xs
xsm
sm
md
lg

การแทรกแซงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นพฤติกรรมความชั่วทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

ารแทรกแซงและการครอบงำหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจของรัฐนั้น เป็นพฤติกรรมชั่ว และไร้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานของชาติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และเรื่องการแทรกแซงหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจนั้น ทุกรัฐบาลก็พยายามที่จะบงการผู้บริหาร ข้าราชการ ให้ปฏิบัติตามที่ตนปรารถนา แต่ความเข้มข้นมากน้อยขึ้นอยู่กับความละอายต่อใจชั่ว ต่อพฤติกรรมชั่ว และความกลัวบาปของนักการเมืองและนักการเมืองพวกนี้จะไม่มีความอดทนต่อความเถรตรงของข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ จะหาข้อพบพร่องหลากหลายกรณีเพื่อกดดัน และใส่ความ ใส่ร้าย ให้ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องลาออกไปแต่ดื้อด้านก็จะย้ายหรือปลดออกหรือเลิกจ้างทั้งๆ ที่มีผลงานดี

แต่ลักษณะประสงค์ของการแทรกแซงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร มีข้อยกเว้นตรงที่ขาดความละอายใจ ละอายต่อพฤติกรรม และไม่กลัวบาป เพราะว่าข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลนี้ ภายใต้การบงการของทักษิณนั้น มีวาระซ่อนเร้นที่น่ากลัว เพราะแต่ละตำแหน่งนั้นเป็นการข่มขู่ข้าราชการประจำทั้งหลาย กรรมการผู้จัดการ หรือประธานหัวหน้าบริหารงานว่าหากไม่ทำตามแล้วจะถูกปลด ถูกย้าย

ทักษิณเคยแสดงอำนาจเถื่อนกดดันนายสรรเสริญ วงศ์ชอุ่ม อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติมาแล้ว เพราะนายสรรเสริญ ไม่ตอบสนองรัฐบาลทักษิณที่ต้องการเปิดโครงการยักษ์แสนๆ ล้านบาท แต่นายสรรเสริญเห็นว่าโครงการบางโครงการยังไม่มีความจำเป็น เพราะมีโครงการอื่นๆ ที่สำคัญเร่งด่วน และปฏิบัติได้มาดำเนินการก่อน จึงถูกกดดัน แดกดัน และหาเรื่องในด้านความสามารถ ทั้งๆ ที่นายสรรเสริญมีการศึกษาระดับสากล และเป็นลูกหม้อของสภาพัฒน์ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีความสำคัญยิ่งในการให้คำปรึกษาที่เป็นผลประโยชน์ของชาติ จึงตัดสินใจลาออก ทั้งๆ ที่ยังมีอายุราชการเหลืออีก 6 ปี เพราะนายสรรเสริญมีช่องทางที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีกว่าที่จะถูกนักการเมืองดูหมิ่นดูแคลน

ในครั้งนั้น ทักษิณต้องการเพียงใครก็ได้ที่ตามใจรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นกุนซือทางเศรษฐกิจและการเงิน

แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำโดยหุ่นเชิดที่เป็นน้องสาวในไส้ของทักษิณ เจ้าของพรรคตัวจริง สามารถที่จะแทรกแซงข้าราชการพลเรือนและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพียงแต่เพื่อให้ตัวเองได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการที่จะกลับเข้ามาในประเทศอย่างคนบริสุทธิ์และเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ตามที่เขาต้องการ

จึงเลือกย้ายตำแหน่งข้าราชการประจำที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาล หรือบุคคลที่ทักษิณสามารถบงการได้อย่างสมัครใจ และสมบูรณ์แบบ

จะกล่าวถึงคนที่มีผลกระทบคนที่ 2 คือ การย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ประสบโชคส้มหล่น เพราะห้วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองแทน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ถูกเพ่งเล็งว่าเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการสร้างวิกฤตการเมือง และไม่กระทำตัวเป็นกลางในฐานะเป็นผู้รักษากฎหมาย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งยังมีเรื่องราวการสลายมวลชนคนเสื้อเหลือง และการลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่ง พล.ต.อ.พัชรวาทไม่สามารถคลี่คลายคดีได้ รวมทั้งกรณีคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกสังคมเรียกร้องให้เร่งจัดการ แต่กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.อ.พัชรวาทก็ไม่สามารถตอบสนองสังคมได้ ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะเป็นหน้าที่ของหัวหน้าฝ่ายบริหารจะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้ แม้มองว่าเป็นเรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงถือว่าเป็นเรื่องชอบธรรมมิฉะนั้นจะไม่ใครตั้งใจดูแลประชาชน

พล.ต.อ.วิเชียร จึงได้รับการแต่งตั้งแทน เนื่องจากมีอาวุโสจากตำแหน่งหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ที่เป็นตำแหน่งก่อนย้ายกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนของ พล.ต.อ.วิเชียร ที่ถูก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กล้าที่จะย้าย แต่ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น มีมาตรการป้องกันมิให้ข้าราชการตำรวจถูกรังแกโดยนักการเมือง จึงต้องหาวิธีออมชอมกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี

ขณะเดียวกันนั้นเองก็เห็นว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อันเป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบความมั่นคงของชาติทุกมิติ แต่หากไม่เป็นคนที่ทักษิณสามารถบงการได้ ปัญหาด้านความมั่นคงในหลายแง่หลายประเด็น โดยเฉพาะในกรณีหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่เป็นฐานพลังทางการเมืองที่แข็งแกร่งของทักษิณ แต่อาจจะถูกตีความโดยสภาความมั่นคงว่าเป็นฐานกำลังเพื่อวัตถุประสงค์อันไม่เป็นที่พึงปรารถนาของชาติก็ได้

ดังนั้น นายถวิล เปลี่ยนศรี จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการย้าย พล.ต.อ.วิเชียร ออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ชายอดีตภรรยา ซึ่งใกล้ชิดและบงการได้ง่ายกว่าคนอื่น รวมทั้งเป็นการแสดงถึงการใช้หนี้บุญคุณกันที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว

ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงตกเป็นของ พล.ต.อ.วิเชียร เพราะว่าในระเบียบการย้ายข้าราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ระบุว่าจะต้องมีตำแหน่งทัดเทียมกัน แต่ไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับนายถวิลได้ ซึ่งการนี้นายถวิลได้ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อขอความเป็นธรรม แต่คณะกรรมการนี้ยกฟ้อง นายถวิลจึงต้องฟ้องศาลปกครอง

แต่จะเป็นกลยุทธ์ของนายถวิลหรือไม่ ที่ยื่นคำร้องเรียนฟ้องร้องรัฐบาลต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเป็นอันดับแรก เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ารัฐบาลนี้ขาดคุณธรรม เพราะตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำนั้น เทียบไม่ได้กับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

และเป็นเรื่องแปลกที่มีคณะกรรมการชุดเล็ก 5 คนพิจารณา มีนายศรายุธ เมนะเศวต ประธาน ก.พ.ค. ซึ่งสรุปว่าคำร้องทุกข์ในชั้นต้นฟังขึ้น ต่อมาคณะกรรมการชุดใหญ่ 7 คน พิจารณาและนายศราวุธก็เป็นประธานตามฐานะเช่นเคย แต่กรรมการเหลือเพียง 6 คน เพราะเสียชีวิตก่อนหน้านี้ 1 คน ผลการลงคะแนนออกมาว่าได้ 3 ต่อ 3 ทำให้นายศราวุธในฐานะประธานลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ฝ่ายยื่นคำร้องต้องแพ้ด้วยคะแนน 3 ต่อ 4 จึงนับได้ว่าการลงคะแนนครั้งนี้ เป็นเรื่องพิสดารอย่างแท้จริงในระบบคุณธรรม

สภาความมั่นคงแห่งชาติ เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และสถาปนาขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ และปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงเกี่ยวข้องกับการทหาร การเศรษฐกิจ พรรคการเมือง และผลประโยชน์ของชาติด้านพลังงานและด้านสังคม โดยเฉพาะในด้านนโยบายต่างด้าว

ดังนั้น การควบคุมเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันคือ พล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งมีจุดอ่อนอยู่แล้ว จึงง่ายกับการควบคุมให้ดำเนินการ และตีความเรื่องความมั่นคง ตามที่บุคคลในรัฐบาล หรือบุคคลที่บงการรัฐบาลสั่งการมา

การปลดนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ DD บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นเรื่องส่วนตัว เพราะมีเรื่องราวของความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างทักษิณกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ ตั้งแต่ครั้ง ดร.ปิยสวัสดิ์เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับผิดชอบเรื่องการใช้พลังงาน การลงทุนด้านพลังงาน และการสำรวจพลังงานของชาติเพราะ ดร.ปิยสวัสดิ์เป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่ให้ทักษิณเข้าครอบงำการกำหนดนโยบายพลังงานของชาติเพื่อประโยชน์ของทักษิณเอง

แต่การปลด ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกระทรวงการคลังที่มีนักวิชาการทั้งเป็นภาคเอกชนมืออาชีพที่กระทรวงการคลังจ้างมาตรวจสอบให้ผ่านทั้ง 2 ปี การปลดครั้งนี้น่าจะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น จะมีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ แต่ก่อนหน้าที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงนั้น จะต้องไต่เต้าจากผู้บริหารระดับล่างก่อนและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจมาก่อน จนได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นจนเป็นสมาชิกสหภาพไม่ได้

กลยุทธ์นี้จึงเป็นการสร้างหุ่นและพลังฐานเสียงเพราะหากว่าใครอยากจะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง จะต้องเป็นคนที่นิยมทักษิณเพราะคนเสนอชื่อคือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แต่บอร์ดเป็นผู้อนุมัติ จึงเป็นการสร้างพลังคนเสื้อแดงในการบินไทย การตั้ง DD การบินไทยคนใหม่โดยรัฐบาลนี้จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่แยบยลมากเพราะเป็นรูปแบบให้รัฐวิสาหกิจอื่นได้นำไปประยุกต์ใช้

ดังนั้น ในอนาคตพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจมาก่อน จะต้องเป็นคนของรัฐบาลแบบลูกโซ่ในระบบการบังคับบัญชาตามสายงาน ทั้งนี้ เพราะว่าในช่วงปี พ.ศ. 2546-2548 นั้นพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการบินไทย แสดงพลังและศักยภาพต่อต้านรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน จึงมีน้ำหนักในการชี้นำสังคม จึงกลายเป็นความแค้นส่วนตัวที่รัฐบาลน้องสาวที่เป็นหุ่นของทักษิณกดปุ่มได้ต้องสนองตอบให้เกิดความสะใจของผู้พี่ จึงขอให้สมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จงได้ตระหนักถึงความล่มสลายของระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลขององค์กรในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น