“สมจิตต์” หอบหลักฐานแจง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ สภา ยันรัฐแทรกแซงช่อง 7 ต่อสายบีบผู้บริหารเปลี่ยนตัวนักข่าว ชี้พฤติกรรมไม่ต่างจากยุค “แม้ว” สกัดทำข่าวนายกฯ ยอมรับช่อง 7 ประท้วงไม่เสนอข่าว “ปู” ช่วงสงกรานต์ แสดงจุดยืนไม่ยอมให้การเมืองแทรก ด้าน “นิพิฏฐ์” แขวะองค์กรสื่อทำได้แค่ออกแถลงการณ์
วันนี้ (25 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องเรียนกรณีนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้สอบสวนการแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ในกรณีที่สำนักโฆษกระงับการเดินทางไปกัมพูชาเพื่อปฏิบัติภารกิจทำข่าวนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ของ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในฐานะทีมทีวีพูลล่วงหน้า โดยได้เชิญ น.ส.สมจิตต์ และนายสมโภชน์ โตรักษา ผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการข่าวช่อง 7 นางปรารถนา สุทิน ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ
นายสมโภชน์กล่าวถึงข้อเท็จจริงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ช่อง 7 ได้รับมอบหมายจากทีวีพูลให้ติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรี โดยปกติการส่งทีมข่าวติดตามภารกิจจะมี 2 ทีม คือ ทีมล่วงหน้า และทีมที่เดินทางพร้อมคณะ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้เป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นทีมล่วงหน้าเดินทางไปกับนายชรัส จรรยา ช่างภาพ ส่วนอีกทีมจะเดินทางขึ้นเครื่องพร้อมนายกรัฐมนตรี คือ นายเจษฎา อุปนิ และช่างภาพ ซึ่งรายชื่อทั้งหมดส่งให้กองงานโฆษกประสานกระทรวงการต่างประเทศไปยังกัมพูชาเรียบร้อยหมดแล้ว โดยได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางกองงานโฆษกแจ้งมาที่ช่อง 7 ว่าทุกอย่างเรียบร้อย สามารถออกตั๋วเครื่องบินในวันที่ 28 มีนาคม เท่ากับว่ารายชื่อของทีมข่าวสามารถเดินทางเข้ากัมพูชาได้อย่างถูกต้อง และ น.ส.สมจิตต์ได้เดินทางไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับภารกิจการประชุมอาเซียน และการหารือทวิภาคี โดยทางสำนักโฆษกจะสรุปภารกิจให้เป็นแนวคำถามกับทีมข่าว
นายสมโภชน์เล่าต่อว่า ผลที่ตามมาหลังจากที่่ น.ส.สมจิตต์ได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารช่อง 7 สองท่านโทรศัพท์แจ้งตนว่ามีนักการเมืองในรัฐบาลท่านหนึ่งโทร.หาเพื่อขอให้ยกเลิกการส่ง น.ส.สมจิตต์ ไปปฏิัติภารกิจนี้ ตนจึงสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลขอมา แต่ตนได้ยืนยันในฐานะผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ และผู้บังคับบัญชาของ น.ส.สมจิตต์ ว่านี่คือการบริหารจัดการภายในของช่อง 7 และเป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์ จึงไม่มีเหตุผลที่จะยอมให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงระงับการเดินทางไปของทีมข่าว เพราะเป็นการบริหารจัดการภายในของสถานี นอกจากนี้ยังมีการออกตั๋วเครื่องบินพร้อมกับจองที่พักที่กัมพูชา รวมทั้งดำเนินการทางเอกสารครบถ้วนแล้ว จึงขอให้ผู้บริหารทบทวน ซึ่งก็ต้องขอบคุณที่ผู้บริหารรับฟังเสียงสะท้อนของตนในฐานะผู้ปฏิบัติงาน จึงยืนยันให้ น.ส.สมจิตต์ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่หลังจากนั้นสองวันก็มีหนังสือจากสำนักโฆษกระงับการเดินทางของทีมล่วงหน้าอ้างว่ากัมพูชามีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนสื่อมวลชน และการดูแลรักษาความปลอดภัย
“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน และยืนยันกับผู้บริหารให้ น.ส.สมจิตต์ไปทำข่าว แต่ด้วยข้อจำกัดในฐานะเป็นสมาชิกทีวีพูล และผมเป็นพนักงานช่อง 7 ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผู้บริหาร แต่ผมก็ต้องบอกว่าผมไม่ยอมรับการแทรกแซงจากการเมืองที่ใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงสื่อมวลชน ผมมีความมั่นใจในตัว น.ส.สมจิตต์ ว่ามีความเป็นมืออาชีพที่สามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่บกพร่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 10 ปี น.ส.สมจิตต์ไม่เคยมีประวัติถูกร้องเรียนเรื่องผลประโยชน์ และมีจรรยาบรรณวิชาชีพมาตลอด จึงไม่มีเหตุผลที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงเช่นนี้
ในฐานะที่ทำงานสื่อมวลชนมากว่า 20 ปี ผมมั่นใจว่าการกระทำครั้งนี้ของคนในรัฐบาล เป็นการแทรกแซงด้วยวาจา ก่อนที่จะมีคำสั่งตามมาภายหลัง เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ทางช่อง 7 ก็ได้แสดงออกอย่างหนึ่ง คือ ไม่นำเสนอภารกิจนายกรัฐมนตรีในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้ฝ่ายการเมืองได้เห็นจุดยืนของช่อง 7 ที่ำไม่ยอมรับการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และยืนยันว่าหากถึงคิวที่ช่อง 7 ต้องส่งทีมข่าวไปติดตามทำข่าวนายกรัฐมนตรีในฐานะทีวีพูลก็จะส่ง น.ส.สมจิตต์ไป เพราะเป็นคิวของ น.ส.สมจิตต์จะตัดสิทธิ์ไม่ได้” นายสมโภชน์กล่าว
ด้าน น.ส.สมจิตต์ ได้นำหลักฐานการแจ้งยกเลิกคณะสื่อมวลชนทีมล่วงหน้าที่ทำถึงประธานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ที่ลงนามโดยนางปรารถนา สุทิน ผู้อำนวยการสำนักโฆษก และเอกสารของกลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก เกี่ยวกับแนวคำถาม-คำตอบสำหรับนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ทีวีพูล (ช่อง 7) ซึ่งมีการระบุถึงการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลซึ่งจะให้คณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาเป็นประธานเจรจา มามอบต่อกรรมาธิการฯ ด้วย พร้อมกับชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่รอการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่มาสอบถามว่า “คนที่ชื่อสมจิตต์มาหรือไม่” ซึ่งตนก็ตอบไปว่ามาแล้ว จากนั้นประมาณ 15 นาที เลขาฯ ส่วนตัวและนายเวรนายกรัฐมนตรีก็เดินเข้ามาหา ซึ่งก็ทักทายตามปกติแต่ไม่ได้พูดคุย ก่อนที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ โฆษกส่วนตัวนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาทักทาย และในระหว่างการสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จึงน่าจะทราบดีว่ารายละเอียดของเหตุการณ์เป็นอย่างไร แต่กลับมีการกล่าวหาตนผ่านทวิตเตอร์ที่ตอบคำถามนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ประจำทำเนียบรัฐบาล ว่าตนมีอคติ ไม่ให้เกียรตินายกรัฐมนตรี และตั้งคำถามโดยไม่ทำการบ้าน ซึ่งจากเอกสารที่ตนได้แสดงต่อกรรมาธิการฯ ก็ยืนยันแล้วว่า มีการระบุเกี่ยวกับการเจรจาปัญหาพื้ที่ทับซ้อนทางทะเลว่าจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ และขอให้ทางกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือขอเทปมาสเตอร์ที่ตนสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีในวัที่ 28 มีนาคม 2555 มาประกอบการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ว่ามีส่วนใดที่แสดงถึงอคติ หรือการไม่ให้เกียรตินายกรัฐมนตรีตามที่นายสุรนันทน์กล่าวหาหรือไม่
“ถามว่าคิดว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่อยากให้เดินทางไปทำข่าวนายกฯ ก็คิดว่าอาจจะเกิดจากกรณีที่มีประธาน นปช.เพชรบุรี เคยส่งอีเมลข่มขู่ที่ถามจนนายกรัฐมนตรีเดินหนี และอคติของนายสุรนันทน์ เพราะถ้อยคำจากทวิตเตอร์ที่กล่าวหาดิฉันนั้น แสดงถึงอคติอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะการตอบทวิตเตอร์นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ที่ถามว่า ตกลงขอให้เปลี่ยนตัวนักข่าวจริงหรือเปล่าครับ ตอบตรงประเด็นหน่อย โดยนายสุรนันทน์ตอบว่า ไม่ชอบ แต่ใครจะไปกล้าสั่ง ใหญ่ๆ กันทั้งนั้้น และยังมีคำตอบผ่านทวิตเตอร์ของนายสุรนันทน์ที่พาดพิงถึงผู้บริหารช่อง 7 โดยระบุว่าควรให้เกียรติรัฐบาลด้วย จึงต้องตั้งคำถามว่า นายสุรนันทน์มีการติดต่อถึงผู้บริหารช่อง 7 ในเรื่องอะไร และประเด็นไหนที่ผู้บริหารช่อง 7 ทำให้นายสุรนันทน์มีความรู้สึกว่าผู้บริหารไม่ให้เกียรติรัฐบาล เกี่ยวข้องโทรศัพท์สายที่ต่อถึงผู้บริหารเพื่อให้เปลี่ยนแปลงทีมข่าวแต่ไม่ได้รีบการตอบสนองหรือไม่ และหากนายสุรนันทน์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จริงจะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะนายสุรนันทน์อยู่ในระหว่างการถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะข้องเกี่ยวกับการบริหารราชการไม่ได้” น.ส.สมจิตต์กล่าว
ผู้สื่อข่าวช่อง 7 กล่าวด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตจากนายประดิษฐ์ ว่าอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 46 เพราะเป็นการแทรกแซงสื่อมวลชน ซึ่งสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแทรกแซงสื่อมวลชนด้วย และยืนยันว่าการถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกแต่ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็ถูกย้ายจากทำเนียบรัฐบาลไปรับผิดชอบองค์กรอิสระ และห้ามไม่ให้ติดตาม พ.ต.ท.ทักษิณไปปฏิบัติภารกิจในนามทีวีพูลเช่นเดียวกัน โดยมารับทราบในภายหลังเนื่องจากมีทริปที่จะเดินทางไปบรูไนเพื่อตามทำข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และถูกกำชับจากนักข่าวรุ่นพี่ในช่อง 7 ให้ทำตัวดีๆ ในระหว่างการทำงาน
“ทำให้ดิฉันเกิดความสงสัย จึงสอบถามจนได้ทราบว่า นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขาฯ ส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอไม่ให้ช่อง 7 ส่งดิฉันไปทำข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ แต่การเดินทางไปบรูไนในคราวนั้น นักข่าวรุ่นพี่รายนี้ได้ไปขอกับนายผดุง จึงได้รับการเสนอชื่อให้เดินทางไปได้ แต่ดิฉันก็ขอยกเลิกการเดินทางเพราะไม่เห็นด้วยที่ช่อง 7 จะยอมให้ฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงเช่นนี้ การจะเดินทางไปต่างประเทศของทีมข่าวช่อง 7 ต้องเกิดจากการบริหารจัดการขององค์กร ไม่ใช่ต้องรอให้นายผดุงพยักหน้าจึงส่งนักข่าวไปได้ และในยุคนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายก ก็เคยมีความพยายามที่จะย้ายดิฉันออกจากทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกัน ซึ่งกรรมาธิการฯ สามารถตรวจสอบการทำงานและการตั้งคำถามนายกรัฐมนตรีแต่ละยุคของดิฉันได้ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่” น.ส.สมจิตต์กล่าว
ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า องค์กรสื่อว่าจะมีวิธีการปกป้องการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนได้มากกว่าแค่การออกแถลงการณ์แล้วจบไป โดยไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงเสนอให้กรรมาธิการฯ เชิญองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงแนวทางที่จะปกป้องวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ให้ถูกแทรกแซงได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญตรา 46 มีสภาพบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
ขณะที่ นายสุพล ฟองงาม ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่ช่อง 7 ไม่นำเสนอข่าวนายกรัฐมนตรีในช่วงวันสงกรานต์เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่ควรพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะจะถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง ทำให้นายสมโภชน์ชี้แจงว่า การตัดสินใจไม่นำเสนอข่าวนายกรัฐมนตรีในช่วงสงกรานต์เป็นสิทธิและดุลพินิจของช่อง 7 ซึ่งในการทำงานก็ส่งทีมข่าวติดตามภารกิจนายกรัฐมนตรีตามปกติ เพียงแต่ไม่ได้นำภาพข่าวในช่วงเวลานั้นมาออกอากาศเท่านั้น ซึ่งช่อง 7 ก็มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะสื่อมวลชน หากมีใครเห็นว่าผิดกฎหมายก็ดำเนินการได้ ขณะที่ น.ส.สมจิตต์ระบุว่า การพูดชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการถึงการแทรกแซงสื่อในแต่ละยุคที่ตนได้ประสบเท่านั้น