xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการฯแจ้ง"ตู่"ไม่ผิด พบขาดประชุมสภาแค่ 16 ครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 24 เม.ย.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2553 กรณีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตส.ว. ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรมของนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ไปร่วมเคลื่อนไหวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในขณะนั้น โดยที่ประชุมได้พิจารณาหลักฐานบันทึกการประชุมส.ส.ในขณะนั้น พบว่ามีการประชุมตลอดสมัยการประชุมรวม 29 ครั้ง นายจตุพรขอลาประชุม 16 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ 8 ครั้งที่นายจตุพรได้แจ้งเหตุการลาประชุมมีทั้งติดภารกิจ และเพื่อเข้าร่วมอภิปรายเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนอีก 8 ครั้งนั้นไม่ได้มีการแจ้งเหตุแห่งการลา ซึ่งในการลาประชุมทั้ง 16 ครั้งได้รับการอนุมัติจากประธานสภาผู้แทนราษฎรตามที่ระเบียบของสภาฯกำหนดไว้ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่า กรณีของนายจตุพร จึงไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม แต่ไม่เหมาะสมเพราะตามระเบียบการลาประชุมที่จะต้องลาในกรณี เจ็บป่วย หรือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่กรณีของนายจตุพร ที่อ้างว่าลาไปเพื่ออภิปรายปลุกระดมเรียกร้องประชาธิปไตย คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของส.ส.โดยตรง
ทั้งนี้นายศรีราชา ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงหนังสือร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว.สรรหา ที่ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของนายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้โทรศัพท์มือถือเปิดภาพโป๊ระหว่างการประชุมรัฐสภา ที่ส่งมาถึงผู้ตรวจในวันเดียวกันนี้ โดยจะขอดูว่าทางกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการและมีความเห็นอย่างไรก่อน หากผู้ตรวจฯเห็นว่าความเห็นของกรรมาธิการฯไม่ถูกต้องก็จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 280 เปิดการไต่สวนสาธารณะ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. จะยื่นให้ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกรัฐสภากรณีกดบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายศรีราชา กล่าวว่า ไม่กังวลอะไร ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ว่ากันไปตามข้อบังคับ แต่เรื่องเสียบบัตรแทนกันนี้ได้ยินมานานเป็น 10 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าถามว่าต้องแก้ไขอย่างไรคิดว่าต้องที่แก้ที่ตัวส.ส. ที่ต้องพึงสังวรว่าตนเองมีหน้าที่อย่างไร
นอกจากนี้นายศรีราชา ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ตรวจฯได้รับหนังสือตอบกลับจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ แล้ว โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงยืนยันว่าเป็นดุลยพินิจ โดยผู้ตรวจฯก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม คาดว่าใน 2-3 วันนี้คงจะมีคำตอบว่าผู้ตรวจฯจะดำเนินการอย่างไร
ด้านประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีของนายจตุพร ว่า กรณีดังกล่าวผู้ตรวจฯได้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือกรณีที่มีการร้องเรียนก็ได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญมาตรา 106 อนุ 10 ที่ระบุว่า หากส.ส.ขาดประชุมเกินกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็นส.ส.สิ้นสุดลง และระเบียบการลาของส.ส. รวมถึงประมวลจริยธรรม ส.ส.ที่กำหนดให้ลาประชุมได้เมื่อเจ็บป่วย หรือมีเหตุสุดวิสัย จึงเห็นว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและระเบียบมีเจตนาให้ส.ส.ต้องเข้าประชุมทุกครั้งยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง นายจตุพรลาประชุมโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ การลาของนายจตุพร จึงไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ
แต่ทั้งนี้เพื่อให้การลาประชุมเพื่อให้การลาประชุมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะเสนอไปยังประธานสภาฯควรมีการกำหนดกรอบการพิจารณาในการอนุมัติให้มีการลาประชุมที่ชัดเจน เพราะถ้ายังอนุมัติให้ส.ส.ลาประชุมโดยอ้างเหตุเช่นนายจตุพร ก็จะเป็นการใช้ดุลยพินิจที่หละหลวมตามอำเภอใจ ไม่สอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในปัญหาเรื่องจริยธรรมของส.ส.ทั้งเรื่องการขาดประชุม การเสียบบัตรแทนกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีนัดที่จะหารือกับคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ในกรณีอนาคตมีการร้องเรียนปัญหาจริยธรรมมายังผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมาธิการฯ หน่วยงานใดควรจะพิจารณาก่อนหลัง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องกรณีของนายจตุพรนั้น แต่เดิมหลังจากผู้ตรวจฯได้รับคำร้องจากนายเจิมศักดิ์ แล้วก็มีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในขณะนั้นไม่มีผู้นำฝ่ายค้านจึงทำให้คณะกรรมาธิการฯไม่มีการประชุมและเรื่องก็ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปี 53 ทางผู้ตรวจฯก็เห็นว่า เรื่องดังกล่าวควรหาข้อยุติได้แล้วจึงได้นำมาดำเนินการเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น