xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ ปชช.จี้รัฐคุมราคาสินค้า ลดต้นทุนการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สวนดุสิตโพล” เผยผลสำรวจ 10 อันดับวิธีแก้ของแพง พบ 25.28% จี้ภาครัฐควบคุมสินค้า ด้านนักศึกษา-นักธุรกิจ-ผู้ค้าและชาวบ้าน หนุนลดต้นทุนการผลิต ขณะกลุ่มแรงงานวอนคุมพ่อค้าคนกลางไม่ให้เอาเปรียบ

วันนี้ (21 มี.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพทั่วประเทศ ประกอบด้วย ข้าราชการ, ทหาร ตำรวจ, พนักงานบริษัท และธนาคาร, นักเรียน นักศึกษา,นักธุรกิจ เจ้าของธุรกิจ, ผู้ค้า, แรงงาน, แม่บ้าน และประชาชนทั่วไป โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึกเพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาสินค้าแพงในขณะนี้ จำนวน 1,409 คน พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 ภาครัฐมีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า พยุงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค, อันดับ 2 ร้อยละ 23.76 จะต้องลดต้นทุนการผลิต ได้แก่ วัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องมือและการขนส่ง, อันดับ 3 ร้อยละ 12.10 ต้องแก้ที่ตัวเราเอง วางแผนการใช้จ่าย ประหยัด ยึดหลักพอเพียง, อันดับ 4 ร้อยละ 11.41 ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง ค่าจ้างให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน, อันดับ 5 ร้อยละ 11.26 ควบคุมดูแลพ่อค้าคนกลางไม่ให้เอาเปรียบหรือโก่งราคาแก่ผู้บริโภค

อันดับ 6 ร้อยละ 7.03 เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่ายที่มีราคาถูก เช่นร้านธงฟ้า หรือช่วงลดราคา, อันดับ 7 ร้อยละ 3.55 ปรับลดภาษีให้กับผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้สินค้ามีราคาสูงเกินไป, อันดับ 8 ร้อยละ 3.04 สนับสนุนให้คนไทยใช้ของไทย เพื่อไม่ให้เงินรั่วไหลไปต่างประเทศ, อันดับ 9 ร้อยละ 1.92 ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ และอันดับ 10 ร้อยละ 0.65 แก้ไขภาวะเงินเฟ้อโดยการจำหน่ายพันธบัตรหรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มสำรวจอาชีพข้าราชการ, ทหาร ตำรวจ, พนักงานบริษัท, แรงงาน และแม่บ้าน ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ภาครัฐมีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า พยุงราคาสินค้า ขณะที่อาชีพนักธุรกิจ นักเรียนนักศึกษา ผู้ค้า และประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ 29.09% ของผู้ใช้แรงงาน สนับสนุนให้ควบคุมพ่อค้าคนกลางไม่ให้เอาเปรียบราคา ขณะที่ 17.18% ของกลุ่มนักศึกษาเห็นว่าจะต้องแก้ที่ตัวเอง วางแผนการใช้จ่าย ประหยัด และยึดหลักพอเพียง ทางด้านผู้ที่สนับสนุนมาตรการจำหน่ายพันธบัตรหรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อมีเพียงกลุ่มข้าราชการ, นักศึกษา, พนักงานบริษัทและแม่บ้านเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น