xs
xsm
sm
md
lg

นักข่าว7สียันรัฐแทรกแซง แฉยุค"ปู-แม้ว"ไม่ต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องร้องเรียน กรณี นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้สอบสวนการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ในกรณีที่สำนักโฆษกฯ ระงับการเดินทางไปกัมพูชา เพื่อปฏิบัติภารกิจทำข่าวนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย. 55 ของ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 7 ในฐานะทีมทีวีพูลล่วงหน้า โดยได้เชิญ น.ส.สมจิตต์ และ นายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการข่าว ช่อง 7 นางปรารถนา สุทิน ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ
นายสมโภชน์ กล่าวถึงข้อเท็จจริงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ช่อง 7 ได้รับมอบหมายจากทีวีพูล ให้ติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรี โดยปกติการส่งทีมข่าวติดตามภารกิจจะมีสองทีม คือ ทีมล่วงหน้า และทีมที่เดินทางพร้อมคณะ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นทีมล่วงหน้าเดินทางไปกับ นายชรัส จรรยา ช่างภาพ ส่วนอีกทีมจะเดินทางขึ้นเครื่องพร้อมนายกรัฐมนตรี คือ นายเจษฎา อุปนิ และ ช่างภาพ ซึ่งรายชื่อทั้งหมดส่งให้กองงานโฆษกประสานกระทรวงการต่างประเทศไปยังกัมพูชาเรียบร้อยหมดแล้ว โดยได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางกองงานโฆษกแจ้งมาที่ ช่อง 7 ว่าทุกอย่างเรียบร้อย สามารถออกตั๋วเครื่องบินในวันที่ 28 มี.ค. เท่ากับว่า รายชื่อของทีมข่าวสามารถเดินทางเข้ากัมพูชาได้อย่างถูกต้อง และ น.ส.สมจิตต์ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับภารกิจการประชุมอาเซียน และการหารือทวิภาคี โดยทางสำนักโฆษก จะสรุปภารกิจให้เป็นแนวคำถามกับทีมข่าว
นายสมโภชน์ กล่าวว่า ผลที่ตามมาหลังจากที่น.ส.สมจิตต์ ได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารช่อง 7 สองท่านโทรศัพท์แจ้งตนว่า มีนักการเมืองในรัฐบาลท่านหนึ่ง โทรหาเพื่อขอให้ยกเลิกการส่งน.ส.สมจิตต์ ไปปฏิติภารกิจนี้ ตนจึงสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลขอมา แต่ตนได้ยืนยันในฐานะผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ และผู้บังคับบัญชาของน.ส.สมจิตต์ ว่า นี่คือการบริหารจัดการภายในของช่อง 7 และเป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ จึงไม่มีเหตุผล ที่จะยอมให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงระงับการเกินทางของทีมข่าว เพราะเป็นการบริหารจัดการภายในของสถานี
นอกจากนี้ ยังมีการออกตั๋วเครื่องบิน พร้อมกับจองที่พักที่กัมพูชา รวมทั้งดำเนินการทางเอกสารครบถ้วนแล้ว จึงขอให้ผู้บริหารทบทวน ซึ่งก็ต้องขอบคุณ ที่ผู้บริหารรับฟังเสียงสะท้อนของตน ในฐานะผู้ปฏิบ้ติงาน จึงยืนยันให้ น.ส.สมจิตต์ ไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่หลังจากนั้นสองวัน ก็มีหนังสือจากสำนักโฆษกฯ ระงับการเดินทางของทีมล่วงหน้า อ้างว่า กัมพูชามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชน และการดูแลรักษาความปลอดภัย
"ผมคิดว่า สิ่งที้เกิดขึ้นเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน และยืนยันกับผู้บริหารให้ส่งน.ส.สมจิตต์ไปทำข่าว แต่ด้วยข้อจำกัดในฐานะเป็นสมาชิก ทีวีพูล และผมเป็นพนักงานช่อง 7 ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้บริหาร แต่ผมก็ต้องบอกว่า ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงจากการเมือง ที่ใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงสื่อมวลชน ผมมีความมั่นใจในตัวน.ส.สมจิตต์ ว่ามีความเป็นมืออาชีพ ที่สามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่บกพร่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 10 ปี น.ส.สมจิตต์ ไม่เคยมีประวัติถูกร้องเรียนเรื่องผลประโยชน์ และยึดมี่นในจรรยาบรรณวิชาชีพมาตลอด จึงไม่มีเหตุผลที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงเช่นนี้ และในฐานะที่ทำงานสื่อมวลชนมากว่า 20 ปี ผมมั่นใจว่า การกระทำครั้งนี้ของคนในรัฐบาล เป็นการแทรกแซงด้วยวาจา ก่อนที่จะมีคำสั่งตามมาภายหลัง เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ทางช่อง 7 ก็ได้แสดงออกอย่างหนึ่ง คือไม่นำเสนอภารกิจนายกรัฐมนตรี ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้ฝ่ายการเมืองได้เห็นจุดยืนของช่อง 7 ที่ไม่ยอมรับการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และยืนยันว่า หากถึงคิวที่ช่อง 7 ต้องส่งทีมข่าวไปติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรี ในฐานะทีวีพูล ก็จะส่งน.ส.สมจิตต์ไป เพราะเป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ จะตัดสิทธิ์ไม่ได้" นายสมโภชน์ กล่าว

ด้านน.ส.สมจิตต์ ได้นำหลักฐานการแจ้งยกเลิกคณะสื่อมวลชนทีมล่วงหน้า ที่ทำถึงประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ลงนามโดยนางปรารถนา สุทิน ผู้อำนวยการสำนักโฆษก และเอกสารของกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก เกียวกับแนวคำถาม-คำตอบสำหรับนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ทีวีพูล (ช่อง 7) ซึ่งมีการระบุถึงการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งจะให้คณะกรรมการที่มีรมว.ต่างประเทศ ของไทย และกัมพูชาเป็นประธานเจรจา มามอบต่อกรรมาธิการฯ ด้วย พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่รอการสัมภาษณ์นายกฯ แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามว่า "คนที่ชื่อสมจิตต์ มาหรือไม่" ซึ่งตนก็ตอบไปว่า มาแล้ว
จากนั้นประมาณ 15 นาที เลขาส่วนตัวและนายเวร นายกรัฐมนตรี ก็เดินเข้ามาหา ซึ่งก็ทักทายตามปกติ แต่ไม่ได้พูดคุย ก่อนที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกส่วนตัวนายกรัฐมนตรี จะเข้ามาทักทาย และในระหว่างการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จึงน่าจะทราบดีว่า รายละเอียดของเหตุการณ์เป็นอย่างไร แต่กลับมีการกล่าวหา ตนผ่านทวิตเตอร์ ที่ตอบคำถาม นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ประจำทำเนียบรัฐบาล ว่า ตนมีอคติ ไม่ให้เกียรตินายกฯ และตั้งคำถามโดยไม่ทำการบ้าน ซึ่งจากเอกสารที่ตนได้แสดงต่อกรรมาธิการฯ ก็ยืนยันแล้วว่า มีการระบุเกี่ยวกับการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ว่าจะให้รมว.ต่างประเทศดำเนินการ และขอให้ทางกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือขอเทปมาสเตอร์ ที่ตนสัมภาษณ์นายกฯ ในวัที่ 28 มี.ค.55 มาประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ว่ามีส่วนใดที่แสดงถึงอคติหรือการไม่ให้เกียรตินายกรัฐมนตรี ตามที่นายสุรนันทน์ กล่าวหาหรือไม่
"ถามว่า คิดว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่อยากให้เดินทางไปทำข่าวนายกฯ ก็คิดว่าอาจจะเกิดจากกรณีที่มีประธาน นปช.เพชรบุรี เคยส่งอีเมล์ข่มขู่ ที่ถามจนนายกรัฐมนตรีเดินหนี และอคติของ นายสุรนันทน์ เพราะถ้อยคำจากทวิตเตอร์ ที่กล่าวหาดิฉันนั้น แสดงถึงอคติอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะการตอบทวิตเตอร์ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ที่ถามว่า ตกลงขอให้เปลี่ยนตัวนักข่าวจริงหรือเปล่าครับ ตอบตรงประเด็นหน่อย โดยนายสุรนันท์ ตอบว่า ไม่ชอบ แต่ใครจะไปกล้าสั่ง ใหญ่ๆกันทั้งนั้น และยังมีคำตอบผ่านทวิตเตอร์ของนายสุรนันทน์ ที่พาดพิงถึงผู้บริหารช่อง 7 โดยระบุว่า ควรให้เกียรติรัฐบาลด้วย จึงต้องตั้งคำถามว่า นายสุรนันทน์ มีการติดต่อถึงผู้บริหารช่อง 7 ในเรื่องอะไร และประเด็นไหน ที่ผู้บริหารช่อง 7 ทำให้นายสุรนันทน์ มีความรู้สึกว่า ผู้บริหารไม่ให้เกียรติรัฐบาล เกี่ยวข้องโทรศัพท์สายที่ต่อถึงผู้บริหาร เพื่อให้เปลี่ยนแปลงทีมข่าว แต่ไม่ได้รีบการตอบสนองหรือไม่ และหากนายสุรนันทน์ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จริง จะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่เพราะนายสุรนันทน์อยู่ในระหว่างการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจะข้องเกี่ยวกับการบริหารราชการไม่ได้" นางสาวสมจิตต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวช่อง 7 กล่าวด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตจาก นายประดิษฐ์ ว่า อาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 เพราะเป็นการแทรกแซงสื่อมวลชน ซึ่งสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแทรกแซงสื่อมวลชนด้วย และยืนยันว่า การถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็ถูกย้ายจากทำเนียบรัฐบาล ไปรับผิดชอบองค์กรอิสระ และห้ามไม่ให้ติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ไปปฏิบัติภารกิจในนามทีวีพูล เช่นเดียวกัน โดยมารับทราบในภายหลัง เนื่องจากมีทริปที่จะเดินทางไปบรูไน เพื่อตามทำข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และถูกกำชับจากนักข่าวรุ่นพี่ในช่อง 7 ให้ทำตัวดี ๆ ในระหว่างการทำงาน
" ทำให้ดิฉันเกิดความสงสียจึงสอบถาม จนได้ทราบว่า นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขาส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอไม่ให้ช่อง 7 ส่งดิฉันไปทำข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ แต่การเดินทางไปบรูไน ในคราวนั้น นักข่าวรุ่นพี่รายนี้ ได้ไปขอกับนายผดุง จึงได้รับการเสนอชื่อให้เดินทางไปได้ แต่ดิฉันก็ขอยกเลิกการเดินทาง เพราะไม่เห็นด้วยที่ช่อง 7 จะยอมให้ฝ่ายการเมือง มาแทรกแซงเช่นนี้ การจะเดินทางไปต่างประเทศ ของทีมข่าวช่อง 7 ต้องเกิดจากการบริหารจัดการขององค์กร ไม่ใช่ต้องรอให้นายผดุง พยักหน้า จึงส่งนักข่าวไปได้ และในยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ ก็เคยมีความพยายามที่จะย้ายดิฉันออกจากทำเนียบรัฐบาล เช่นเดียวกัน ซึ่งกรรมาธิการฯ สามารถตรวจสอบการทำงาน และการตั้งคำถามนายกรัฐมนตรี แต่ละยุคของดิฉันได้ ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่" น.ส.สมจิตต์ กล่าว

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตองค์กรสื่อว่าน่าจะมีวิธีการปกป้องการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนได้มากกว่านี้ แค่การออกแถลงการณ์แล้วจบไปโดยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงเสนอให้กรรมาธิการฯ เชิญองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงถึงแนวทางที่จะปกป้องวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ให้ถูกแทรกแซงได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 46 มีสภาพบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
ขณะที่นายสุพล ฟองงาม ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ช่อง 7 ไม่นำเสนอข่าวนายกรัฐมนตรี ในช่วงวันสงกรานต์ เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะจะถูกมองได้ว่า เป็นเรื่องการเมือง ทำให้นายสมโภชน์ ชี้แจงว่า การตัดสินใจไม่นำเสนอข่าวนายกรัฐมนตรี ในช่วงสงกรานต์ เป็นสิทธิ และดุลพินิจของ ช่อง 7 ซึ่งในการทำงาน ก็ส่งทีมข่าวติดตามภารกิจนายกฯ ตามปกติ เพียงแต่ไม่ได้นำภาพข่าวในช่วงเวลานั้นมาออกอากาศ เท่านั้น ซึ่งช่อง 7 ก็มีความรับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะสื่อมวลชน หากมีใครเห็นว่าผิดกฎหมาย ก็ดำเนินการได้
ขณะที่น.ส.สมจิตต์ ระบุว่า การพูดชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริง ที่ให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการ ถึงการแทรกแซงสื่อในแต่ละยุค ที่ตนได้ประสบเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น