xs
xsm
sm
md
lg

ส่อแท้งรัฐธรรมนูญเถื่อน “นิติราษฏร์”กลับมาป่วน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

น.ส. รสนา โตสิตระกูล โชว์คลิการกดบัตรแทนกัน
ไม่รู้จะกลายเป็นการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ใช้เวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือไม่

เพราะตั้งแต่วันแรกที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน.วาระสอง จนถึงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 ที่เป็นวันประชุมนัดสุดท้ายประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็กินเวลารวมไปแล้ว 8 วัน และจะต่อกันอีกในสัปดาห์หน้าตั้งแต่ 30 เมษายน 2555

ยืดเยื้อกินเวลาขนาดนี้ และยังไม่มีใครกำหนดได้ว่าจะใช้เวลากันอีกกี่วัน จะสิ้นสุดวันไหน

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”สรุปสาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ มาตรา 291/5 ที่รัฐสภาเห็นชอบ ให้กระบวนการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)จังหวัด ๆ ละ 1 รวม 77 คน โดยให้นำพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.มาบังคับใช้

อันเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หลังจากเดิมร่างของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ให้ใช้พรบ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยมีสาระสำคัญคือให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณารับรองการเลือกส.ส.ร.ภายใน 15 วัน แต่หากมีการร้องคัดค้าน อะไรต่างๆ ก็ให้ส่งต่อให้ศาลอุทธรณ์

แต่ปรากกฏว่า ร่างดังกล่าวที่กมธ.เสียงข้างมากจากพรรคเพื่อไทยและสว. ผลักดันเอาไว้ ไม่ผ่าน เพราะโดนแรงต้านอย่างหนัก ในการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา เพราะเงื่อนเวลาที่ให้กับกกต.และศาลอุทธรณ์ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้

จะเป็นการโยนภาระทั้งหมดให้กกต.และศาล เพราะมีความรีบเร่งจะแก้ไขรธน.ให้ได้ สุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

ทำให้กมธ.เสียงข้างมากและรัฐบาลเพื่อไทย จำต้องถอยรูด ด้วยการเปิดโต๊ะเจรจา ตัวแทน 4 ฝายคือคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ)- คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) -วิปฝ่ายค้านวิปฝ่ายค้านและกมธ.พิจารณาร่างแก้ไข รธน. เพื่อหาทางออกของข้อกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะดูแล้ว ยากจะฝ่าแรงท้วงติงไปได้เพราะคำอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้านและสว.มีน้ำหนักอย่างมากในการทำให้สังคมเห็นว่า การนำพรบ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้ในการเลือกตั้งส.ส.ร.มีข้อบกพร่องอย่างไร

จนสุดท้ายกมธ.แก้ไขรธน.เสียงข้างมากและวิปรัฐบาล เลยยอมปรับหันหลังกลับ ด้วยการเห็นควรกับข้อเสนอของกมธ.เสียงข้างน้อย ที่ให้ใช้พรบ.เลือกตั้งและการได้มาซึ่งสว. มาบังคับใช้โดยอนุโลม
เพราะการเลือกตั้งสว.ก็ใช้ระบบจังหวัดคือ จังหวัดละ 1 คน เลือกสว.ได้ 1 คน ก็ตรงกับเจตนารมณ์ของกมธ.เสียงข้างมากคือให้สมาชิกสภาร่างรธน.มีจังหวัดละ 1 คน มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่เรื่องการรับรองผลการเลือกตั้ง ก็ระบุว่าหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้วเสร็จ หากมีการร้องเรียน สามารถร้องมายัง กกต. ได้ภายใน 15 วัน โดยให้ระยะเวลา 30 วันแก่ กกต.ในการพิจารณาคำร้อง เพื่อส่งสำนวนต่อไปยังศาลฎีกา ไม่ใช่ศาลอุทธรณ์ตามร่างเดิม เป็นผู้ออกใบเหลืองและใบแดง โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา แต่ต้องกระทำโดยเร็วที่สุด

กระนั้นก็ให้ตัดบางส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป อาทิ การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การตัดสิทธิ์เลือกตั้งการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด

ก็ถือว่า หลักการสำคัญของการได้มาซึ่งส.ส.ร.77 คนที่มาจากการเลือกตั้ง ตามร่างใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากร่างเดิมของกมธ.เสียงข้างมากดูแล้วย่อมดีกว่า ร่างเดิมแน่นอน

โดยเฉพาะการให้อำนาจกกต.ที่ดีกว่าร่างเดิมที่ใช้พรบ.การเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ร่างแก้ไขใหม่จะทำให้กกต.มีอำนาจมากขึ้นในการจัดการเลือกตั้งส.ส.ร.ทั่วประเทศให้ออกมาบริสุทธิ์ยุติธรรมมากที่สุด จึงเป็นที่มาของมติเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบด้วยกับหลักการนี้ท่วมท้น 397 ต่อ 20 เสียง

กระนั้นก็มีข้อเป็นห่วงตามมาเป็นธรรมดา ที่ทุกอย่างต้องมีจุดอ่อนเป็นเรื่องปกติไม่มีอะไรสมบูรณ์หรือถูกใจทุกคนร้อยเปอร์เซนต์ เช่น ที่ผ่านมาแม้จะเคยมีส.ส.ร.มาแล้ว 2 ครั้งคือส.ส.ร.ปี 40 และ ส.ส.ร.ปี 50 แต่ทั้งสองครั้งก็เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม

เช่นส.ส.ร.ปี 40 ก็ให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง แล้วส่งรายชื่อในแต่ละจังหวัดไปให้สมาชิกรัฐสภาโหวตเลือก เหมือนเช่นกรณีจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทักษิณ ชินวัตร ก็ติด 1 ใน 10 ผู้ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครส.ส.ร.เชียงใหม่ แต่ก็มาหลุดไปในชั้นเลือกจากรัฐสภาโดยคนที่ได้ไปคือพล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจที่ได้เป็นส.ส.ร.เชียงใหม่ นั่นเอง

หลายคนจึงเป็นห่วงไม่ได้ว่า กกต.และศาล รวมถึงหน่วยงานสนับสนุน มีความพร้อมมากแค่ไหนต่อการเลือกส.ส.ร. อาทิ การรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกส.ส.ร.จะทำให้คนเข้าใจและเห็นความสำคัญในการเลือกส.ส.ร.ได้อย่างไร ก็ขนาดการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ปทุมธานี เขต 5 ปทุมธานี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีคนมาใช้สิทธิ์กันแค่ 30 กว่าเปอร์เซนต์เท่านั้น แล้วส.ส.ร.ยิ่งห่างประชาชนมากกว่าส.สงหลายเท่า แล้วคนจะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันหรือไม่

อีกทั้งยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องที่ว่าแม้ส.ส.ร.จะเป็นงานเฉพาะกิจ มีเวลาการทำงานที่สั้น แต่หลายคนที่ลงสมัครเป็นส.ส.ร. ก็ต้องการได้ชื่อว่าเป็น 99 อรหันต์ ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศ ดังนั้นหากผลการเลือกตั้งออกมาแล้วไม่เป็นที่พอใจ ก็เชื่อว่าจะมีการร้องคัดค้านจำนวนมากตามมาทั้งในชั้นกกต.และศาลฎีกา แล้วกกต.กับศาลพร้อมหรือยังกับภารกิจนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงตอนนั้น เวลานี้หลายคนก็ยังเดาอนาคตของรธน.ฉบับใหม่กันไม่ออกว่าจะคลอดออกมาได้เมื่อใด และรูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร ?

เพราะลำพังตอนนี้ก็เห็นว่า อาจมีปัญหาทำให้ แท้งก่อนคลอดก็ได้ กับเรื่องคลิป-ภาพลับในห้องประชุมรัฐสภา ที่มีการแสดงให้เห็นภาพ สมาชิกรัฐสภา ในส่วนของส.ส.บางพรรคการเมือง มีพฤติการณ์ถูกกล่าวหาว่า

“กดบัตรแทนกัน”

ในการลงมติระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรธน. ซึ่งหากมีการสอบสวนและพิสูจน์ได้ว่า มีการกดบัตรแทนกันจริง เท่ากับว่า การทำคลอดรธน.ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ ทำคลอด ส.ส.ร. และร่างแก้ไขรธน. มันมิชอบด้วยกระบวนการ เพราะสมาชิกรัฐสภา เล่นกดบัตรแทนกัน เท่ากับว่า มติในห้องประชุมไม่ว่าจะเป็นการลงมติหรือการนับองค์ประชุม ก็เป็น

“การลงมติเถื่อน”

แล้ว รธน.ที่จะคลอด จะเป็นรธน.เถื่อนหรือไม่ ตรงนี้น่าติดตามยิ่ง
 

หากว่ามีการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมีการยื่นศาลรธน.ให้วินิจฉัยเรื่องนี้ ก็มีโอกาสไม่น้อย หากพบว่าการลงมติระหว่างการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรธน.มาตรา 291 เป็นการกดบัตรแทนกัน ก็อาจทำให้การแก้ไขรธน.ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แท้งก่อนคลอด สูงยิ่ง
 
และอีกหนึ่งเรื่องที่เข้ามาพร้อมๆ กัน กับเรื่องการแก้ไขรธน.จนไม่รู้ว่า มีวัตถุประสงค์อะไร หรือหวังแย่งชิงพื้นที่ข่าว กลบข่าวเรื่อง ส.ส.กดบัตรแทนกัน แต่ดูเหมือนสังคมไม่ให้ราคาอีกแล้ว กับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “นิติราษฎร์”ที่เงียบหายไปนานนับเดือน

แล้วจู่ๆ วันที่ 25 เมษายน 2555 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ออกประกาศเรื่อง “จุดยืนคณะนิติราษฎร์”โดยเนื้อหาหลักคือการย้ำจุดยืนในเรื่องการไม่หยุดยั้งการเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ที่นิติราษฎร์สนับสนุนเรื่องการเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ต่อไปแต่ก็ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อแนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่าย

ซึ่ง นิติราษฎร์เสนอไว้ว่า ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมาแต่ควรนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงที่ได้รับการประกาศใช้ในเหตุการณ์การเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ

ขณะที่ในเรื่องรัฐธรรมนูญ นิติราษฎร์บอกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญฯโดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งเป็นอีกหมวดหนึ่ง โดยให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมา และต้องมีเรื่องการเยียวยาความเสียหายต่างๆด้วย โดยชี้ว่า การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสามารถกระทำได้ทันทีพร้อมกับเสนอว่าเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้น ควรให้มีบทบัญญัติเป็นหมวดอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะได้จัดทำขึ้นใหม่

เป็นอีกครั้งที่นิติราษฎร์ย้ำว่า สำหรับบรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็ให้ลบล้างให้สิ้นผลไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรม แต่ให้เริ่มกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรมต่อไป

เป็นการกลับมาของ นิติราษฎร์ ที่แม้ไม่มีอะไรใหม่แต่ก็สอดรับกับความต้องการของเพื่อไทยอยู่แล้วในเรื่องการแก้ไขรธน.และการให้ล้มคดีความคตส. ส่วนที่ไม่ตรงกันก็คือเรื่องมาตรา 112

แต่นิติราษฎร์ก็ออกมาในช่วงจังหวะพอดิบพอดี ที่การตั้งไข่รธน.กำลังจะเริ่มต้นขึ้นจากวาระ 2 สู่วาระ 3 ในอนาคต

ไม่รู้ว่า ฝันของนิติราษฎร์จะกลายเป็นฝันค้าง หรือมีคนรับลูกไปขยายความหรือไม่
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แถลงข่าวกับคณะนิติราษฎร์
กำลังโหลดความคิดเห็น