ผู้นำฝ่ายค้านหนุน “นายกฯ ปู” เยือนจีนสานต่อรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อมีการลงทุนร่วม เห็นพ้องทีดีอาร์ไอระบุค่าแรง 300 บาทต่อวันกระทบธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก จี้รัฐดูแลประกันภัยพิบัติ ห่วงเพิ่มภาระชาวบ้าน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนประเทศจีนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงของการประชุมรัฐสภาว่า เรื่องนี้อาจจะกำหนดเอาไว้ก่อนการขยายเวลาประชุมสภา แต่สังเกตว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ค่อยเข้าร่วมประชุม ในเวลาที่มีการหารือเรื่องความปรองดอง หรือการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่ความจริงก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง
ส่วนในการเดินทางไปจีนครั้งนี้อาจจะมีการลงทุนร่วมโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่เราสนับสนุน และพยายามผลักดันให้มี และเมื่อมีเวลาลงทุนร่วมต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถยกเว้นได้ แต่ในเวลานี้เบื้องต้นต้องดูแลปัญหาของประชาชน เรื่องค่าครองชีพ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องในระยะเวลาอันสั้น โครงการพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ้างงานได้หรือไม่นั้น ก็ต้องดูไปเป็นโครงการๆไป เพราะหลายโครงการใช้เครื่องจักรมาก ไมได้ใช้แรงงานมาก ก็ต้องดูว่าผลตอบแทนทางสังคมหรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ส่วนที่ทีดีอาร์ไอออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวันจะเป็นการช็อกเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างที่ได้พูดไปว่า ฝ่ายผู้ประกอบการต้องการสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร และจะหามาตรการบรรเทาและชดเชยอย่างไร แต่เท่าที่เห็นรัฐบาลยังไม่ได้ตอบสนองในข้อเรียกร้อง และเรื่องนี้อาจจะกระทบธุรกิจในขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้นทุนจะสูงขึ้น และจะส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น ได้ยินเสียงจากหลายอุตสาหกรรมว่าไม่สามารถแบกรับตรงนี้ได้ และอาจจะกดดันเงินเฟ้อ ร่วมกับพลังงานที่เพิ่มขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่บริษัทประกันภัยอาจจะปรับอัตราการประกันภัยใหม่เพิ่มขึ้นว่า ต้องไปดูว่าเมื่อหลักการมีความเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจะทำอย่างไร มีการแบ่งเบาภาระของประชาชนหรือไม่ อย่างไร เช่น การตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติขึ้นมา อาจจะต้องเพิ่มการช่วยเหลือประชาชน ที่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในขณะนี้ ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่เรื่องอุทกภัยเพียงอย่างเดียว ส่วนการรับมือภัยพิบัติก็ต้องดูตามรอยเลื่อนที่อาจจะเป็นปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือ การไปดูโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องมีมาตรการความปลอดภัยรองรับ ส่วนการรับมืออุทกภัยขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาล ยังไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการรับมือต่างจากเดิมอย่างไร รัฐบาลต้องเร่งทำงานตรงนี้ด้วย