระแสต่อต้านว่าออกกฎหมายเพื่อช่วยทักษิณ ชินวัตร

อย่างกฎหมายนิรโทษกรรม “เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี แกนนำรัฐบาลด้านงานสภาฯและกฎหมายบอกย้ำทุกวันว่า ยกร่างเสร็จแล้ว มีแค่ 6 มาตรา ทุกมาตรา เขียนเองกับมือ ไม่มีใครได้เห็น เพราะเก็บไว้ที่บ้านบางบอน รอแค่โอกาสนำเสนอเข้าสภาฯ หรือ ครม.

ประเมินจากคำให้สัมภาษณ์และข่าวคราวที่ปรากฏออกมาเชื่อได้ว่า กฎหมายปรองดองนิรโทษกรรม 6 มาตราดังกล่าว ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย

คาดว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายโดยมีหลักการและเหตุผลที่เฉลิมจะอ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองไปสู่ความปรองดองเหมือนก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ความขัดแย้งการเมืองยังไม่รุนแรงเหมือนเช่นตอนนี้

หากเป็นไปตามนี้ก็คือ กฎหมายนี้อาจจะเสนอให้ล้มล้างความผิดคดีการเมืองทุกอย่างตั้งแต่ 19 กันยายนเป็นต้นไปคือให้ทุกอย่างเป็นโมฆะ “เป็นศูนย์” เสมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน ล้มล้างคดีความการเมืองทั้งหมด ทุกอย่างโดยเฉพาะคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองและคดีที่เกิดจากการตรวจสอบสอบสวนของคตส.

ซึ่งก็หมายถึงว่าจะล้มล้างคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลสั่งจำคุกทักษิณ ชินวัตร 2 ปีและคดียึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท แม้ศาลฎีกาจะตัดสินแล้วแต่ก็จะเขียนกฎหมายออกมาให้รัดกุมครอบคลุมถึง เพื่อเป็นการเอาใจ “ทักษิณ ชินวัตร”

แบบนี้เชื่อว่า เฉลิมและส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่เอาด้วยแน่นอน เพราะได้ผลเป็นรูปธรรมมากกว่าจะมาเอาด้วยกับนิติราษฎร์ในเรื่อง 112 ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับรัฐบาลเพื่อไทย เพราะขืนไปเอาด้วยมีแต่จะทำให้พังเร็วขึ้น ทั้งที่หลักการออกกฎหมายปรองดองดังกล่าว จะว่าไป ก็เป็นหลักการเดียวกับนิติราษฎร์ที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ ว่าให้ออกกฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลลบล้างสิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารทั้งหมดนั่นเอง

จึงแสดงให้เห็นอีกว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแม้จะบอกว่าไม่เอาด้วยกับแนวทางนิติราษฎร์ แต่หากข้อเสนอด้านที่ตัวเองได้ประโยชน์และเห็นสอดคล้องกัน ก็จะยกมาเป็นข้ออ้างว่าเห็นไหมแนวทางนี้นักวิชาการด้านกฎหมายก็เห็นด้วย

เข้าทำนอง อะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์ ทักษิณ-รัฐบาล-พรรคเพื่อไทยก็เอาด้วยทั้งสิ้น

ดังนั้น คนไทยอย่าเผลอ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะฉวยโอกาสเล่นผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อใด แม้เฉลิมจะบอกว่ายังไม่เสนอตอนนี้ รอจังหวะที่เหมาะสมก่อนก็ตาม

ขณะที่อีกมุมหนึ่งก็วิเคราะห์ได้ว่า เฉลิมก็ต้องการสร้างราคาให้ตัวเองเพื่อบอกกับทักษิณว่า ไม่ได้ลืมนะที่เคยบอกไว้ว่า “จะพาทักษิณกลับบ้าน” แต่ตอนนี้กำลังหาจังหวะเหมาะอยู่เลยต้องพยายามย้ำเรื่องกม.ปรองดองตลอด ทักษิณจะได้พอใจ

อีกเรื่องที่ต้องติดตาม คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพื่อไทย เพราะดูแล้วคงเอาแน่นอน รอช้าไม่ไหว เพราะทักษิณก็เร่งมาว่าควรตั้งแท่นเอาไว้ก่อน และให้เดินไปหลายทาง ทั้งออกกฎหมายนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญ เผื่อช่องทางไหนสำเร็จก่อนก็เอาทางนั้น

โดยเพื่อไทยก็กางปฏิทินกันแล้วว่า ต้องการทำให้เสร็จภายในสมัยประชุมสภาฯสมัยนี้ เพียงแต่รูปแบบจะเอาอย่างไรเท่านั้นเอง เพราะขณะนี้ช่องทางก็นำร่องไปก่อนแล้วหนึ่งช่องทาง คือกรณีที่มีการนำรายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อที่ร่วมลงชื่อเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี “สงวน พงษ์มณี” ส.ส.ลำพูน เพื่อไทย เป็นตัวหลักก็ส่งไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

กระนั้นก็พบว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะให้คณะรัฐมนตรีหรือจะให้พรรคเป็นเจ้าภาพในการออกหน้ายื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพียงแต่เห็นชอบในหลักการว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การประชุมวิปรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.นี้ ฝ่ายวิปรัฐบาลบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะหารือกันประเด็นหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 หากได้ข้อสรุปตรงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯ ได้เลยในช่วงระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. หรืออาจเป็นสัปดาห์ถัดๆไป

แต่หากยังตกลงกันไม่ได้ก็คงให้แต่ละพรรคไปคุยกันให้เรียบร้อยก่อน แต่ข้อสรุปที่เคาะออกมาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ก็คือ เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน และต้องทำภายในการประชุมสภาฯ สมัยนี้ ส่วนเงื่อนเวลาเชื่อว่าระดับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคงขอประเมินทิศทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาก่อน เพื่อให้การแก้ไขทำได้สะดวกโยธิน

เบื้องต้นวิปรัฐบาลจากเพื่อไทย บอกว่า เนื้อหาในการแก้ไขนั้นจะให้มี ส.ส.ร.จำนวน 99 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ที่เหลืออีก 22 คนจะให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกจากบุคคลที่สถาบันการศึกษาได้คัดเลือกกั้นมาแล้วจากสาขาที่กำหนดไว้ ขณะที่เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปล่อยให้ ส.ส.ร.ว่ากันไป

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวออกมาว่า มีการประชุมคณะทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรครวมถึงฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา

ที่ประชุมเห็นด้วยกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะประเมินว่าสถานการณ์ปลอดโปร่ง แรงต้านมีไม่มาก และเชื่อว่าจะอธิบายให้คนเข้าใจได้ว่าเรื่องแก้ไข รธน.กับมาตรา 112 มันคนละเรื่องกัน

อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพื่อไทยชูมาตลอดช่วงหาเสียงจนพรรคชนะการเลือกตั้ง และยังบรรจุไว้เป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจะทำภายในหนึ่งปี การไม่แก้รัฐธรรมนูญรัฐบาลจะไม่ทำไม่ได้

คล้อยหลังการประชุมดังกล่าวไม่กี่ชั่วโมง มีคนเห็นพิมพ์เขียวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะแก้ไขมาตรา 291 คร่าวๆแล้ว หนังสือดังกล่าวระบุไว้ว่า หลักการและเหตุผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเขียนไว้คร่าวๆ

ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติหลายประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่มีความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการได้มาซึ่งองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรอิสระ ขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตย

อีกทั้ง รธน.ปี 50 ไม่มีระบบถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ ผนวกกับเปิดช่องให้มีการเลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน เพราะรธน.ปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหาร จึงต้องจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย มีกระบวนการจัดทำที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและให้ความเห็นชอบ

ที่น่าสนใจก็คือ กรอบเรื่องที่มาของ ส.ส.ร. ในส่วนของ ส.ส.ร.จังหวัดละคนที่มาจากการเลือกตั้งรวม 77 คน นั้น ไม่ค่อยมีอะไรมาก แต่ในส่วนของ ส.ส.ร.ที่มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมรัฐสภา 22 คน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเช่นสาขารัฐศาสตร์

ตัวพิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 ของเพื่อไทย จะเขียนล็อคสเปคเอาไว้ว่าให้สภาของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็น ส.ส.ร.ประเภทละไม่เกิน 3 คน ส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันรับสมัคร โดยยังมอบอำนาจให้ประธานสภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดหนึ่ง ที่มีทั้ง ส.ส.-สว.ทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ส.ร. จากนั้นเมื่อ กมธ.ส่งรายงานไปให้แล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน เพื่อคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นส.ส.ร.

ดูแล้วช่องทางการให้รัฐสภาเลือก ส.ส.ร.22 คน ดังกล่าวเห็นได้เลยว่าเปิดช่องให้มีการบล็อกโหวตใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเลือกคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็น ส.ส.ร.ผู้ทรงคุณวุฒิได้ถึง 22 คน เลยทีเดียว ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกุมความได้เปรียบในส่วนนี้

นี่คือร่างพิมพ์เขียวแก้ไขมาตรา 291 ของเพื่อไทยแบบคร่าวๆ ที่ตอนนี้จัดทำพิมพ์เสร็จ รอชงทั้งที่ประชุมวิปรัฐบาล-ที่ประชุมส.ส.เพื่อไทยในสัปดาห์นี้ไว้แล้ว

เหลือแค่รอไฟเขียวจากทักษิณและแกนนำเพื่อไทยว่าจะเอาวันไหน เดือนไหน เท่านั้นเอง
เฉลิม อยู่บำรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น