xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

11 ศพสังเวยซ้ำ-33 ชุมชนเสี่ยงไม่สิ้น นิยามใหม่“นิคมฯมาบตาพุด-อิสเทิร์นซีบอร์ด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เหตุเพลิงไหม้และระเบิดที่โรงงานบีเอสที ฯ สร้างความสูญเสียให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และกระทบความรู้สึกของคนที่นั่นว่า ไม่มีความปลอดภัยแบบนี้ จะอยู่กันยังไง แล้วยังจะมีการอนุมัติตั้งนิคมฯไม่หยุด
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-11 ชีวิต กับอีกกว่า 100 คนงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่ยังต้องเสี่ยงกับสารโทลูอีน ที่นักวิชาการด้านการจัดการสารเคมี ระบุว่า คงอยู่ได้นานถึง 27,950 วัน หรือมากกว่า 76 ปี กับเหตุเพลิงไหม้และระเบิดที่โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด (Bste) เครือบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ผู้ผลิตสารปิโตรเคมี เมื่อ 5 พ.ค. 2555

ตามมาด้วยเหตุก๊าซรั่วที่โรงงานอดิตยาเบอร์ล่า เคมิคัลส์ ในนิคมฯ เหมราช ห่างจาก Bste เพียง 4 กิโลเมตร(กม.) จนต้องเร่งอพยพพนักงานออกกว่า 500 คน และหามส่งโรงพยาบาลกว่า 70 ราย

เป็น 2 เหตุใหม่หมาดๆ ที่สะท้อนถึง “ความเสี่ยง” ของคนมาบตาพุดที่ต้องก้มหน้ารับ หลังจากก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีในมาบตาพุด หลายต่อหลายครั้ง

ขณะที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรม รัฐบาล “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เพิ่งพูดด้วยความภาคภูมิ ก่อนที่จะเกิดอุบัติภัยสารเคมี 2 ครั้งล่าสุดนี้ ว่า “นิคมฯมาบตาพุด เต็มหมดแล้ว นั่นหมายถึงอิสเทิร์นซีบอร์ด ได้ดำเนินการมาครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่สภาพัฒน์ ได้วางแผนไว้ และเตรียมที่จะพัฒนานิคมฯใกล้เคียงต่อ”
 

ทำให้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า อิสเทิร์นซีบอร์ดสมบูรณ์ แล้วอย่างไร !?

คุณภาพชีวิตประชาชนคนมาบตาพุด อยู่ไหน !?

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยอง โดยขาดการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิผล ประกอบกับการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมจากในระยะแรกปี พ.ศ. 2527 ที่มีการเวนคืนที่ดินประมาณ 8,000 ไร่ เป็นท่าเรือน้ำลึกและพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 6,500 ไร่ พื้นที่พักอาศัยประมาณ 1,500 ไร่

กระทั่งผังเมืองรวมมาบตาพุด พ.ศ. 2546 มีการกำหนดพื้นที่ประเภทอุตสาหกรรมประมาณ 44,000 ไร่ ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จริงประมาณ 19,000 ไร่ โดยมีการเปลี่ยนการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยให้เป็นประเภทอุตสาหกรรม ทำให้พื้นที่ซึ่งเดิมเคยกำหนดเป็นเขตกันชนในมาบตาพุดหายไป นำไปสู่ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม

จนทำให้อุบัติภัยจากการรั่วไหลของสารเคมีเกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก

ลุงน้อย ใจตั้ง หนึ่งในชาวบ้านที่ต้องประสบปัญหา เล่าว่า เหตุการณ์ถังก๊าซระเบิด และก๊าซรั่วครั้งล่าสุดนี้ สร้างความหวาดผวาต่อคนในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงมาก บางคนต้องหนีตายไม่ห่วงทรัพย์สินไปอยู่บ้านเพื่อนหรือบ้านญาติพี่น้อง เพราะหวั่นว่าจะได้รับอันตรายหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น
 

ลุงน้อย ยังพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า “ในช่วงสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เกิดปัญหาก๊าซรั่วเช้า - รั่วเย็น แต่มาในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เกิดเหตุระเบิดเช้า-ระเบิดเย็น แล้วประชาชนจะอยู่กันได้อย่างไร”

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ชาวบ้านรอบนิคมฯ เคยร้องเรียนถึงรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่า การก่อสร้างโรงงานต่างๆนั้น สามารถก่อสร้างได้ เพื่อความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติ แต่ก็ขอให้ช่วยดูแลด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม อย่าให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
แต่เสียงร่ำร้องของชาวบ้าน กลับถูกเมินเฉยจากรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย

“แล้วจะให้ประชาชนทำอย่างไร โรงงานต่างๆที่สร้างขึ้นมา ไม่ใช่ก่อสร้างวันนี้และพรุ่งนี้เลิกไป”

ดังนั้นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและปลอดภัย แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงงานต่างๆไม่ได้ทำให้กับประชาชนมั่นใจเลย จนเกิดการฟ้องร้องอย่างต่อเนื่อง

เช่น มีการฟ้องโรงงานหลายแห่งที่มีการก่อสร้างโรงงานโดยไม่มีการตอกเสาเข็ม โดยอ้างว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นหินแข็งและไม่เกิดปัญหา ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะโรงงานนั้นต้องอยู่อีกหลาย 10 ปี จะไม่มีวันดินทรุดหรือเกิดปัญหาได้อย่างไร

ล่าสุด 10 พ.ค.2555 ที่ผ่านมา สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ก็เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำสั่งลงวันที่ 2 ธ.ค.2552 ในคดีที่สมาคมฯ และชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 ราย ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ รวม 8 หน่วยงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่าง ๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง
โดยขอให้สั่งกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และ กนอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8) ได้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานที่เกิดเหตุครั้งล่าสุดนี้ (โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด (Bste) และโรงงานอดิตยาเบอร์ล่า เคมิคัลส์) พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของทั้งสองโรงงาน

รวมถึงเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมที่จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่ทำให้เกิด 2 เหตุการณ์ล่าสุดขึ้นในวันที่ 12 พ.ค.2555 ก่อนเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 15 พ.ค.2555 นี้ด้วย

ขณะนี้เสียงสะท้อนของคนมาบตาพุด ยังคงดังอึงอลว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลยังจะอนุมัติให้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหรรมเพิ่มขึ้นในจังหวัดระยองอีกหรือ

เพราะล่าสุด ทราบว่า กำลังจะมีการก่อสร้างอุตสาหกรรมหนักปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมระยอง(บ้านค่าย) โดยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ซึ่งมี ปตท.ถือหุ้นอยู่ 40% ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำอีไอเอ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชน
 
แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้านอยู่หรือไม่ !!

สนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า “มาบตาพุด” ถือเป็นหัวใจหลัก ในการพัฒนาพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมหนักของประเทศ ซึ่งมีทั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมฯใกล้เคียง เช่น นิคมฯตะวันออกเหมราช นิคมฯผาแดง นิคมฯเอเชีย นิคมฯอาร์ไอแอล ซึ่งล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีชุมชนมากกว่า 33 แห่งล้อมรอบ

ซึ่งในพื้นที่นี้ได้ถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2552ครอบคลุมพื้นที่เขตปกครองจังหวัดระยองได้แก่ ตำบลมาบตาพุด ห้วยโป่ง เนินพระ ทับมา อำเภอเมืองระยอง ,ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา ,ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางและพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต โดยมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษของจังหวัดระยองปี 2553-2556ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 ก.ค.2553 จำนวน 7 แผนงาน 71 โครงการ วงงบประมาณ 2,182.22 ล้านบาท และหนึ่งในแผนนั้นคือแผนงานรองรับเหตุฉุกเฉินและเตือนภัยสารพิษ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2554 ยังอนุมัติแผนงานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมาบตาพุดเพิ่มเติมอีก 15 โครงการวงเงิน 255.72565 ล้านบาท

แต่ในชั่วข้ามคืนกลับเกิดเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานกรุงเทพซินธิติกส์ มีคนเจ็บและตาย ตามด้วยก๊าซรั่วจากโรงงานอาทิตยาเบอร์รา เคมีคอล มีคนสูดดมก๊าซพิษ ต้องหามเข้าโรงพยาบาลกว่า 70 คน

คำถามก็คือ ถึงเวลาหรือยัง ที่ภาครัฐจะปฏิรูประบบจัดการด้าน สวล.และความปลอดภัยในมาบตาพุด !?

เพราะด้วยงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มลงไปในพื้นที่ คนมาบตาพุด กลับยังตกอยู่ท่ามกลาง “ความเสี่ยง” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสะท้อนชัดเจนจากบันทึกสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเอง ที่ระบุว่า แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับสารพิษจนเจ็บป่วย บาดเจ็บพิการ จากการทำงานมากกว่าปีละ 2 แสนราย เสียชีวิต ปีละ 800 ราย

นักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เสนอว่า จากเหตุการณ์อุบัติภัยสารเคมีซ้ำซาก ภาครัฐควรปฏิรูประบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในพื้นที่มาบตาพุดเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชน ดังนี

1.ทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดจะต้องแสดง อธิบาย และให้ข้อมูลแผนความปลอดภัย ระบบเตือนภัย ระบบฉุกเฉิน ข้อมูล และระบบการติดตามตรวจสอบไอระเหยสารอินทรีย์ ทั้งในโรงงาน และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งขั้นตอนการการปฏิบัติงานที่ลงรายละเอียดทั้งในช่วงการ Start Up Shutdown และการปฏิบัติงานตามปรกติต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชนกลุ่มเสี่ยง
 
รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเป็นประจำทุกเดือน ในส่วนของโรงงานต้องมี Internal Auditor ทำการตรวจสอบการทำงานของโรงงานเองเป็นประจำ และมีการลงโทษพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด นอกจากนี้ ระบบเตือนภัยที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วที่ติดตั้งในโรงงานจะต้องเชื่อมต่อ Online เข้าห้องควบคุมของการนิคมฯ ด้วย

2.หน่วยราชการเองต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่หน่วยราชการกำลังคนไม่พอในการติดตามตรวจสอบก็ควรจ้างมืออาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโรงงานแทน และใช้กฎหมายกำกับ และบังคับอย่างเข้มงวด โรงงานที่เกิดอุบัติภัยจนประชาชนเจ็บป่วยจนถึงเข้าโรงพยาบาล หรือตายต้องถูกถอดถอนใบอนุญาต และกลับไปทำรายงานอีไอเอ และขออนุญาตใหม่

3.ในการตั้งงบประมาณตามแผนลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดของรัฐบาล ต้องกลับไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญใหม่โดยให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น มีงบประมาณพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนที่เสียสละยินยอมให้โรงงานปิโตรเคมีมาตั้งในพื้นที่

4.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง จะต้องเป็นกลไกในการจัดการพื้นที่มาบตาพุดให้กลับมาอยู่ในความเชื่อมั่นของประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ไปฝากไว้กับ กนอ.

5.ต้องดำเนินการให้โรงงานทุกแห่งปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชนในรั้วโรงงาน (Protection Strip) อย่างน้อย 10-30 เมตรโดยเฉพาะพื้นที่ติดกับชุมชน การนิคมฯ เองต้องจัดให้มีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) มีระยะห่างที่สามารถลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติภัยต่อชุมชนได้ นอกจากนี้ต้องรีบประกาศผังเมืองของจังหวัดระยองเนื่องจากหมดอายุมาระยะหนึ่งแล้ว

6.จัดการให้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดไอระเหยสารอินทรีย์ที่สามารถตรวจได้หลายค่าอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะสารพิษที่กำหนดโดยกรมควบคุมมลพิษโดยควรติดตั้งสถานีตรวจวัดทั้งใน และนอกนิคมฯ ตามทิศทางลมเพื่อดูแนวโน้มความเข้มข้นของสารพิษ ไม่ใช่ตรวจเพียงแค่สารไฮโดรคาร์บอน เท่านั้น และควรส่งข้อมูล Online เข้าห้องควบคุมของการนิคมฯ ด้วย

ขณะที่การตอบสนองจากภาครัฐ เมื่อนายกฯปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงพื้นที่ และเกิดเหตุระเบิดซ้ำขึ้นอีก (โรงงานอดิตยาเบอร์ล่า เคมิคัลส์ ในนิคมฯ เหมราช) กล่าวยืนยันว่า จะต้องวางแผนไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการในลักษณะไตรภาคี มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นิคมอุตสาหกรรมฯ และภาคประชาชน ขึ้นมาทำงานและไปร่วมกันดูแลสภาพอากาศในพื้นที่ดังกล่าว และหากมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นจะต้องรายงานโดยตรงต่อรัฐบาล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน และให้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน สำรวจรอบชุมชนเพื่อให้มั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับอากาศบริสุทธิ์ไม่ตกค้าง

โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปประเมินร่วมกับผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทุก 3 เดือน พร้อมกับประเมินสารโทลูอีน และสารที่ติดไฟง่ายทั้งหมด จะบูรณาการแผนฉุกเฉิน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและชุมชนในพื้นที่

และต่อมาวันที่ 8 พ.ค.2555 ในการประชุมวางแผนป้องกันเหตุที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ระหว่าง นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายประทีป เอ่งฉ้วน ผอ.สำนักงานการนิคมฯมาบตาพุด นายถวิล โพธิบัวทอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด นายธวัช บัวจีบ รองนายกเทศมนตรีฯ และผู้แทนชุมชนทั้ง 3 ชุมชน รายรอบนิคมฯ มีข้อสรุปว่า เบื้องต้นจะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ETC) ขึ้นที่สำนักงานเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อเป็นศูนย์ประสานด้านข่าวสาร และการอพยพช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยจะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
 
พร้อมกันนั้นจะเสนอของบประมาณ จำนวน 70 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพร้อมจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับสารเคมี พร้อมทั้งเครื่องมือเผชิญเหตุ และเครื่องมือในการแจ้ง และรับข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มเครื่องตรวจวัดอากาศที่มีมาตรฐานสากลในจุดเสี่ยงทั้งหมด 5 แห่ง มูลค่า 50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯระยอง รับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือว่า มาตรการที่เคยมี ล้มเหลวในทุกด้าน

จากมาตรการดังกล่าว และการเดินเครื่องในการแก้ไขปัญหามลพิษที่ตามมาหลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ไม่รู้ว่า จากนี้ไปจะเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่...หรือแค่เป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ จบเรื่องแล้ว ก็แล้วกันไป คงต้องตามดูกันต่อไป
บางส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุระเบิด
นายกฯลงพื้นที่ ตรวจสอบโรงงานและเยี่ยมผู้บาดเจ็บ พร้อมบอกว่า จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก และให้บูรณาการแผนฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะปฏิบัติจริงได้แค่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น