xs
xsm
sm
md
lg

"ถวิล"โวยมติกพค.อัปยศ "สราวุธ"ลงมติซ้ำป้อง"ปู"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (11 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้มีมติยกคำร้อง กรณีที่ตนได้ร้องทุกข์ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจโยกย้ายตน จากตำแหน่งเลขาธิการสมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.54 ไม่เป็นธรรม
ฉะนั้น เมื่อผลออกมาว่าตนแพ้ คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น ตนในฐานะที่มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงอยากชี้แจงว่าหลังจากที่ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.54 จากนั้นทางก.พ.ค.ได้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ชุดที่ 2 จำนวน 3 คน โดยมี นายศราวุธ เมนะเศวต เป็นประธานด้วยตัวเอง ปรากฏว่า ผลพิจารณาในชุดเล็กมีกรรมการ 2 คน เห็นว่า คำร้องทุกข์ของตนฟังขึ้น แต่เสียงข้างน้อยอีก 1 เสียง คือตัวนายสราวุธ เอง แย้งว่า คำร้องทุกข์ของตนฟังไม่ขึ้น โดยระบุว่าการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้เหตุผลทางการเมืองในการโยกย้ายตนออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมช.นั้น ไม่ใช่ตัวนายกรัฐมนตรี เป็นคนพูด จึงนำมาพิจารณาไม่ได้
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ชุดที่ 2 มีมติ 2 ต่อ 1 จึงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีจำนวน 7 คน แต่เสียชีวิตไปแล้ว 1 คน ซึ่งอยู่ในระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ ส่งผลให้คณะกรรมการเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า มี 3 เสียง ประกอบด้วย นายศราวุธ นางจรวยพร ธรณินทร์ และ น.ส.ทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ เห็นว่า คำร้องตนฟังไม่ขึ้น และอีก 3 เสียง ที่เห็นว่าคำร้องฟังขึ้น ประกอบด้วย นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายภิรมย์ สิมะเสถียร และนายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล
เมื่อผลมติออกมา 3 ต่อ 3 ทำให้ไม่ได้ข้อยุติ นายศราวุธ ในฐานะประธาน จึงลงคะแนนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เป็น 4 ต่อ 3 ทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้วประธานจะต้องงดออกเสียงหรือไม่ ซึ่งการลงมติครั้งนี้ ถ้าตัวประธานงดออกเสียง ก็จะไม่เกิดกรณีเสมอกัน 3 ต่อ 3 มิหนำซ้ำ ตัวประธานยังทำการลงคะแนนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง จนต้องมีการยกคำร้อง ตนจึงอยากให้ทาง ก.พ.ค.ได้ชี้แจง
" อยากฝากไปถึง ก.พ.ค.ว่า ถ้าการใช้อำนาจดุลยพินิจของนายกฯ ไม่มีข้อจำกัดเช่นนี้ ต่อไปข้าราชการจะไม่มีทางร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้ ถ้ากรณีอย่างผมที่มีข้อเท็จจริงว่า ถูกโยกย้ายด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของการถูกรังแก หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วกรณีไหนบ้างจะเป็นธรรม และถ้าการใช้อำนาจของการเมืองเป็นอย่างนี้ จะหวังให้ระบบข้าราชการ เป็นกลไกในการพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไร นอกเสียจากเป็นเบี้ยล่างอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของฝ่ายการเมือง ดังนั้น จึงอยากให้ ก.พ.ค.ให้คำตอบ ไม่เช่นนั้นผมคิดว่าต่อไปข้าราชการคงไปหาท่านน้อย" นายถวิลระบุ
อดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ ตนมีเวลา 90 วัน ในการร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะใช้เอกสารหลักฐานชุดเดิม ที่เคยยื่นต่อ ก.พ.ค.ในการร้องต่อศาลปกครองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าศาลปกครอง จะให้ความเป็นธรรมต่อตนได้ และจะวินิจฉัยทันก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งตนยังเหลืออายุราชการอีกประมาณ 2 ปี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าทางฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ก.พ.ค. ใช่หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่มีข้อสังเกตหลายอย่าง ว่าการที่นายศราวุธ ลงมาเป็นประธานคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ชุดที่ 2 ก็เป็นเสียงข้างน้อย และพอมาลงมติในชุดใหญ่ ที่มี 6 คน ประธานเองควรจะต้องงดออกเสียงหรือไม่ แต่ก็เลือกจะลงคะแนนต่อ ส่วนการเมืองจะแทรกแซงหรือไม่ คิดว่าคงไม่ใช่
กำลังโหลดความคิดเห็น