xs
xsm
sm
md
lg

จุดมุ่งหมายและภารกิจของกรรมกรแห่งชาติภายใต้การเมืองเผด็จการ

เผยแพร่:   โดย: ดร.ป. เพชรอริยะ

หากเราวิเคราะห์ คำว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เราก็จะเห็นได้ว่า กรรมกรต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการเมืองโดยธรรม “เพราะการเมืองเป็นนาย เศรษฐกิจเป็นบ่าว”

ดังนั้น กรรมกรจะต้องต่อสู้ปัญหาเศรษฐกิจยกขึ้นสู่การต่อสู้ทางการเมือง ดังคำขวัญที่ว่า “กรรมกรนายทุน (ไทย) สามัคคีกันสร้างสรรค์หลักธรรมาธิปไตย”

ประเทศไทยเราน่าเสียดายที่ผู้นำกรรมกร ผู้นำสหภาพไม่นำการต่อสู้ทางการเมือง แต่ไปต่อสู้เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งแนวทางนี้นอกจากจะเป็นบาปต่อพี่น้องกรรมกรด้วยกันแล้ว ยังทำบาปกับพี่น้องเพื่อนร่วมชาติที่ไม่มีเงินเดือนโดยเฉพาะภาคเกษตร หรือแรงงานหาเช้ากินค่ำ รู้ตัวกันหรือไม่ว่า ทักษิณหลอก

การเมืองของผู้นำกรรมกรส่วนใหญ่ยอมรับเงินสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ยอมสยบต่อนายทุน สนองตอบการขึ้นค่าแรง 300 บาท อันที่จริงนโยบายนี้เป็นนโยบายของทุนข้ามชาติ เขาได้ประโยชน์หลายชั้น เช่น ประการแรก เขาจ่าย 300 บาทได้ไม่เดือดร้อนอะไร ประการที่สอง ทุนชาติ (ทุนไทยแท้ๆ ยังอ่อนแออยู่สู้ค่าจ้างแบบบังคับไม่ได้ต้องล้มไป) ทำให้คู่แข่งลดน้อยลง เป็นจริงดังที่ผู้เขียนได้แสดงความเห็นไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2524 ความตอนหนึ่งว่า

“หากเพื่อนพี่น้องกรรมกรได้วิเคราะห์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมเป็น 300 บาท/วัน เพียงอย่างเดียวประชาชนก็จนลงทันที” จนลงอย่างไร

1. ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายพรรคเพื่อไทย สูงสุดประมาณ 5 ล้านคน

2. ขณะนี้ค่าแรงยังไม่ขึ้น เงินเดือนใหม่ยังไม่ได้ แต่ต้องใช้จ่ายค่าสินค้าในชีวิตประจำวันสูงขึ้นๆ ทุกวัน

3. ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีเงินเดือน และไม่ได้ขึ้นค่าแรง หาเช้ากินค่ำ เกษตรกรต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น เม็ดเงินมีคุณค่าน้อยลง เงินเฟ้อ เคยกินข้าวราดแกง 30-35 บาทก็กลายเป็น 40-50 บาท ดังนี้เป็นต้น จะเห็นได้ว่าทั้งคนที่มีเงินเดือนและคนไม่มีเงินเดือนล้วนได้รับความเดือนร้อนจากนโยบายขึ้นค่าแรงทั้งสิ้น

แนวทางการต่อสู้ของพี่น้องกรรมกรแห่งชาติที่ถูกต้อง 2 แนวทาง คือ ด้านเศรษฐกิจ กรรมกรต้องต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลควบคุมสินค้าที่จำเป็นให้อยู่ในระดับที่พอดีถือเป็นการทำบุญให้พี่น้องเพื่อนร่วมชาติไม่ต้องซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคราคาแพง ด้านการเมืองกรรมกรจะต้องสามัคคีกับนายทุนเพื่อผลักดันการเมืองโดยธรรม เพื่อความเป็นธรรมของปวงชนในชาติ

ประวัติการต่อสู้ของขบวนการกรรมกร ก่อนปี ค.ศ. 1760 ทวีปยุโรปยังมีระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีทำไร่ทำนา ต่อมาในปี ค.ศ. 1760 (พ.ศ. 2303) เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กในยุโรป และในปี ค.ศ. 1765 เจมส์ วัตต์ ชาวสกอตแลนด์ สามารถผลิตเครื่องจักรไอน้ำ เจ้าของโรงงานต่างก็นำเครื่องจักรไอน้ำไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นเครื่องจักรรถไฟ เครื่องจักรเรือ เกิดการเดินเรือ เอาไปเป็นเครื่องจักรกลในโรงงาน มีโรงงานทอผ้า โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย

กรรมกรต้องทำงานอย่างหนักถึงวันละไม่ต่ำกว่า 14 - 16 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด การกดขี่ขูดรีดอย่างหนักนี่เองจึงเกิดขบวนการต่อสู้ของกรรมกรในยุโรปขึ้น เช่น ขบวนการกรรมกรชาติสต์ (Chatist) ได้หยุดงานทั่วไปผลักดันสร้างการปกครองประชาธิปไตย เป็นผลสำเร็จในประเทศอังกฤษ และพัฒนาเป็นพรรคแรงงาน (Labors Party) จวบจนปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1789 มหาปฏิวัติประชาธิปไตยฝรั่งเศสแบบรุนแรงมีสาเหตุมาจากความยากจน และความไม่เป็นธรรมจากการกดขี่ ขูดรีดของนายทุนและสภาการเมืองที่ล้าหลังของชาวฝรั่งเศสเองเป็นสำคัญ การปฏิวัติประชาธิปไตยในฝรั่งเศสมีผลสะเทือนต่อการตื่นตัวของกรรมกรและประชาชนทั่วทั้งยุโรปและขยายผลไปยังอเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ

ในปี ค.ศ. 1886 คนงานเหมืองแห่งเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ (General strike) จัดชุมนุมเดินขบวนอย่างขนานใหญ่เพื่อเรียกร้องระบบสามแปดคือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และการศึกษา 8 ชั่วโมง ต่อมาสหพันธ์กรรมกรแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้เดินขบวนทั่วประเทศขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 เพื่อเรียกร้องระบบสามแปด เป็นผลสำเร็จ และเรียกร้อง สวัสดิการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ขบวนการกรรมกรขึ้นเป็นลำดับ

ในที่ประชุมของสภากรรมกรสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล ถือว่าเป็นวันกรรมกรลุกขึ้นต่อสู้ลดชั่วโมงทำงานและสวัสดิการต่างๆ ดังนั้น วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรสากล จึงเป็นวันระลึกถึงการต่อสู้อย่างยิ่งใหญ่ทั้งทางการเมืองและเพื่อเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่เป็นธรรม

มีข้อสังเกตว่าความสำเร็จของขบวนการกรรมกรสากลในประเทศต่างๆ ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์ (Interest group) เพียงอย่างเดียว แต่ได้เป็นกลุ่มผลักดัน (Pressure group) ที่มีประสิทธิภาพสูงมีการศึกษาวางแผน ต่อสู้ทางการเมืองร่วมอยู่ด้วย จะมีนักคิด นักปรัชญา ปัญญาชนทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปจากระบอบเก่าเป็นระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ตามลักษณะพิเศษของประเทศนั้นๆ เช่น อังกฤษมีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ฝรั่งเศสมีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบกึ่ง-ประธานาธิบดี ประเทศสหรัฐอเมริกามีการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี เป็นต้น

ประวัติขบวนการกรรมกรไทย อุตสาหกรรมไทยในระยะแรกนายทุนเป็นชาวต่างชาติจากยุโรปและกรรมกรไทยมักจะเป็นชาวจีนจากโพ้นทะเล ส่วนคนไทยยังเป็นผู้ใช้แรงงานทั่วไปในทุ่งไร่ทุ่งนา ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น คนจีนได้พัฒนาตนเองยกระดับเป็นนายจ้างหรือนายทุน ส่วนคนไทยจากท้องไร่ทุ่งนา ก็เข้ามาเป็นกรรมกร และมีการจัดงานวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยเมื่อ พ.ศ. 2489 คือ การจัดงานกรรมกรสากล ที่พระราชวังสราญรมณ์ โดยกรรมกรสามล้อจีนเป็นผู้ริเริ่ม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 เป็นการฉลอง “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” มีการจัดชุมนุมกรรมกรสากลขึ้นที่ท้องสนามหลวง มีผู้เข้าร่วมงานหลายแสนคน ภายใต้คำขวัญ “กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน”

กรรมกรส่วนใหญ่ยังติดเงื่อนไขของระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญ ด้วยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับต่างๆ ตามยุคสมัย จึงทำให้กรรมกรแตกแยก ความอยากใหญ่ของผู้นำกรรมกรบางคนที่เห็นแก่เฉพาะประโยชน์เฉพาะหน้าด้วยเงินไม่กี่หมื่นบาท

แท้จริงกรรมกรในฐานะเป็นผู้ร่วมสร้างระบบทุนนิยม นายจ้างเป็นผู้ลงทุน กรรมกรเป็นผู้ลงแรง ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมแรงกันอย่างแยกกันไม่ได้ เสมือนเหรียญหัวกับก้อย เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอันเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ถ้าขาดข้างใดข้างหนึ่งก็จะไม่เกิดระบบการผลิตแบบทุนนิยม คำว่า นายทุนและกรรมกรเป็นคำที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ เป็นผู้บัญญัติศัพท์ จึงกล่าวว่า นายทุนและกรรมกรเป็นคำที่มีเกียรติกรรมกรจึงไม่ใช่ทาสของนายจ้าง แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ประเทศชาติอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ได้นั้น จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้มีการสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เพื่อเป็นหลักประกันแก่ปวงชนไทยทุกคน “กรรมกร ธรรมาธิปไตย” “ธรรมาธิปไตยกรรมกร”
อาถรรพ์ของสอง 7
หนังสือเรื่อง “ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ” เสนอว่าประชานิยมมีทั้งด้านดีและด้านชั่วร้าย เนื่องจากรัฐบาลไทยนำด้านชั่วร้ายมาใช้ตั้งแต่ในสมัยนักโทษชายหนีคุกเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นในแนวที่รัฐบาลของอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาเคยทำมาก่อนอย่างเข้มข้นจนถึงกับพาประเทศไปสู่ความล้มละลายและล้มลุกคลุกคลาน หนังสือเล่มนั้นจึงนำเรื่องราวของประเทศทั้งสองมาเล่าและเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของเขากับของไทยไว้ด้วย การเปรียบเทียบนั้นพบตัวเลข 77 เป็นที่น่าสังเกตกว่าตัวอื่น ขอนำมาเล่าสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น