xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยม “ค่าจ้าง” ปรับอย่างไรไม่จนลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอประเมินผลกระทบนโยบายปรับค่าแรงของรัฐบาล และแนวทางในปี 2556 จะมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และไม่มีการขึ้นไปอีก 2 ปี จะมีผลกระทบกับภาคธุรกิจและสร้างความอึดอัดกับฝ่ายแรงงาน เสนอ 3 ทางเลือกผ่อนคลายความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และสร้างความเป็นธรรมกับลูกจ้างด้วยการนำดัชนีค่าครองชีพมาปรับเพิ่มเติมให้ทุกปีเพื่อไม่ให้แรงงานจนลง

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการประเมินผลกระทบนโยบายของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลได้เดินหน้ามีผลบังคับใช้แล้วบางส่วน โดยในส่วนค่าแรง 300 บาท เพิ่มให้แล้ว 40% ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่ 7 จังหวัด ได้ค่าจ้าง 300 บาท และจะปรับอีกครั้งในเดือนมกราคม 2556 จึงจะทำให้ทุกจังหวัดมีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่การมีค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศแล้ว จะไม่ให้มีการปรับไปอีก 2 ปี (2557-2558) นั้น อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงาน เพราะเมื่อถ่วงดุลด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทุกปีจะทำให้ค่าจ้างแท้จริง (ค่าจ้างเป็นตัวเงินปรับด้วยค่าครองชีพ) มีมูลค่าน้อยกว่า 300 บาท หากไม่มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพในแต่ละปีจะทำให้แรงงานจนลง

จากผลกระทบด้านต่างๆ ที่ทุกฝ่ายได้รับแตกต่างกันไป นำมาสู่การเสนอทางเลือกที่สามารถลดผลกระทบ มีเวลาให้นายจ้างปรับตัวและลูกจ้างได้รับค่าจ้างอย่างเหมาะสม มีเหตุผล ลดการเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างทุกปี โดยการศึกษาเสนอให้นำผลการคาดการณ์ภาวะค่าครองชีพ หรือ CPI ของกระทรวงพาณิชย์ (ซึ่งทำทุกปี) ในแต่ละจังหวัดมาใช้เป็นฐานในการพิจารณาเนื่องจาก สิ่งที่คาดการณ์ คือ ในปี 2556 การปรับขึ้นค่าจ้างจะมีปัญหาทั้งใน 7 จังหวัดที่ขึ้นไปก่อนแล้ว กับ 70 จังหวัดที่กำลังจะได้เป็น 300 บาท โดยหลายจังหวัดในรอบที่สองก็จะเกิดการช็อกเหมือนเจอแผ่นดินไหวอีกครั้ง และจะใหญ่กว่า เนื่องจากจะเป็นการปรับขึ้นในอีก 70 จังหวัดที่มีค่าจ้างห่างจาก 300 บาทมาก ขณะที่ 7 จังหวัดที่ปรับไปก่อนหากไม่มีการปรับเพิ่มด้วยค่าครองชีพก็จะทำให้อำนาจซื้อเขาลดลงไป

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากยืนตามนโยบายรัฐบาลจะทำให้ในปี 2556 ทุกจังหวัดจะมีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และให้ค่าจ้างคงที่ไปอีก 2 ปี จนถึงปี 2558 จากกรณีฐานดังกล่าวทีดีอาร์ไอประเมินว่า อำนาจซื้อจากเงิน 300 บาท จะลดลงไปพอๆกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 299 บาท โดย 7 จังหวัดแรกที่ได้ขึ้นค่าจ้างไปก่อนจะเสียเปรียบกว่าโดยกรุงเทพฯเหลือ 293 บาท นครปฐมเหลือ 290 บาท ปทุมธานีเหลือ 292 บาท นนทบุรี สมุทรปราการ และ ภูเก็ต เหลือ 289 บาท สุดท้ายสมุทรสาครเหลือ 287 บาท

ดังนั้น ในปี 2556 ยังมีแนวทางที่ทำให้ลูกจ้างไม่จนลง นายจ้างมีเวลาปรับตัว จึงเสนอทางเลือกที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ ทางเลือกที่ 1 ปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 2 งวด เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจที่มีต้นทุนค่าแรงสูง และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยปี 2556 ขึ้นค่าจ้าง 27-55 บาท เพิ่มอีก 18 จังหวัด จากจังหวัดที่มีความเป็นไปได้ในทุกภูมิภาคก่อน เมื่อรวม 7 จังหวัดเดิมที่ได้ขึ้นไปก่อนในรอบแรกจะทำให้มี 25 จังหวัดที่มีค่าจ้าง 300 บาท จากนั้นในปี 2557 ขึ้นค่าจ้าง 56-78 บาทให้กับอีก 52 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ในปี 2557 มีค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน จังหวัดที่เคยขึ้นค่าจ้างไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องมีการปรับค่าครองชีพให้โดยอัตโนมัติ เช่น ถ้าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 4% ใน 2 ปีข้างหน้าค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2556 จะเป็น 312 บาท และในปี 2557 จะเป็น 324 บาท เป็นต้น การนำค่าครองชีพมาพิจารณาในการปรับก็เพียงเพื่อทำให้แรงงานไม่ต้องยากจนลงกว่าปีก่อนเท่านั้น ยังมิได้พิจารณาผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนายจ้างก็ควรเพิ่มในส่วนของการเพิ่มเงินเดือนให้ได้อีก

“ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกขั้นต่ำสุดที่จะไม่ทำให้แรงงานที่เคยปรับ 300 บาทไปแล้วไม่ยากจนลงไปกว่าเดิม โดยทุกจังหวัดจะปรับตามค่าครองชีพทุกปี ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดที่เคยขึ้นค่าจ้างไปแล้ว และในปี 2557 จังหวัดในกลุ่มค่าจ้างต่ำสุดจะมีค่าจ้างครบ 300 บาท ตามสัญญาที่หาเสียงไว้กับประชาชน และเป็นทางเลือกที่ผ่อนคลายสำหรับผู้ประกอบการ และเน้นอำนาจซื้อของแรงงานที่เท่ากันทั้งประเทศ”

ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่ไม่เข้มงวดเหมือนทางเลือกแรก โดยให้ขึ้นค่าจ้างครั้งเดียว 40% (เพิ่มไปแล้วในปี 2555) และทุกปีก็ให้ปรับขึ้นตามดัชนีค่าครองชีพ แต่พบว่าต้องใช้เวลาถึง 10 ปี (2556-2565) จึงจะทำให้จังหวัดอ่างทองจะเป็นจังหวัดสุดท้ายที่ได้ค่าจ้างถึง 300 บาท (ที่จริงอยู่ที่ 304 บาท) โดยทางเลือกนี้จะมีลำปางที่มีค่าจ้างสูงสุด 564 บาท (ในปี 2565) ส่วนกรุงเทพฯจะมีค่าจ้างเพียง 431 บาท แต่ถ้าผู้ประกอบการใช้คุณภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานปรับเพิ่มให้ก็อาจใช้เวลาประมาณ 4-6 ปี ที่ทุกจังหวัดจะมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน

ทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่กำหนดขึ้นตามแนวทางข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อขอเลื่อนการดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศเป็น มกราคม 2558 หรือเลื่อนไปอีก 3 ปี โดยทุกจังหวัดที่เคยขึ้นเงินเดือน 40% ของค่าจ้างของแต่ละจังหวัด จะต้องปรับค่าครองชีพ (CPI) ให้กับแต่ละจังหวัดโดยอัตโนมัติ ตามการคาดการณ์ของกะทรวงพาณิชย์ (แต่ละจังหวัดจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างตามฐานเงินเดือนที่แตกต่างกัน) จากนั้นในปี 2558 ทุกจังหวัดจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันครบทุกจังหวัด โดยแนวทางนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 35% ของจังหวัดที่เคยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 40% ไปก่อนในปี 2555 และได้มีการปรับค่าครองชีพมาแล้วทุกปี

ข้อดีของทางเลือกที่ 3 นี้ คือ จังหวัดที่ได้รับไปแล้วจะไม่จนลง เจ้าของกิจการมีการปรับตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีเวลาคิดในเรื่องการปรับโครงสร้างค่าจ้างของคนเดิมให้สอดคล้องกันในแต่ละปี และไม่ต้องใช้เงินมากในปีเดียวในการขึ้นเงินเดือนสูงสุด (ในบางจังหวัด) ถึง 35% แนวทางนี้ยังมีผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อน้อยกว่า โดยช่วงเงินที่ต้องปรับ (ยกเว้น 7 จังหวัดที่ได้ไปก่อนในปี 2555) คือ 2-20 บาทใน 9 จังหวัด 21-40 บาท ใน 34 จังหวัด 41-58 บาทใน 27 จังหวัด จึงจะครบ 100% และเท่ากันหมดทั้งประเทศ แนวทางนี้นายจ้างจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อจะใช้ในการปรับเพิ่มตาม CPI ทุกปี เท่านั้น

ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า แนวทางดังกล่าวก็เพื่อลดความอึดอัดของฝ่ายแรงงานที่หากไม่มีการปรับเลยให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าจ้างที่เขาได้ 300 บาท ไม่เพียงพอดำรงชีพอยู่ดี ในแง่แรงงานจึงเป็นข้อเสนอที่จะทำให้เขาอยู่ได้ ไม่จนลง เพราะเขาก็จะได้ปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างกลางว่าจะนำแนวทางนี้มาใช้หรือไม่ หากนำมาใช้ก็จะช่วยลดการเรียกร้องของแรงงานในเรื่องนี้ และทำให้นายจ้างมีเวลาปรับตัวพอสมควร
กำลังโหลดความคิดเห็น