xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ปรับค่าแรง 300 บาท ปชช.ยังต้องกู้หนี้ยืมสิน เหตุเงินไม่พอใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สวนดุสิตโพล” สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายประชาชนที่ได้ค่าจ้างเพิ่มวันละ 300 บาท พบ 45% เน้นเรื่องของกินของใช้ 44% ไม่คิดจะเก็บออม เพราะมีหนี้สินทั้งในและนอกระบบต้องเคลียร์ ขณะที่ 37% ยังต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะเงินไม่พอใช้จ่าย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นผู้ที่ได้รับค่าจ้าง เงินเดือนเพิ่ม หลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันตามที่ได้หาเสียงไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,206 คน ระหว่างวันที่ 5-10 เมษายน 2555 เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” พบว่า ในเรื่องการใช้จ่ายหลังได้รับปรับขึ้นค่าจ้าง กลุ่มตัวอย่างเน้นไปที่เรื่อง อาหารการกิน ของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน 45.38% ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่น เรื่องบ้าน รถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ 22.69% ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน 10.08% การผ่อนชำระหนี้ในระบบและนอกระบบ/แชร์ 8.40% ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง/น้ำมัน 7.56% เก็บออม, ทำบุญ, ส่งเงินให้ที่บ้าน ฯลฯ 5.89%

ส่วนพฤติกรรมการเก็บออมของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่ม ณ วันนี้พบว่า ไม่ได้เก็บออม 44.65% เพราะยังมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบที่ยังเคลียร์ไม่ได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ฯลฯ เก็บออมน้อยลง 36.90% เพราะยังมีภาระในเรื่องที่จำเป็นต้องใช้จ่ายอยู่มาก เช่น ค่าเล่าเรียน การผ่อนชำระต่างๆ ฯลฯ เก็บออมมากขึ้น 18.45% เพราะมีเงินเหลือออมเพิ่มขึ้นนิดหน่อย จำเป็นต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ฯลฯ

สำหรับพฤติกรรมการกู้หนี้ยืมสินของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่มพบว่า กู้หนี้ยืมสินมากขึ้น 37.72% เพราะเงินไม่พอใช้ มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในเรื่องที่จำเป็น เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ ไม่ได้กู้หนี้ยืมสินเลย 35.33% เพราะไม่ชอบเป็นหนี้ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ยึดหลักพอเพียง มีเงินออมจากการทำงานไว้ใช้ในยามที่จำเป็น ฯลฯ กู้หนี้ยืมสินน้อยลง 26.95% เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้หนี้ ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท นำเงินเก็บบางส่วนออกมาใช้ ฯลฯ

ด้านการซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น ของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่ม เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบว่า เหมือนเดิม 70.31% เพราะยังคงต้องใช้จ่ายในเรื่องของกินของใช้ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ชีวิตความเป็นอยู่ยังเหมือนเดิม ฯลฯ เปลี่ยนแปลงโดยลดลง 29.69% เพราะจำเป็นต้องประหยัด รู้จักวางแผนในการใช้จ่าย เลือกซื้อของที่มีราคาถูกกว่ามาแทน ฯลฯ

ในเรื่องการซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับ น้ำหอม เครื่องสำอาง ของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่ม เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบเปลี่ยนแปลงโดยลดลง 66.32% เพราะ มีเรื่องจำเป็นอื่นมากกว่าที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ซื้อเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้หรือในโอกาสสำคัญจริงๆ ฯลฯ เหมือนเดิม 33.68% เพราะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เป็นการเสริมบุคลิกให้ดูดี ซื้อในช่วงที่มีการลดราคา ฯลฯ

ด้านการซื้อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว สังสรรค์ ของคนที่ได้รับ “ค่าจ้าง/เงินเดือน” เพิ่ม เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ พบว่าเปลี่ยนแปลงโดยลดลง 57.17% เพราะ มีภาระค่าใช้จ่ายอีกมาก ต้องการเก็บออมเงินหรือนำเงินไปใช้ในเรื่องอื่นที่จำเป็นมากกว่า ไปบ้างแต่ไม่บ่อยครั้ง ฯลฯ เหมือนเดิม 42.83% เพราะมีการวางแผน ควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้แล้ว โดยส่วนตัวเป็นคนชอบความบันเทิงและการผ่อนคลาย ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น