ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-อั่ยย่ะ !! แค่วันแรกที่นำ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสภาฯ บรรดาสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติก็ 'ปรองดอง' ? กันเละ! ไปทั้งสภาแล้ว
ทั้งนี้ ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ทันทีที่ 'นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์' ประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มเดินเกมดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย ร่างที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวพรรคมาตุภูมิ , เสนอโดย นายนิยม วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย , เสนอโดย นานสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และร่างที่เสนอโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้าสู่สภา โดยเสนอให้สมาชิกลงมติเลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนในวันที่ 31 พ.ค. ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านแย้งว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการฟอกผิดให้คนเพียงคนเพียงคนเดียวซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และยังเข้าข่ายกฎหมายการเงินเพราะผลของกฎหมายนี้ส่งผลให้มีการคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นจึงต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองก่อนจึงจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ แต่นายสมศักดิ์ระบุว่าไม่ใช่กฎหมายการเงิน และยืนยันถึงข้อบังคับที่ให้อำนาจประธานสภาว่าสามารถทำได้ เมื่อวินิจฉัยไปแล้วก็ถือว่าจบ จึงเกิดความวุ่นวายขึ้นทันที
โดยฝ่ายค้านพากันโห่ไล่และตะโกนว่านายสมศักดิ์ไม่มีความเป็นกลางในการทำหน้าที่ประธานสภา ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ถ่อยเถื่อนไม่แพ้กัน โดย 'ประชา ประสบดี' ส.ส.สมุทรปราการ ได้สวนผรุสวาทออกมาว่า “โห่ทำเหี้ยอะไร.....” จากนั้นก็เกิดถกเถียงและชี้หน้าด่ากันอย่างชุลมุน และเมื่อนายสมศักดิ์ดึงดันจะให้ที่ประชุมลงมติ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวนหนึ่งจึงได้ลุกฮือขึ้นไปยื้อยุดให้นายสมศักดิ์ลงจากบัลลังก์ ขณะที่ ส.ส.เพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ฮือขึ้นไปขัดขวาง จึงเกิดการเผชิญหน้ากัน จนประธานฯต้องสั่งพักการประชุม
ทั้งนี้ หลังจากที่นายสมศักดิ์ลุกจากเก้าอี้ไป น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินขึ้นไปยกเก้าอี้ของนายสมศักดิ์ออกเพื่อเป็นการประท้วง ระหว่างนั้น น.ส.เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ปีนข้ามเก้าอี้และยกเท้าหวังจะถีบ น.ส.รังสิมา โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปรี่เข้าไปแย่งเก้าอี้ ขณะที่ยื้อยุดกันนั้นมือของ น.ส.ก็สะบัดไปเกือบจะโดนหน้าของ น.ส.ขัตติยา และหวิดที่จะเกิดการตบตีระหว่าง ส.ส.หญิงทั้ง 2 พรรค แต่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ได้พากันเข้าไปดึงตัว น.ส.รังสิมาออกมาก่อน
และ เมื่อเริ่มประชุมสภาอีกครั้งก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา ซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ประธานนายสมศักดิ์ จึงสั่งเลื่อนการประชุมไปเป็นวันที่ 31 พ.ค.
สำหรับการชุมนุมวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองเป็นวันที่สอง ก็ยังคงดีกรีความถ่อยเถื่อนไว้อย่างคงเส้นคงวาและกล่าวได้ว่าวุ่นวายไม่แพ้กัน โดยในการประชุมช่วงเช้า ก่อนที่จะมีการประชุมสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กทธ.)ทั้ง 35 คณะเพื่อพิจารณาว่า พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ถือเป็น พ.ร.บ.การเงินหรือไม่ สุดท้ายที่ประชุมมีมติ 22 ต่อ 1 ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่การเงิน หลังใช้เวลาหารือกว่า 5 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการลงมตินั้นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ได้วอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุม โดยไม่ร่วมลงมติ
ต่อมาเวลา 16.30 น.ได้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดอง โดยที่ประชุมใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา เจ้าของฉายา 'ค้อนปลอมแห่งดูไบ' ก็รวบรัดขอให้ลงมติเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ขึ้นมาพิจารณาในวันถัดไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านที่กำลังอภิปรายซักถามในประเด็นว่าผลพวงจาก พ.ร.บ.ปรองดองดังกล่าวนั้นส่งผลให้รัฐต้องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้าน ที่ศาลสั่งยึดทรัพย์มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ แต่นายสมศักดิ์อ้างว่าเรื่องนี้ยุติไปแล้วในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ในช่วงเช้าว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน จึงเกิดการประท้วงกันวุ่นวาย ระหว่างนั้น นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ตะโกนผ่านไมโครโฟนว่า “มีตำรวจติดอาวุธในสภาฯ ขอให้ประธานสั่งปลดอาวุธก่อน” บรรยากาศการประชุมจึงเคร่งเครียดขึ้นไปอีก
แต่นายสมศักดิ์ วินิจฉัยว่าขอให้ดำเนินการประชุมต่อ โดยระบุว่าขณะนี้มีผู้ยื่นญัติให้เลื่อนเรื่องด่วน ตนขอถามว่ามีใครเห็นเป็นอื่นหรือไม่ ซึ่งระหว่างนั้นมี ส.ส.ฝ่ายค้านตะโกนว่า "มีๆๆๆๆ" แต่นายสมศักดิ์กลับตัดบทว่าขอลงมติเลย และได้กดสัญญาณเรียก ส.ส.เข้าห้องประชุมเพื่อนับองค์ประชุม ท่ามกลางเสียงตะโกนโห่ ว่านายสมศักดิ์ เป็นเผด็จการ
อย่างไรก็ดี ผลการนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีคนมาแสดงตนเพียง 276 เสียง แต่ประธานสภาก็สั่งให้ลงมติปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเลื่อนญตติเรื่องด่วน ด้วย 272 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง นายสมศักดิ์จึงสรุปว่าที่ประชุมเห็นด้วยในญัติให้เลื่อนวาระด่วน และขอปิดการประชุม โดยนัดให้มีการประชุมสภาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1มิ.ย.
ทันทีที่นายสมศักดิ์กล่าวจบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่พอใจในการให้ลงมติ อาทิ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และ นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ขว้างปาเอกสารการประชุม ไปยังที่นั่งของนายสมศักดิ์ ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์คนอื่นตะโกนด่า พร้อมโห่ร้อง และมีการขว้างปาหนังสือข้อบังคับการประชุม และ แฟ้มเอกสารขึ้นไปบนบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎร จนโดนตัวของนายสมศักดิ์ โดยระหว่างนั้นมีตำรวจรัฐสภาซึ่งเข้ามาคุ้มกันนายสมศักดิ์อยู่แล้วก็เข้ามารุมล้อมประธานสภา และพานายสมศักดิ์ออกไปทางด้านหลัง แต่ในระหว่างนั้นก็หวิดจะมีเหตุชกต่อยกันระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล เมื่อนาย ธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ตรงเข้าไปล็อกคอ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่กำลังถ่ายคลิปเหตุการณ์อยู่ ขณะที่นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.จากพรรคเพื่อไทย ก็กระโจนเข้าใส่นายธานีเช่นกัน ทำให้บรรดา ส.ส.ของแต่ละพรรคต้องรีบเข้ามาจับแยกก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายมากไปกว่านี้
ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ส.ส.บางส่วนก็ได้ทยอยออกจากห้องประชุม และเร่งรีบออกจากอาคารรัฐสภา เนื่องจากไม่มั่นใจว่า พันธมิตรฯจะบุกเข้าภายในอาคารรัฐสภาหรือไม่ เช่นเดียวกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เดินทางออกไปก่อนแล้ว
ขณะที่สถานการณ์ด้านนอกสภานั้นก็ร้อนระอุไม่แพ้กัน เมื่อมวลมหาประชาชนจากทั่วทุกสารทิศภายใต้ชื่อ 'พันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย' ซึ่งนำโดย 'สนธิ ลิ้มทองกุล' แกนนำพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อหลากสี แห่แหนกันมาชุมนุมเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายทำลายชาติ โดยนัดรวมพลที่ลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเคลื่อนพลมาชุมนุมมาปักหลักคัดค้านที่บริเวณหน้ารัฐสภา จากนั้นแกนนำพันธมิตร นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จึงได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภา เพื่อขอให้ถอนวาระ พ.ร.บ.ปรองดอง ทุกฉบับออกจากการพิจารณาของสภา ส่วนบนเวทีพันธมิตรฯก็มีการไฮปาร์คโจมตีการออก พ.ร.บ.ปรองดอง ดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน ขณะเดียวกันก็มีผู้ชุมนุมทยอยเดินทางเข้ามาสมทมที่หน้าสภาตลอดทั้งวัน กระทั่งช่วงค่ำแกนนำพันธมิตรฯจึงประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับบ้านและกลับมาชุมนุมใหม่ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 31 พ.ค. แต่ก็มีผู้ชุมบางส่วนที่ปักหลักพักค้างอยู่หน้ารัฐสภา
ส่วนการชุมในวันที่ 31 พ.ค.ซึ่งเป็นการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นวันที่สองของพันธมิตรฯนั้นก็ยังมีผู้ออกร่วมมาชุมนุมอย่างล้นหลามทั้งจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ขณะที่รัฐบาลเมื่อเห็นจำนวนของผู้ชุมนุมซึ่งมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ในวันแรกก็ได้สั่งเพิ่มจำนวนจำหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบขึ้นอีกเท่าตัว โดยการเคลื่อนไหวในวันที่สองนั้นแกนนำพันธมิตรฯ นำโดย พล.ต.จำลอง ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ประธานสภาฯ เพื่อขอส่งตัวแทน 200 คนเข้าฟังอภิปรายเลื่อนวาระ พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ประธานสภาไม่ได้ให้คำตอบ แกนนำพันธมิตรฯจึงได้จะยื่นจดหมายฉบับที่ 2 ขอขยายพื้นที่การชุมนุมเข้าไปภายในรั้วรัฐสภา ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 แต่เวลาผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง ก็ไม่มีคำตอบจากประธานสภา ในเวลา 18.00 น. แกนนำจึงได้ประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ก่อนจะประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าขอให้ชลอการเคลื่อนพลเข้าไปในภาไว้ก่อนเนื่องจากเกรงจะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น และขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับไปพักผ่อน และกลับมาชุมนุมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 มิ.ย. ขณะที่ก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงปักหลักค้างแรมอยู่หน้ารัฐสภาเช่นเดิม
ทั้งนี้ นอกจากการเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรฯและเสื้อหลากสีแล้ว กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ก็ได้มีการแถลงคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดอง ดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากเกรงว่าการดึงดันออก พ..ร.บ.ปรองดอง ของรัฐบาลนั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นเกิดการปะทะกันของมวลชนทั้งสองฝ่าย เพราะทราบข่าวว่าเริ่มมีการระดมมวลชนของฝ่าย นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ โดยมีการใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ปลุกระดมมวลชนให้เข้ามาที่รัฐสภา จึงหวั่นว่าจะเกิดการปะทะกัน จะมีผู้บาดเจ็บล้มตาย เนื่องจากคนเสื้อแดงมีแรงจูงใจว่าจะได้เงิน 7.75 ล้านบาท ดังนั้นกลุ่ม 40 ส.ว.จึงขอให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับเสียงท้วงติงดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้นจากนี้จึงต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วผลสรุปจะออกมาเป็นเช่นไร ? รัฐบาลจะสามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกมาบังคับใช้ได้หรือไม่ ? แต่ที่แน่ๆ คือการเคลื่อนไหวคัดค้านของภาคประชาชนย่อมต้องดำเนินไปอย่างเต็มพิกัด เพราะประชาชนรับรู้ถึงหายนะภัยที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายฟอกผิดฉบับนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว