xs
xsm
sm
md
lg

"ปู-โต้ง"พล่านแจงเงินเดือนป.ตรี งบฯวูบปีละ5หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้อนุมัติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 ซึ่งข้าราชการที่จบปริญญาตรี จะได้รับรายได้ 15,000บาท โดยจะเป็นเงินจากเงินเดือนและค่าครองชีพชั่วคราว
ส่วนมติครม. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นมติปรับฐานเงินเดือน แต่หากถามว่าทำไมต้องใช้เวลา 2 ปี เพราะว่าเป็นการปรับตัวเลขฐาน ซึ่งเดิมที่ฐานเงินเดือนระดับปริญญาจะไม่ถึง 15,000 บาท ซึ่งจะมีเงินค่าครองชีพชั่วคราวเข้ามาเสริม แต่หลังจากนี้จะมีการปรับเป็น 14,000และ 15,000 บาท โดยจะเป็นการทำตามขั้นตอนให้ครบในระบบนี้ ซึ่งเป็นการเรียกว่า ประกาศใช้ตัวเลขเงินเดือนอย่างเป็นทางการ เพราะหากมีการปรับเงินเดือนขึ้นในคราวเดียวจะส่งผลให้ภาคเอกชน หรือภาคอื่นๆ ที่ยึดฐานเงินเดือนของข้าราชการอ้างอิง ก็จะต้องปรับให้ฐานเหมือนกัน ซึ่งจะต้องอาศัยระยะเวลา ส่วนการรับเงินเดือน 15,000 บาทของข้าราชการได้ให้ครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
“เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน รัฐบาลไม่ได้ปรับลดรายได้ปริญญาตรี 15,000บาท เพราะข้อเท็จจริง เราทำไปหมดแล้วในรูปแบบของเงินเดือนรวมกับเงินค่าครองชีพชั่วคราว แต่หลังจาก 2 ปี ก็จะไม่มีค่าครองชีพชั่วคราว และจะเป็นการปรับเข้าสู่ฐานเงินเดือน 15,000บาท” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท รัฐบาลได้มีการติดตามและประเมินผลอยู่ และกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการอะไรบ้างที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็อยากจะให้ธุรกิจมีการปรับตัว และเห็นใจผู้ใช้แรงงาน ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า การปรับฐานเงินเดือนในลักษณะนี้ เป็นการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาคเอกชนมากเกินไป และให้มีเวลาปรับตัว ระยะเวลาการดำเนินการจึงเป็นปี 2555 2556 และ 2557 โดยฐานเงินเดือนจะดูแลตั้งแต่วุฒิ ปวช. จนถึงปริญญาเอก
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มองในแง่ของคนที่จะมุ่งไปเรียนแต่ที่วุฒิปริญญาตรี เพื่อรับเงินเดือน 15,000บาท มากกว่าไปเรียนสายวิชาชีพ หรือไม่ นายนนทิกร กล่าวว่า ได้มีการปรับในฐานของ ปวช. ปวส. ด้วย ซึ่งในปี 2557 วุฒิ ปวส.จะมีอัตราเงินเดือนประมาณ 11,500 บาท ซึ่งจะมีระยะห่างไล่กันไป

** กระทบงบฯปีละ 5 หมื่นล้าน

ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ครม.ได้มีการพิจารณาโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการจริง แต่ไม่ได้เลื่อนการปรับขึ้นเงินเดือนออกไปเป็นปี 2557 เพราะเงินเดือนข้าราชการแรกเข้า 15,000 บาท ได้มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 แต่มติครม. วันที่ 10 เม.ย.55 เป็นการปรับโครงสร้างเงินเดือนของผู้จบ ป.ตรี รวมถึง ป.โท และ ป.เอก ให้มีความสอดคล้องกัน รวมถึงปรับให้กับข้าราชการที่ทำงานมานาน
"หากข้าราชการมีการปรับเงินเดือนพร้อมๆ กันทั้งหมด ทั้งข้าราชการใหม่ และข้าราชการที่ทำงานอยู่แล้ว รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 50,000 ล้านบาท เป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไป จึงต้องทยอยปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการแต่ละกลุ่ม เพื่อดูแลบริหารงบประมาณให้เหมาะสม"นายกิตติรัตน์กล่าว
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเสริมว่า การปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.นั้น ในปี 2555 ผู้จบระดับปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนเดิมพร้อมกับเงินเพิ่มค่าครองชีพ เพื่อให้ได้ระดับ 15,000 บาท จากนั้นในปี 2556 อัตราเงินเดือนจะปรับเพิ่มขึ้น และจะทยอยปรับเงินค่าครองชีพลง จากนั้นในปี 2557 เงินเดือนข้าราชการก็จะมีการจ่ายเต็มอัตรา โดยไม่มีค่าครองชีพ เพื่อรับเงินเดือนที่ 15,000 บาท
วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการว่า การปรับเงินเดือนข้าราชการวุฒิป.ตรี ที่ให้สัญญาไว้ก็ล้มเหลว นโยบายแท็บเล็ตก็ล้มเหลว เรียกว่า แท้งทั้งแผ่นดิน เพราะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากรัฐบาลสนใจแต่การเมือง สนใจนิรโทษกรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชน จึงอยากให้รัฐบาลกลับมาเอาใจใส่ประชาชน ลดระดับความสำคัญของตัวเองและพวกพ้อง เพิ่มระดับความสำคัญให้กับประชาชน ส่วนผลประโยชน์ของพวกพ้อง รอให้ประชาชนคลายความกังวลค่าครองชีพก่อนค่อยไปตอบโจทย์ประเด็นการเมือง เพราะฝ่ายค้านต้องการส่งสัญญาณเตือนให้รัฐบาลเห็นว่าอะไรสำคัญต่อการบริหารประเทศ
"ในภาวะที่รายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่สินค้าปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลไม่ยอมทบทวนนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม คือ เงินเฟ้อพุ่งสูงพร้อมกับปัญหาเงินฝืด เพราะสินค้าราคาแพง แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น และเห็นว่า ปัญหายังอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ เพราะสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี มีเครื่องมือครบ สถานะทางการเงินไม่เป็นอุปสรรค สิ่งเดียวที่เป็นปัญหา คือ รัฐบาลไม่มีหัวใจดูแลประชาชน"นายกรณ์กล่าว
ส่วนการดำเนินโครงการ "ของถูกสู้แพงทั้งแผ่นดิน" ซึ่งมีการจัดหาสินค้าจำเป็น 6 รายการไปจำหน่ายให้ชาวกรุงเทพฯ ในราคาต้นทุนนั้น ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี แม้จะไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ส่วนหนึ่ง และยังกระตุ้นให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยใช้วิธีการที่ไม่ต้องนำเงินภาษีประชาชนมาจ่าย ด้วยการเป็นคนกลางนำสินค้าจากผู้ผลิตไปถึงมือประชาชน ตัดภาระต้นทุนด้านการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

** โพลชี้ปรับค่าแรง 300 ปชช.ยังต้องกู้

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นผู้ที่ได้รับค่าจ้าง เงินเดือนเพิ่ม หลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ตามที่ได้หาเสียงไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,206 คน ระหว่างวันที่ 5-10 เม.ย.55 เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย ของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” พบว่า ในเรื่องการใช้จ่ายหลังได้รับปรับขึ้นค่าจ้าง กลุ่มตัวอย่างเน้นไปที่เรื่อง อาหารการกิน ของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน 45.38 % ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่น เรื่องบ้าน รถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ 22.69 % ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน 10.08 % การผ่อนชำระหนี้ในระบบและนอกระบบ/แชร์ 8.40 % ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง/น้ำมัน 7.56 % เก็บออม, ทำบุญ, ส่งเงินให้ที่บ้าน ฯลฯ 5.89 %
ส่วนพฤติกรรมการเก็บออมของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่ม ณ วันนี้พบว่า ไม่ได้เก็บออม 44.65 % เพราะยังมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบที่ยังเคลียร์ไม่ได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ฯลฯ เก็บออมน้อยลง 36.90 % เพราะยังมีภาระในเรื่องที่จำเป็นต้องใช้จ่ายอยู่มาก เช่น ค่าเล่าเรียน การผ่อนชำระต่างๆ ฯลฯ เก็บออมมากขึ้น 18.45 % เพราะมีเงินเหลือออมเพิ่มขึ้นนิดหน่อย จำเป็นต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ฯลฯ
สำหรับพฤติกรรมการกู้หนี้ยืมสินของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่มพบว่า กู้หนี้ยืมสินมากขึ้น 37.72 % เพราะเงินไม่พอใช้ มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในเรื่องที่จำเป็น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ ไม่ได้กู้หนี้ยืมสินเลย 35.33 % เพราะไม่ชอบเป็นหนี้ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ยึดหลักพอเพียง มีเงินออมจากการทำงานไว้ใช้ในยามที่จำเป็น ฯลฯ กู้หนี้ยืมสินน้อยลง 26.95 % เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้หนี้ ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท นำเงินเก็บบางส่วนออกมาใช้ ฯลฯ
ด้านการซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบว่า เหมือนเดิม 70.31 % เพราะยังคงต้องใช้จ่ายในเรื่องของกินของใช้ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ชีวิตความเป็นอยู่ยังเหมือนเดิม ฯลฯ เปลี่ยนแปลงโดยลดลง 29.69 % เพราะจำเป็นต้องประหยัด รู้จักวางแผนในการใช้จ่าย เลือกซื้อของที่มีราคาถูกกว่ามาแทน ฯลฯ
ในเรื่องการซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับ น้ำหอม เครื่องสำอาง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบเปลี่ยนแปลงโดยลดลง 66.32 % เพราะ มีเรื่องจำเป็นอื่นมากกว่าที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซื้อเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้หรือในโอกาสสำคัญจริงๆ ฯลฯ เหมือนเดิม 33.68 % เพราะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เป็นการเสริมบุคลิกให้ดูดี ซื้อในช่วงที่มีการลดราคา ฯลฯ
ด้านการซื้อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว สังสรรค์ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบว่า เปลี่ยนแปลงโดยลดลง 57.17 % เพราะ มีภาระค่าใช้จ่ายอีกมาก ต้องการเก็บออมเงินหรือนำเงินไปใช้ในเรื่องอื่นที่จำเป็นมากกว่า ไปบ้างแต่ไม่บ่อยครั้ง ฯลฯ เหมือนเดิม 42.83 % เพราะมีการวางแผน ควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้แล้ว โดยส่วนตัวเป็นคนชอบความบันเทิงและการผ่อนคลาย ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น