xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ห่วงค่าจ้างดันเงินเฟ้อ เผย6ธุรกิจกระทบมากสุด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติเผยธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ก่อสร้าง เครื่องหนัง การค้า โรงแรมและภัตตาคาร ได้รับผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมากสุด เหตุพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก-ได้รับกำไรสุทธิน้อย คาดการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้กระทบเงินเฟ้อสูงกว่า 0.3% หรือมากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายกาเรงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการสอบถามภาคธุรกิจ พบว่าผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ก่อสร้าง เครื่องหนัง การค้า โรงแรมและภัตตาคาร เพราะเป็นการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างสูง แต่กลับได้รับผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ

"แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้น แต่เสถียรภาพของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องติดตามต่อไป" นายไพบูลย์กล่าวและว่า ภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำรองลงมา ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ขนส่ง ยางและพลาสติก รวมถึงโลหะ เพราะแม้จะได้รับกำไรสุทธิค่อนข้างน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานค่อนข้างต่ำ ตามมาด้วยธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก แต่ยังได้รับกำไรสุทธิในการประกอบธุรกิจค่อนข้างดี คือ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ กระดาษ แก้วและเซรามิค เครื่องจักร สิ่งพิมพ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่กลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะได้รับรายได้จากกำไรสุทธิค่อนข้างสูงและพึ่งพาแรงงานน้อย คือ ธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ ปิโตรเคมี บริการธุรกิจ การเงิน และกลุ่มไฟฟ้าและพลังงาน

“ธปท.ได้ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2-0.3% ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ในอดีตที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับแบบก้าวกระโดดในสัดส่วนถึง 40% จึงมีโอกาสที่ผลกระทบต่อเงินเฟ้ออาจจะสูงกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ได้ อีกทั้งยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้นในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ และการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจอาจเอื้อให้ส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาทำได้มากขึ้น”

ทั้งนี้ คาดว่าการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะมีผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังมีภาคธุรกิจบางส่วนพยายามหาแนวทางการปรับตัวและวางแผนรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำไว้แล้วในระดับหนึ่ง เช่น การพัฒนาแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การลดต้นทุนการผลิตด้านอื่น การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น และการปรับขึ้นราคาสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้จากการสำรวจ พบว่า ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้อาจจะมีผลด้านลบของภาคครัวเรือน เพราะแม้การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายค่าครองชีพสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในอนาคตอาจส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวยากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ด้วย อีกทั้งมองว่าความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยและรายได้ครัวเรือนได้เช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น