xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชี้ “ตู่” โดดสภาฯ ปลุกระดมแดง ผิดระเบียบการลา ไม่ถึงขั้นจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุมผู้ตรวจฯ เผยผลสอบจริยธรรม “จตุพร” ขาดประชุมสภาฯ ไปร่วมปลุกระดมเสื้อแดงไม่ผิด แต่ไม่เหมาะสมเพราะผิดระเบียบการลา “ศรีราชา” ระบุผู้ตรวจฯ พร้อมสอบสมาชิกรัฐสภากดบัตรลงคะแนนแทนกัน มองเป็นความผิด ชี้ยากแก้ไข ขณะที่คำร้องสอบจริยธรรม “ณัฏฐ์” ถึงมือแล้ว ขอรอดูท่าทีกมธ.จริยธรรมสภาก่อน

วันนี้ (24 เม.ย.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำร้องที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2553 กรณีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. ร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ไปร่วมเคลื่อนไหวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในขณะนั้น โดยที่ประชุมได้พิจารณาหลักฐานบันทึกการประชุม ส.ส.ในขณะนั้น พบว่ามีการประชุมตลอดสมัยการประชุมรวม 29 ครั้ง นายจตุพรขอลาประชุม 16 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ 8 ครั้งที่นายจตุพรได้แจ้งเหตุการลาประชุมมีทั้งติดภารกิจ และเพื่อเข้าร่วมอภิปรายเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนอีก 8 ครั้งนั้นไม่ได้มีการแจ้งเหตุแห่งการลา ซึ่งในการลาประชุมทั้ง 16 ครั้งได้รับการอนุมัติจากประธานสภาผู้แทนราษฎรตามที่ระเบียบของสภาฯ กำหนดไว้ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่า กรณีของนายจตุพร จึงไม่เข้าข่ายผิดจริยธรรม แต่ไม่เหมาะสม เพราะตามระเบียบการลาประชุมที่จะต้องลาในกรณีเจ็บป่วย หรือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่กรณีของนายจตุพรที่อ้างว่าลาไปเพื่ออภิปรายปลุกระดมเรียกร้องประชาธิปไตย คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.โดยตรง

ทั้งนี้ นายศรีราชายังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังรับทราบถึงหนังสือร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของนายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีใช้โทรศัพท์มือถือเปิดภาพโป๊ระหว่างการประชุมรัฐสภา ที่ส่งมาถึงผู้ตรวจในวันเดียวกันนี้ โดยจะขอดูว่าทางกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการและมีความเห็นอย่างไรก่อน หากผู้ตรวจฯ เห็นว่าความเห็นของกรรมาธิการฯ ไม่ถูกต้องก็จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 280 เปิดการไต่สวนสาธารณะ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. จะยื่นให้ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกรัฐสภากรณีกดบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายศรีราชากล่าวว่า ไม่กังวลอะไร ถ้ามีข้อผิดพลาดก็ว่ากันไปตามข้อบังคับ แต่เรื่องเสียบบัตรแทนกันนี้ได้ยินมานานเป็น 10 ปี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าถามว่าต้องแก้ไขอย่างไรคิดว่าต้องแก้ที่ตัว ส.ส. ที่ต้องพึงสังวรว่าตนเองมีหน้าที่อย่างไร

นอกจากนี้ นายศรีราชายังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ตรวจฯ ได้รับหนังสือตอบกลับจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ แล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงยืนยันว่าเป็นดุลพินิจ โดยผู้ตรวจฯ ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม คาดว่าใน 2-3 วันนี้คงจะมีคำตอบว่าผู้ตรวจฯ จะดำเนินการอย่างไร

ด้าน นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีของนายจตุพรว่า กรณีดังกล่าวผู้ตรวจฯ ได้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือกรณีที่มีการร้องเรียนก็ได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญมาตรา 106 อนุ 10 ที่ระบุว่า หากส.ส.ขาดประชุมเกินกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง และระเบียบการลาของ ส.ส. รวมถึงประมวลจริยธรรม ส.ส.ที่กำหนดให้ลาประชุมได้เมื่อเจ็บป่วย หรือมีเหตุสุดวิสัย จึงเห็นว่า ทั้งรัฐธรรมนูญและระเบียบมีเจตนาให้ ส.ส.ต้องเข้าประชุมทุกครั้งยกเว้นมีเหตุจำเป็น และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง นายจตุพรลาประชุมโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ การลาของนายจตุพร จึงไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้เพื่อให้การลาประชุมเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะเสนอไปยังประธานสภาฯ ควรมีการกำหนดกรอบการพิจารณาในการอนุมัติให้มีการลาประชุมที่ชัดเจน เพราะถ้ายังอนุมัติให้ ส.ส.ลาประชุมโดยอ้างเหตุเช่นนายจตุพร ก็จะเป็นการใช้ดุลพินิจที่หละหลวมตามอำเภอใจ ไม่สอดคล้องกับเจตนาของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ในปัญหาเรื่องจริยธรรมของ ส.ส.ทั้งเรื่องการขาดประชุม การเสียบบัตรแทนกัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีนัดที่จะหารือกับคณะกรรมาธิการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า เกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ในกรณีอนาคตมีการร้องเรียนปัญหาจริยธรรมมายังผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมาธิการฯ หน่วยงานใดควรจะพิจารณาก่อนหลัง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องกรณีของนายจตุพรนั้น แต่เดิมหลังจากผู้ตรวจฯ ได้รับคำร้องจากนายเจิมศักดิ์ แล้วก็มีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในขณะนั้นไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน จึงทำให้คณะกรรมาธิการฯ ไม่มีการประชุม และเรื่องก็ค้างการพิจารณามาตั้งแต่ปี 53 ทางผู้ตรวจฯ ก็เห็นว่า เรื่องดังกล่าวควรหาข้อยุติได้แล้ว จึงนำมาดำเนินการเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น