xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งลักษณ์เปิดประชุมWEF โชว์วิชั่นแผนผนึกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 15.00 น. วานนี้ (31พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีเปิดการประชุม World Economic Forum on East Asia ปี 2555 ณ ห้อง Plenary Hall โรงแรมแชงกรีลา สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน World Economic Forum on East Asia ครั้งที่ 21 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ต่างรู้สึกยินดีที่ประเทศของเราได้รับเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพร่วมกับ WEF ซึ่งเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากเมือง Davos สู่กรุงเทพมหานคร ทำให้การหารือเต็มไปด้วยมิตรภาพ และนำสู่ผลสำเร็จ
ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของความท้าทาย และโอกาส ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ยุโรป การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย การกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตในภูมิภาค ฯลฯ
ทั้งนี้ เราต่างเห็นแล้วว่า แม้แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่สุดยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากความท้าทายดังกล่าว ในขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่างเรา กลับจะใช้ความท้าทายนี้เป็นโอกาส คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เอเชียควรทำ เพื่อปกป้องตัวเองจากความท้าทาย และใช้โอกาสนี้ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
หลายประเทศในภูมิภาคนี้ ได้ก้าวข้ามความท้าทายนี้แล้ว เห็นได้จาก เศรษฐกิจในอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในยุโรป และหลายประเทศในอาเซียน ยังสามารถก้าวข้ามความท้าทายภายในประเทศของตัวเอง ดังเช่น ความก้าวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งได้รับการชื่นชมจากประชาคมโลก
ความสำเร็จเหล่านี้ได้สร้างความเชื่อมั่นในภูมิภาคนี้ยิ่งขึ้น ความมั่นใจเหล่านี้เป็นผลจากความเข้มแข็งของประเทศสมาชิก และความสมดุลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ และบูรณาการ พร้อมกับการสร้างประชาคม เช่น อาเซียน ความร่วมมือ และการบูรณาการแทนการแข่งขันและการปะทะ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และความสามารถในการปรับตัวของภูมิภาค ซึ่งกุญแจสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าวคือ ความเชื่อมโยง
ดังนั้น หัวข้อการประชุมในปีนี้ (Shaping the Region's Future through Connectivity) จึงมีความสำคัญยิ่งนัก อนาคตของเอเชียตะวันออก ความเชื่อมั่นและความสามารถ ในการปรับตัวของภูมิภาคขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเรื่องการสร้าง ความเชื่อมโยง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอความคิดของไทยเกี่ยวกับความเชื่อมโยง ซึ่งในมุมมองของไทยมีองค์ประกอบ 3 ประการ ที่เราควรให้ความสำคัญ
ประการแรก การสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงในภูมิภาค นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเส้นทางเหนือกับใต้ ตะวันตก และตะวันออก และเส้นทางสู่ประตูเศรษฐกิจทางใต้ ซึ่งต้องผ่านประเทศไทยทั้งสิ้นแล้วนั้น เรายังควรสนับสนุนความร่วมมือใหม่เพิ่มเติม อาทิ ท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งไทยกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพม่า ในการพัฒนา หากลองจินตานาการ การขนส่งสินค้าจากมหาสมุทรอินเดีย ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านพม่า และไทยในเวลา 1-2 วัน เมื่อมีความเชื่อมโยงเส้นถนน และทางรถไฟจากทวาย สู่กรุงเทพฯ และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ภูมิภาคนี้จะมีสะพานบนดินที่เชื่อมโยงระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย
หลังจากความมุ่งมั่น 17 ปีในการสร้างถนน ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่สำคัญคือ การสร้างเครือข่ายรถไฟในภูมิภาคแม่โขง เริ่มจากโครงการ SHRL (Singapore Kunming Railway Link) ที่เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างตะวันออกเฉียงเหนือของไทยสู่ลาวและทางใต้ของจีน
ประการที่ 2 การสนับสนุนองค์ประกอบความเชื่อมโยงอื่น นอกเหนือจากการลงทุนในสาธารณูปโภค เช่น ถนน และรางรถไฟแล้ว ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมั่นใจว่า สินค้าและคนสามารถเดินทางข้ามพรมแดนอย่างเสรี ดังนั้น เราควรจะสนับสนุนกฏหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีความจำเป็นที่จะสรุปความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนของประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายตามแนวชายแดน อันจะปรับเส้นทางการขนส่งให้เป็นเครือข่ายโลจิสติก และประตูทางเศรษฐกิจ
ในขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องมีการป้องกันอย่างมีประสิทธิผล เพื่อป้องกันภูมิภาคนี้จากปัญหาการข้ามแดนและปัญหาจากการนำความเชื่อมโยงไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฏหมายข้ามแดน ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมข้ามชาติ การค้าอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายร้างสูง และโรคระบาด
ประการที่ 3 การพัฒนาความเชื่อมโยง นอกเหนืออาเซียน และเอเชียตะวันออก การบูรณาการจะมาสู่เอเชียตะวันออกไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้น เราควรจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกในก้าวต่อไป
ปัจจุบันมีความเจริญเติบโตในการค้าและเครือข่ายการลงทุนระหว่างเอเชียตะวันออกกับประเทศอื่น ซึ่งรวมถึงเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และประเทศในทวีปอเมริกา ในอีกระยะเวลาไม่นาน เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความเชื่อมโยงนอกเหนือจากเอเชียตะวันออก และในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันมีกรอบความร่วมมือที่มีประเทศนอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเข้ามาศึกษาแนวทางความเชื่อมโยงกับเรา ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ต้องให้มั่นใจว่า มีพลวัตรเกิดขึ้นกับกรอบความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่ามีการสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาคและผลักดันการสร้างประชาคมอาเซียนและเอเชียตะวันออก เราจำเป็นที่จะต้องทำให้พื้นฐานของบ้านเราแข็งแรงยิ่งกว่านี้ ภายหลังความไม่เสถียรภาพของการเมืองในปีที่ผ่านมาและภาวะน้ำท่วมในปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ชาวไทยได้แสดงให้เห็นว่าสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลปัจจุบันและชาวไทยพร้อมที่จะก้าวไปสู่ห่วงเวลาใหม่ของการพัฒนาและการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดยเฉพาะแผนที่เราได้วางไว้เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ไปยังเมืองหลักของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น การขยายสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 72 ล้าน คนต่อปี เราก็ยังสร้างโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเอื้ออำนวยเศรษฐกิจไทยและชาวไทย แต่สำคัญกว่านั้น จะช่วยสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค
นอกเหนือจากโครงการสาธารณูปโภคแล้ว ยังมีการลงทุนกว่า 11,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการบริหารน้ำและป้องกันน้ำท่วม เพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตใหญ่ เราให้ความสำคัญในเรื่องอาหารและโครงการเกษตรกรรม ซึ่งเราเป็น 1 ใน 5 ผู้ส่งออกอาหารโลก
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังลงทุนและสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นผู้ผลิตหลัก เช่น ยานยนต์, ฮาร์ดดิสก์, ไดรฟ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบริการ เช่น บริการทางการแพทย์อุตสาหกรรมทางด้านคิดสร้างสรรค์ (creative industry) การสื่อสารโทรคมนาคม ด้านพลังงานสะอาด บริการด้านการเงิน และการประกันภัย
ส่วนในด้านทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตรี เพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (Women Development Fund) นอกจากนี้ นโยบายการศึกษา อาทิ โครงการ 1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน จะช่วยเตรียมความพร้อมแก่เด็กในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า เฉกเช่นในปัจจุบัน และโครงการบริการสุขภาพดีถ้วนหน้า ยังจะช่วยให้ทรัพยากรมนุษย์ของไทยได้รับการปกป้องกันที่ดี
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ประเทศไทยไม่ใช่แค่ประเทศหลักในการเชื่อมโยงภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน เพียงเพราะปัจจัยทางด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญอีกด้วย เนื่องจากไทยมีแรงงานที่มีฝีมือ และทักษะที่ดีเยี่ยม มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตและเป็นมิตร การมุ่งส่งเสริมภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่า จากฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและมีความหลากหลายมากขึ้น จากการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค มีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรงและสามารถทนต่อภัยพิบัติ และมีความทันสมัย ผ่านการลงทุนและการสนับสนุนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศของไทย
นอกจากนี้ หากการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคช่วยให้ฐานการผลิตที่แข็งแกร่งของไทยเขื่อมต่อและใกล้ชิดกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ยิ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยดำเนินการในด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตสำหรับเศรษฐกิจโลก โดยประเทศไทยจะยังคงดำเนินนโยบายในการให้การสนับสนุน พร้อมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก ผ่าน ASEAN-led FTAs และ APEC
ทั้งนี้ ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาคและทั่วโลก ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ด้วยภูมิปัญญาและความสามารถของทุกคน การประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันและเกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้นในเอเชียตะวันออก และมั่นใจว่าการประชุมในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น