xs
xsm
sm
md
lg

TDRIเสนอ3ทางเลือกแก้ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวั น - ทีดีอาร์ไอประเมินผลกระทบปรับค่าแรงจะกระทบกับภาคธุรกิจและสร้างความอึดอัดกับฝ่ายแรงงาน เสนอ 3 ทางเลือกผ่อนคลายความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และสร้างความเป็นธรรมกับลูกจ้าง ด้านสวนดุสิตโพล แรงงาน 44.45% รับปีนี้ความเป็นอยู่แย่กว่าปีที่แล้ว 60.75%หนักใจสินค้า ค่าครองชีพแพง 60.15% เน้นประหยัด อดออม วางแผนใช้จ่าย 45.88% แนะรัฐขึ้นค่าจ้างอีกให้เหมาะสม 43.26% ชี้ 2 ยุคดูแลพอๆ กัน 25.53% ยังโว "ยิ่งลักษณ์" ช่วยดีกว่า "อภิสิทธิ์"

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการประเมินผลกระทบนโยบายของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลได้เดินหน้ามีผลบังคับใช้แล้วบางส่วน โดยในส่วนค่าแรง 300 บาท เพิ่มให้แล้ว 40%ทั่วประเทศทำให้พื้นที่ 7 จังหวัดได้ค่าจ้าง 300 บาท และจะปรับอีกครั้งในเดือนมกราคม 2556 จึงจะทำให้ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่การมีค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศแล้วจะไม่ให้มีการปรับไปอีก 2 ปี(2557-2558)นั้นอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อถ่วงดุลด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทุกปีจะทำให้ค่าจ้างแท้จริง(ค่าจ้างเป็นตัวเงินปรับด้วยค่าครองชีพ)มีมูลค่าน้อยกว่า 300 บาท หากไม่มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพในแต่ละปีจะทำให้แรงงานจนลง

จากผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายได้รับแตกต่างกันไป นำมาสู่การเสนอทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบ มีเวลาให้นายจ้างปรับตัวและลูกจ้างได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม มีเหตุผล ลดการเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างทุกปี โดยการศึกษาเสนอให้นำผลการคาดการณ์ภาวะค่าครองชีพ หรือ CPI ของกระทรวงพาณิชย์(ซึ่งทำทุกปี) ในแต่ละจังหวัดมาใช้เป็นฐานในการพิจารณาเนื่องจาก สิ่งที่คาดการณ์คือในปี 2556 การปรับขึ้นค่าจ้างจะมีปัญหาทั้งใน 7 จังหวัดที่ขึ้นไปก่อนแล้ว กับ 70 จังหวัดที่กำลังจะได้เป็น 300 บาท โดยหลายจังหวัดในรอบที่สองก็จะเกิดการช็อกเหมือนเจอแผ่นดินไหวอีกครั้งและจะใหญ่กว่าเนื่องจากจะเป็นการปรับขึ้นในอีก 70 จังหวัดที่มีค่าจ้างห่างจาก 300 บาทมาก ขณะที่ 7 จังหวัดที่ปรับไปก่อนหากไม่มีการปรับเพิ่มด้วยค่าครองชีพก็จะทำให้อำนาจซื้อเขาลดลงไป

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากยืนตามนโยบายรัฐบาลจะทำให้ในปี 2556 ทุกจังหวัดจะมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และให้ค่าจ้างคงที่ไปอีก 2 ปีจนถึงปี 2558 จากกรณีฐานดังกล่าวทีดีอาร์ไอประเมินว่า อำนาจซื้อจากเงิน 300 บาทจะลดลงไปพอๆกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 299 บาท โดย 7 จังหวัดแรกที่ได้ขึ้นค่าจ้างไปก่อนจะเสียเปรียบกว่าโดยกรุงเทพฯเหลือ 293 บาท นครปฐมเหลือ 290 บาท ปทุมธานีเหลือ 292 บาท นนทบุรี สมุทรปราการและภูเก็ตเหลือ 289 บาท สุดท้ายสมุทรสาครเหลือ 287 บาท

ดังนั้นในปี 2556 ยังมีแนวทาง ที่ทำให้ลูกจ้างไม่จนลง นายจ้างมีเวลาปรับตัว จึงเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ

ทางเลือกที่ 1 ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 2 งวด เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจที่มีต้นทุนค่าแรงสูง และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยปี 2556 ขึ้นค่าจ้าง 27-55 บาท เพิ่มอีก 18 จังหวัด จากจังหวัดที่มีความเป็นไปได้ในทุกภูมิภาคก่อน เมื่อรวม 7 จังหวัดเดิมที่ได้ขึ้นไปก่อนในรอบแรกจะทำให้มี 25 จังหวัดที่มีค่าจ้าง 300 บาท จากนั้นในปี 2557 ขึ้นค่าจ้าง 56-78 บาทให้กับอีก 52 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ในปี 2557 มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจังหวัดที่เคยขึ้นค่าจ้างไปก่อนหน้านี้แล้วก็ต้องมีการปรับค่าครองชีพให้โดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 4% ใน2 ปีข้างหน้าค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556จะเป็น 312 บาทและในปี 2557 จะเป็น 324 บาท เป็นต้น การนำค่าครองชีพมาพิจารณาในการปรับก็เพียงเพื่อทำให้แรงงานไม่ต้องยากจนลงกว่าปีก่อนเท่านั้น ยังมิได้พิจารณาผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนายจ้างก็ควรเพิ่มในส่วนของการเพิ่มเงินเดือนให้ได้อีก

“ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกขั้นต่ำสุดที่จะไม่ทำให้แรงงานที่เคยปรับ 300 บาทไปแล้วไม่ยากจนลงไปกว่าเดิม โดยทุกจังหวัดจะปรับตามค่าครองชีพทุกปี ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดที่เคยขึ้นค่าจ้างไปแล้ว และในปี 2557 จังหวัดในกลุ่มค่าจ้างต่ำสุดจะมีค่าจ้างครบ 300 บาท ตามสัญญาที่หาเสียงไว้กับประชาชน และเป็นทางเลือกที่ผ่อนคลายสำหรับผู้ประกอบการ และเน้นอำนาจซื้อของแรงงานที่เท่ากันทั้งประเทศ”

ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่ไม่เข้มงวดเหมือนทางเลือกแรก โดยให้ขึ้นค่าจ้างครั้งเดียว 40% (เพิ่มไปแล้วในปี 2555) และทุกปีก็ให้ปรับขึ้นตามดัชนีค่าครองชีพ แต่พบว่าต้องใช้เวลาถึง 10 ปี (2556-2565) จึงจะทำให้จังหวัดอ่างทองจะเป็นจังหวัดสุดท้ายที่ได้ค่าจ้างถึง 300 บาท (ที่จริงอยู่ที่ 304 บาท) โดยทางเลือกนี้จะมีลำปางที่มีค่าจ้างสูงสุด 564 บาท (ในปี 2565) ส่วนกรุงเทพฯจะมีค่าจ้างเพียง 431 บาท แต่ถ้าผู้ประกอบการใช้คุณภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานปรับเพิ่มให้ก็อาจใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี ที่ทุกจังหวัดจะมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน

ทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่กำหนดขึ้นตามแนวทางข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรมแห่งประเทศไทย เพื่อขอเลื่อนการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเป็น มกราคม 2558 หรือเลื่อนไปอีก 3 ปี โดยทุกจังหวัดที่เคยขึ้นเงินเดือน 40% ของค่าจ้างของแต่ละจังหวัด จะต้องปรับค่าครองชีพ(CPI)ให้กับแต่ละจังหวัดโดยอัตโนมัติ ตามการคาดการณ์ของกะทรวงพาณิชย์(แต่ละจังหวัดจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามฐานเงินเดือนที่แตกต่างกัน) จากนั้นในปี 2558 ทุกจังหวัดจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันครบทุกจังหวัด โดยแนวทางนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 35%ของจังหวัดที่เคยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 40% ไปก่อนในปี 2555 และได้มีการปรับค่าครองชีพมาแล้วทุกปี

ข้อดีของทางเลือกที่ 3 นี้คือจังหวัดที่ได้รับไปแล้วจะไม่จนลง เจ้าของกิจการมีการปรับตัวอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีเวลาคิดในเรื่องการปรับโครงสร้างค่าจ้างของคนเดิมให้สอดคล้องกันในแต่ละปี และไม่ต้องใช้เงินมากในปีเดียวในการขึ้นเงินเดือนสูงสุด(ในบางจังหวัด)ถึง 35% แนวทางนี้ยังมีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยกว่า โดยช่วงเงินที่ต้องปรับ(ยกเว้น 7 จังหวัดที่ได้ไปก่อนในปี 2555) คือ 2-20 บาทใน 9 จังหวัด 21-40 บาทใน 34 จังหวัด 41-58 บาทใน 27 จังหวัด จึงจะครบ 100% และเท่ากันหมดทั้งประเทศ แนวทางนี้นายจ้างจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อจะใช้ในการปรับเพิ่มตาม CPIทุกปี เท่านั้น

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า แนวทางดังกล่าวก็เพื่อลดความอึดอัดของฝ่ายแรงงานที่หากไม่มีการปรับเลยให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างที่เขาได้ 300 บาทไม่เพียงพอดำรงชีพอยู่ดี ในแง่แรงงานจึงเป็นข้อเสนอที่จะทำให้เขาอยู่ได้ ไม่จนลง เพราะเขาก็จะได้ปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างกลางว่าจะนำแนวทางนี้มาใช้หรือไม่ หากนำมาใช้ก็จะช่วยลดการเรียกร้องของแรงงานในเรื่องนี้ และทำให้นายจ้างมีเวลาปรับตัวพอสมควร

*** โพลเผยชีวิตแรงงานปี 55 แย่

วันนี้ (30 เม.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานไทยตามจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 1,440 คน เปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยในปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า 44.45% ปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา เพราะ ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ต้องนำเงินไปซ่อมแซมหรือช่วยเหลือที่บ้าน ,ค่าครองชีพสูงขึ้น ฯลฯ 31.94% เหมือนๆเดิม เพราะเงินเดือน ค่าจ้างรายวันยังเท่าเดิม ,รายได้กับรายจ่ายพอๆกัน มีกินใช้ไปวันๆ ฯลฯ และ 23.61% ปีนี้ดีกว่าที่ปีผ่านมา เพราะ เงินเดือนขึ้น ค่าจ้างเพิ่ม ได้เลื่อนตำแหน่ง ,ภาระครอบครัวลดลง ลูกเรียนจบมีงานทำ ฯลฯ

เมื่อถามถึงความหนักใจ ของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ 60.75% สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น 29.74% เงินไม่พอใช้ เงินเดือน ค่าจ้างที่ได้ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน 5.70% ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการดำรงชีวิตประจำวัน และ 3.81% สวัสดิการ การคุ้มครองดูแลต่างๆให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น

เมื่อถามว่า ผู้ใช้แรงงานไทย ควรทำอย่างไร ชีวิตความเป็นอยู่จึงจะดีขึ้น 60.15% ประหยัด อดออม มีการวางแผนในการใช้จ่าย อยู่อย่างพอเพียง 23.43%ขยัน ทำงานเยอะๆ ไม่เลือกงาน 9.38% ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ และ 7.04%ตัดในเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน ส่วนรัฐบาล ควรทำอย่างไร ชีวิตความเป็นอยู่ของ ผู้ใช้แรงงานไทย จึงจะดีขึ้นนั้น 45.88% ขึ้นเงินเดือน ค่าจ้าง และดูแลสวัสดิการต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน 39.41%ควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาของแพง จัดงานธงฟ้า ลดค่าสาธารณูปโภค 7.64% ควบคุมดูแลนายจ้างหรือผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบแรงงานไทย การจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย และ7.07% มีการจัดฝึกอบรมแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ จัดหางานให้แก่ผู้ว่างงานหรือตกงาน

เมื่อเปรียบเทียบการดูแลผู้ใช้แรงงานระหว่าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์” กับ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นอย่างไร 43.26% ดูแลพอๆกัน เพราะ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นฐานเสียงที่สำคัญ การดูแลช่วยเหลือต่างๆจะพิจารณาจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ฯลฯ 25.53% รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดูแลดีกว่า เพราะ มีความเข้าใจและเข้าถึงประชาชนระดับรากหญ้าหรือผู้ใช้แรงงานมากกว่า ,มีนโยบายขึ้นเงินเดือน ค่าแรงที่ชัดเจน ฯลฯ 16.32%ไม่ดูแลพอๆกัน เพราะ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิม , ดีแต่พูด ฯลฯ 14.89%รัฐบาลอภิสิทธิ์ ดูแลดีกว่าเพราะ มีโครงการส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานโครงการแรงงานคืนถิ่น ,การปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น ของในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น