xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานต่างด้าวพม่าเรียกร้องขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่ได้อาจกลับ ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แรงงานต่างด้าวพม่าในไทยเรียกร้องนายจ้างปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเช่นเดียวกับแรงงานไทยในวันที่ 1 มกราคม 2556 ชี้ถ้าไม่ได้อาจมีแรงงานพม่ากลับประเทศเพราะค่าครองชีพในไทยสูงขึ้นมาก ด้านประธานหอการค้า จ.ระนองวอนรัฐเลื่อนขึ้นค่าแรงเป็นปี 2558 ไม่เห็นด้วยแรงงานต่างด้าวได้ค่าแรง 300 บาท

นายแซ มา แรงงานต่างด้าวชาวพม่าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวชาวพม่าในไทยกำลังประสานกับเครือข่ายสมาพันธ์แรงงานต่างด้าวในประเทศพม่า เพื่อให้ประสานกับนายจ้างให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่แรงงานพม่าที่ทำงานอยู่ในระบบกว่า 4 ล้านคนในประเทศไทยเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทด้วย จากเดิมที่ลูกจ้างพม่าจะได้รับในอัตราเฉลี่ย 150-220 บาทต่อวัน และขอให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ เพราะตามสิทธิแล้วแรงงานชาวพม่าก็ควรได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงานของไทยด้วย อีกทั้งจะเห็นว่าปัจจุบันค่าครองชีพในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รายได้ที่เคยได้รับต่ำกว่ารายจ่าย หากนายจ้างไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าวได้

ด้านนางนฤมล ขรภูมิ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ภาคเอกชน ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดระนอง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง สมาคมผู้ประกอบการประมงระนอง สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ระนอง ยังยืนตามเจตนารมณ์เดิมที่เคยยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระนองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อร้องขอให้ชะลอการปรับค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ที่วันที่ 1 มกราคม 2556 ไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2558 เฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยเท่านั้น ส่วนแรงงานต่างด้าวยังไม่เห็นด้วยที่จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับแรงงานไทย

นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง กล่าวว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในเขตพื้นที่ จ.ระนองปัจจุบันควรอยู่ที่ 220-230 บาท หากสูงกว่านั้นผู้ประกอบการคงจะไม่สามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะการปรับเพดานค่าจ้างแท้จริงไม่ใช่ว่าการปรับค่าจ้างในองค์กรใดองค์กรหนึ่งแล้วทุกอย่างจะจบ แต่จะเกี่ยวเนื่องไปยังทุกภาคส่วน

นายสุวรรณ์ ดวงตา หัวหน้าสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ประเด็นที่นายจ้างทั่วไปวิตกกรณีที่คนงานอาจจะกลับไปทำงานภาคเกษตรกรรมนั้น สำหรับ จ.สมุทรสาครมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาแรงงานไหลออกไป เนื่องจากที่ผ่านมานายจ้างใน จ.สมุทรสาครได้ปรับสภาพการจ้างและเพิ่มค่าจ้างเกินกว่า 300 บาทแล้ว บางรายได้รับถึงวันละ 350-480 บาทเพื่อเป็นการจูงใจให้แรงงานไม่กลับถิ่นของตนเอง ส่วนที่มีการคาดการณ์กันว่าในเดือนธันวาคมนี้จะมีนายจ้างเลิกจ้างงานก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเพื่อเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยตามอัตราค่าจ้างใหม่นั้น จังหวัดยังไม่พบว่ามีนายจ้าง หรือสถานประกอบการเลิกจ้างแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการจ่ายค่าจ้าง 300 บาท มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และพบว่าภาคอุตสาหกรรมยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น