xs
xsm
sm
md
lg

นอนยาวรวดเดียวผิดธรรมชาติ ตื่นพักเบรกกลางดึกดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การนอนยาว 8 ชั่วโมงนับเป็นการหลับที่เหมาะสมตามความคิดที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และการทดลองพบว่า การแบ่งเวลานอนเป็น 2 ช่วง ทำให้ร่างกายสดชื่นและพักผ่อนได้เต็มที่มากกว่า
เมื่อตื่นมากลางดึกทีไร เรามักเป็นกังวลว่าถ้านอนต่อเนื่องไม่นานพอ จะส่งผลต่อร่างกาย แต่นั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และร่องรอยจากประวัติศาสตร์กำลังชี้ว่า การนอนติดต่อกันยาวถึง 8 ชั่วโมงอาจเป็นเรื่องผิดธรรมชาติสำหรับมนุษย์เรา

รูปแบบธรรมชาติ เรานอนคืนละ 2 ครั้ง

ช่วงต้นคริสต์ศักราช 1990 ดร.โทมัส เวอร์ (Thomas Wehr) จิตแพทย์แห่งสถาบันสุขภาพจิตแห่งสหรัฐฯ (US Institute of Mental Health) ได้ทดลองนำคนกลุ่มหนึ่ง ให้อยู่ในความมืดวันละ 14 ชั่วโมง ทุกๆ วัน เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งพวกเขาได้นอนหลับยาวตามปกติ แต่ในสัปดาห์ที่ 4 กลุ่มตัวอย่างได้ปรับวิธีการนอน โดยพวกเขาหลับไปใน 4 ชั่วโมงแรก และตื่นขึ้นประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็หลับครั้งที่ 2 อีก 4 ชั่วโมง

ผลการทดลองดังกล่าวดูเป็นข้อค้นพบที่น่าทึ่ง แต่ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะแย้งกับความรู้ที่แพร่หลายว่า การนอนยาว 8 ชั่วโมงเป็นการพักผ่อนที่ดีต่อสุขภาพ

จากนั้นในปี 2001 โรเจอร์ เอคริช (Roger Ekirch) นักประวัติศาสตร์ แห่งเวอร์จิเนียเทค (Virginia Tech) ได้ตีพิมพ์รายงานที่ค้นคว้ามากว่า 16 ปีด้วยการรวบรวมหลักฐานมากมาย ทั้งบันทึกประจำวัน บันทึกศาล รายงานทางการแพทย์ รวมถึงวรรณกรรมกว่า 500 แหล่งที่ชี้ว่า พฤติกรรมการนอนของมนุษย์เราแบ่งเป็น 2 ช่วง

ทั้งนี้ การค้นคว้าดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของเวอร์ และเอคริชได้เพิ่มเติมว่า การหลับครั้งแรกของคนเรานั้น เริ่มหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง (20.00 น.) และจะตื่น (ประมาณเที่ยงคืน) อยู่ 2 ชั่วโมง จากนั้นก็หลับอีกเป็นครั้งที่ 2 (ประมาณ 2.00 น.)

ในช่วงระหว่างการตื่นนอนนั้น มนุษย์จะกระฉับกระเฉงมาก ส่วนใหญ่ก็จะลุกไปเข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ แม้กระทั่งเดินไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน แต่ก็มีอีกส่วนที่ยังคงอยู่บนเตียง เขียนอ่านหนังสือ หรือสวดมนต์ ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 15 มีหลายหลักฐานระบุถึงการสวดมนต์เป็นกรณีพิเศษระหว่างการตื่นกลางดึก

ถ้าใครที่มีเพื่อนร่วมเตียง ก็เป็นโอกาสในการสนทนาหรือร่วมรักกัน ซึ่งจากคู่มือแพทย์ฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 16 ได้แนะนำให้คู่แต่งงานได้พลอดรักหลังจากหลับรอบแรก เพราะจะสร้างความสุขได้มากกว่าการมีกิจกรรมทางเพศก่อนเข้านอน เพราะยังคงเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน

สังคมเมือง พาคนเข้านอนรวดเดียว

อย่างไรก็ดี เอคริชพบว่า ข้อมูลการนอน 2 ครั้งนั้น เริ่มหายไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เมื่อผู้คนเริ่มใช้ชีวิตแบบสังคมเมืองกันมากขึ้น

เครก คอสลอฟสกี (Craig Koslofsky) นักประวัติศาสตร์ เจ้าของหนังสือที่รวบรวมประวัติศาสตร์ยามราตรี (Evening's Empire) อธิบายว่า ช่วงกลางคืนในยุคก่อนศตวรรษที่ 17 นั้น ไม่เอื้อให้ผู้คนออกนอกบ้าน เพราะยามราตรีคือเวลาของคนไม่ดี มีทั้งอาชญากรรม การขายบริการทางเพศ ผู้คนที่เมามาย ในยามวิกาลจึงไม่คุ้มค่าพอที่จะออกไปสร้างสังคม

อีกทั้ง ในช่วงการปฏิรูปคริสต์ศาสนา ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นักบวชทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ ต่างเลือกที่จะปฏิบัติพิธีกรรมศาสนาแบบลับๆ ในยามวิกาล เพราะเกิดการไล่ทำร้ายและสังหารผู้นับถือคริสตศาสนา ทำให้รูปแบบของสังคมก็ปรับสภาพไปในทางเดียวกัน

สมัยนั้นการออกมาทำกิจกรรมยามค่ำคืน นั่นหมายถึงต้องมีแสงสว่าง และผู้ที่หาซื้อเทียนไขได้ก็คือผู้ที่มีฐานะ ดังนั้นความสามารถในการสร้างแสงสว่างยามมืดจึงกลายเป็นการแบ่งชนชั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อแสงไฟจากทางการได้ติดตั้งไว้ตามท้องถนน ก็ส่งผลให้ผู้คนต่างฐานะออกมาใช้ชีวิตยามราตรีได้เช่นกัน โดยในปี 1667 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เป็นเมืองแรกของโลก ที่มีแสงไฟตามท้องถนน ด้วยเทียนไขในตะเกียงแก้ว จากนั้นไม่เกิน 10 ปี เมืองต่างๆ ในยุโรปก็สว่างไสวในเวลากลางคืนไม่แพ้กัน

เมื่อความสว่างกระจายไปทั่ว การออกไปสังสรรค์ยามค่ำคืนก็กลายเป็นแฟชั่น และการพักผ่อนอยู่บนเตียงถือเป็นการปล่อยเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในศตวรรษที่ 19 เวลาเป็นของมีค่า กิจกรรมหลายอย่างจึงเกิดขึ้นอย่างรวบรัด ซึ่งเอคริชเล่าว่า ผู้คนเริ่มเพิ่มเวลาในการตื่นมากขึ้น และมีวิธีการนอนที่เปลี่ยนไป โดยหลักฐานจากวารสารทางการแพทย์ในปี 1829 ระบุว่า พ่อแม่เริ่มให้ลูกนอนยาว โดยไม่มีการนอนครั้งที่ 2

ถ้าไม่ได้เจ็บป่วยเป็นโรคหรือประสบอุบัติเหตุใดๆ พวกเขาก็จะไม่มีการหลับต่อเป็นรอบที่ 2 อีก เมื่อการนอนครั้งที่ 1 จบลง ก็ถือว่าได้เป็นการพักผ่อนตามเวลาปกติ และถ้าใครนอนต่อเป็นครั้งที่ 2 ก็จะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจขี้เซา ไม่ดีต่อบุคลิกและความน่าเชื่อถือ

อย่ากังวลไป เมื่อไม่ได้นอนยาว

ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ปรับตัวเป็นนอนหลับวันละ 8 ชั่วโมงกันแล้ว ซึ่งเอคริชเชื่อว่า นี่เป็นเหตุนำไปสู่โรคที่เกี่ยวกับการนอน เพราะตามธรรมชาติร่างกายมนุษย์ต้องการนอนหลับเป็นช่วง การนอนยาวในคราวเดียว ซ้ำยังมีแสงไฟสังเคราะห์ในช่วงเวลานอนที่ควรมืดสนิท จึงกลายเป็นปัญหา บางทีอาจเป็นต้นเหตุของโรคนอนไม่หลับ (insomnia)

ทางผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับผิดปกติ อย่างเกรก จาคอบส์ (Gregg Jacobs) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมสซาซูเซ็ตส์ ได้อธิบายถึงพัฒนาการในการนอนตามหลักสรีรศาสตร์ มนุษย์ส่วนใหญ่จะต้องตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งการนอนรวดเดียวนานๆ นี้ เป็นแนวคิดที่สร้างความเสียหาย เพราะการตื่นระหว่างคืนสร้างความกังวลใจให้แก่เรา ซึ่งความกังวลใจนี้ ก็จะทำให้เราหลับต่อไม่ลง และจะทำให้เราง่วงในยามที่ต้องตื่น

รัสเซลล์ ฟอสเตอร์ (Russell Foster) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา กิจวัตรร่างกาย (circadian) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้แสดงความเห็นว่า มีคนมากมายรู้สึกกังวลที่ตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งนั่นคือการกลับไปสู่พฤติกรรมการนอน 2 ครั้งแบบดั้งเดิม ทว่าแพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่เชื่อว่าการนอนต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงเป็นรูปแบบที่ผิดธรรมชาติ

“มากกว่า 30% ของปัญหาทางการแพทย์ เกี่ยวข้องกับการนอนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ความรู้เกี่ยวกับการนอนหลับนั้น ไม่ค่อยได้รับการสนใจ ทั้งในโรงเรียนแพทย์และการวิจัย ไม่ค่อยมีการศึกษาเรื่องนี้” ฟอสเตอร์กล่าว

ทุกวันนี้ เราให้เวลากับการนอนหลับน้อยมาก ซึ่งจำนวนผู้เกิดภาวะเครียด กังวลใจ ซึมเศร้า ติดเหล้ายาที่เพิ่มขั้นทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกี่ยวข้องกันกับการพักผ่อนที่ไม่เต็มที่” ดร.จาคอบส์ชี้ และได้แนะนำให้มีช่วงที่ตื่นขึ้นระหว่างหลับ เพราะร่างกายจะได้จัดการกับความเครียดได้โดยธรรมชาติ

นับจากนี้ ถ้าใครต้องตื่นขึ้นมากลางดึก อย่าได้เป็นกังวลไป ทำใจให้สบายแล้วนึกถึงบรรพบุรุษของเราที่มีรูปแบบการนอนเช่นเดียวกันนี้ และไม่แน่ว่าอาจจะดีกว่าสำหรับมนุษย์อย่างเราๆ ก็ได้
อาการง่วงนอนระหว่างวันอาจเป็นเพราะรูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไปจากธรรมชาติของมนุษย์
แสงสีและกิจกรรมยามราตรีทำให้รูปแบบการนอนแบบเดิมเปลี่ยนไป
ยุคสมัยแห่งการแข่งขันและเวลาอันมีค่าของสังคมเมืองหลายอย่างถูกย่นย่อ แม้กระทั่งการนอน
กำลังโหลดความคิดเห็น