xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเผยภาวะโลกร้อนน่าห่วง เตือนปรับตัวรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
“ผศ.ดร.ศิวัช” เผยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งปรี๊ดจนน่าเป็นห่วงมาก ชี้ไทยไม่สามารถทำอะไรได้ หาก “อเมริกา-จีน-อินเดีย” ไม่ร่วมหยุดปล่อยก๊าซด้วย เตือนสำหรับประเทศเล็กๆ ควรปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือ ด้าน “ศรีสุวรรณ” ค้านข้อเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซัดเป็นแนวคิดถอยหลังเข้าคลอง สะท้อนสติปัญญานักการเมือง

วันที่ 5 มี.ค. ผศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV


ผศ.ดร.ศิวัช กล่าวถึงปัญหาภาวะโลกร้อนว่า หลักฐานที่มีการตรวจวัดมา ย้อนกลับไป 4 แสนปี ไม่เคยมีช่วงไหนที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกิน 280 ppm คือก่อนเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ไม่มีช่วงไหนใน 4 แสนปี ที่ชั้นบรรยากาศโลกมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกิน 280 ppm แต่เดี๋ยวนี้สูงเกือบ 390 ppm และอีกไม่นานคงแตะเกิน 400 ppm หมายความว่ามนุษย์ใช้เวลาแค่ 200 ปีเท่านั้นในการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก เรื่องนี้น่ากลัวมากในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์

ในฐานะของคนไทย ภาวะโลกร้อนเป็นชะตากรรมของมนุษยชาติ ไม่ใช่ของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ต่อให้คนไทย 70 ล้านคนไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โลกก็ยังร้อนขึ้้น ถ้าตราบใดอเมริกา จีน อินเดีย ยังปล่อย เราหยุดไม่ได้ ประเด็นคือเราควรตระหนักในสิ่งที่เราทำอะไรได้บ้างในฐานะคนของประเทศเล็กๆ คนหนึ่ง สิ่งหนึ่งคือปรับตัวเข้ากับอากาศ อย่าท้อ ทำใจยอมรับร่วมกัน ปรับตัวให้เข้าอย่างชาญฉลาด ท้ายที่สุดอนิจจังไม่มีอะไรเที่ยงธรรม ต้องเข้าใจว่ามันต้องเปลี่ยน แต่ทำอย่างไรที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา

เมื่อถามว่าปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ ผศ.ดร.ศิวัชกล่าวว่า ภัยจากน้ำท่วมไม่ได้อยู่ที่ปริมาณน้ำอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการปรับตัว และการบริหารทรัพยากรน้ำ จะมาบอกว่าเป็นปริมาณน้ำฝนอย่างเดียวมันดูกระไรไป การเป็นมนุษย์มันต้องมีการเตรียมพร้อม อย่างน้อยก็รับมือกับธรรมชาติ การอ้างว่าช่วยไม่ได้ ฟังดูแล้วน่าเศร้าใจ

วิกฤตน้ำท่วมปีก่อน ผู้คนเสียชีวิตกว่า 800 คน ถ้าเราให้ความรู้ ให้ความระวัง คนก็จะตายน้อยลง เพราะหลายคนทำไปด้วยความไม่รู้จนเสียชีวิต แค่ทำสื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน จะใช้เงินเท่าไหร่กัน เราชอบไปประเมินความเสียเป็นตัวเลข ซึ่งมันไม่ใช่ ชีวิตคนประเมินไม่ได้

ด้าน นายศรีสุวรรณกล่าวถึงข้อเสนอของนายวัฒนา เมืองสุข ที่ต้องการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ว่า เป็นความคิดที่ถอยหลังเข้าคลอง สะท้อนให้เห็นสติปัญญานักการเมืองไทย ว่าไม่ได้พัฒนาก้าวไกลเลย ทั้งโลกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รัฐบาลไม่ใช่จะใช้อำนาจตามพลการ อ้างว่ามาจากเสียงข้างมาก

เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ตนไม่เห็นชอบด้วยเลย ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 291 ตนไม่เห็นว่าจะสร้างความเสียหายอะไร อาจมีข้อด้อยในบางเรื่อง ก็แก้ไขเป็นมาตราไป ไม่ใช่หมารวมแบบนี้ ยิ่งยกเลิก ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งถอยหลังลงเหว เมื่อรัฐบาลครอบงำศาลไม่ได้ก็จะยกเลิกนั้นหรือ

ส่วนข้อถามที่ว่าปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ แต่ประเด็นคือ หน่วยงานภาครัฐต้องทำให้เต็มความสามารถ อย่าเอาโมเดลปี 54 มาใช้ ที่สำคัญต้องเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจปัญหาจริง มาทำงาน

อย่างทุกวันนี้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นสิบๆ ชุดเลย และคณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้มีฐานรากจากกความรับผิดชอบ จู่ๆ ก็ลอยมาเป็น แล้วจะเข้าใจปัญหาจริงได้อย่างไร

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังจะทำผิดพลาดซ้ำ 2 คือสนับสนุนให้เขตอุตสาหกรรม ไปทำกำแพงกั้นรอบนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งพรุ่งนี้ (6 มี.ค.) ตนก็จะไปฟ้องศาลในเรื่องนี้ ที่สำคัญต้องให้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก อย่าใช้สั่งการจากข้างบนลงล่างอย่างเดียว น้ำท่วมปีนี้มีหรือไม่มีไม่สำคัญ แต่รัฐบาลต้องแสดงให้ประชาชนมีความไว้วางใจ

“ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ระบุว่า การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
ศรีสุวรรณ จรรยา



กำลังโหลดความคิดเห็น