xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยน กม.เลือกสสร.3 “วิปรัฐ”แก้เกมยอมตามใจฝ่ายค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“วิปรัฐ” แบะท่าใช้ กม.เลือกตั้ง ส.ว.ตามใจฝ่ายค้าน ดึง กกต.มาร่วมเคาะในที่ประชุม 4 ฝ่ายวันนี้ “มาร์ค”ค้านรวบรัดที่มา สสร. ใช้กฎหมายท้องถิ่นแทนเลือกตั้ง สว. ห่วงการเมืองแทรก แนะ “สดศรี” เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าความสะดวก หลังหนุนกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ส่วน 2 กกต.เห็นควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ

วานนี้ (23 เม.ย. 55) นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยภายหลังการประชุมประจำสัปดาห์ถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยืดเยื้อมาถึง 6 วันและจะมีการประชุมต่อในวันที่ 24-25 เม.ย.นี้ว่า เบื้องต้นในวันที่24 เม.ย. ในการประชุมผู้แทน 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และกรรมาธิการ จะมีประชุมในส่วนของมาตรา 291/5 เกี่ยวกับการเลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสถาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยได้เชิญผู้แทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้กฎหมายระหว่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ที่ผ่านชั้นกรรมาธิการมาแล้ว กับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ฝ่ายค้านเสนอให้นำมาใช้นั้น ฉบับใดจะมีการความเหมาะสมมากกว่า

“รัฐบาลไม่มีธง ไม่ซีเรียสว่าจะใช้กฎหมายฉบับไหน รอให้ กกต.มาเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าติดขัดอะไรหรือไม่ หากจะใช้การเลือกตั้งรูปแบบเดียวกับ ส.ว. ต้องดูด้วยว่า กกต.จะงดเว้นระเบียบในส่วนใดได้บ้าง อาทิ การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะ กกต.ถือเป็นผู้ที่จะบังคับใช้กฎหมายในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรง” ประธานวิปรัฐบาล ระบุ

นายอุดมเดช ยังกล่าวด้วย นอกจากนี้ในส่วนของมาตรา 291/11 ที่ฝ่ายค้านต้องการปรับให้นำร่างที่ ส.ส.ร.ยกร่างแล้วเสร็จ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก่อนนำออกไปทำประชามติ เรื่องนี้ต้องหารือกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า จะนำหลับเข้ามาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในประเด็นใด หากนำเข้ามาเพื่อดูว่าเนื้อหากระทบสถาบันพระมหากษัตริย์หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุช ก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ แต่หากต้องการนำเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ในการทำหน้าที่ของผู้แทนก็คงไม่เหมาะสม เพราะในขั้นตอนก็ได้ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจอยู่แล้ว ส.ส.-ส.ว.ในฐานะผู้แทนประชาชนจึงไม่ควรมีหน้าที่อีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายในสัปดาห์นี้การพิจารณาวาระที่ 2 จะแล้วเสร็จหรือไม่ นายอุดมเดช กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้าน โดยต้องทำความเข้าใจว่า การแปรญัตติตามถือเป็นสิทธิ แต่หากจะใช้เวลาในการอภิปรายมากเกินไป ต้องถามว่าความเหมาะสมคืออะไร ที่ผ่านมาก็ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับชมผ่านการถ่ายทอดมาตลอด 6 วัน จึงต้องถามประชาชนด้วยว่ามากเกินไปหรือไม่ ฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีการเร่งรีบรวบรัดจากฝ่ายรัฐบาล ตามที่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหา แต่การกำหนดวันอภิปรายที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องกรรมาธิการและสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนกำหนดการนำเข้าพิจารณาในวาระที่ 3 ที่เคยกำหนดไว้ในวันที่ 8 พ.ค.นั้น ก็เป็นการตกลงร่วมกันของวิปทั้ง 4 ฝ่าย แต่มาวันนี้ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ส่วนจะสามารถพิจารณาในวาระที่ 3 วันใดนั้นคงยังตอกไม่ได้

“เราได้ทำตามที่ผู้นำฝ่ายค้านบอกให้ ผู้แทน 4 ฝ่ายมาพูดคุยกันแล้ว หากมีข้อสรุปใดๆออกมา ฝ่ายค้านก็ควรรับฟังเหตุและผล ซึ่งหากผู้แทนไปพูดคุยกับสมาชิกในฝ่ายตัวเองได้ ก็คิดว่าการประชุมจะจบได้ ไม่ยืดเยื้อไปอีก” นายอุดมเดช กล่าว

**ปชป.ค้าน ใช้กม.ท้องถิ่นแทนเลือกสว.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องแยกเป็นทีละขั้นตอนโดยขณะนี้อยู่ในวาระที่สองพรรคยืนยีนการทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงร่างให้เสียหายน้อยที่สุด ไม่ให้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลหรือมีความไม่เหมาะไม่ควรเท่าที่จะทำได้ บางเรื่องก็ชัดเจนว่าพรรคคงไม่สามารถทำให้ทางกรรมาธิการฯเสียงข้างมากยอมได้ แต่ส่วนไหนที่พรรคพอทำได้ก็จะดำเนินการต่อ ซึ่งหากกรรมาธิการฯเสียงข้างมากตอบรับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะทำให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น แต่ถ้าไม่ตอบรับก็จะต้องอภิปรายกันต่ออาจจะต้องใช้เวลา 5 วันหรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนในวาระสามและเมื่อมีการการเลือก ส.ส.ร. ก็ต้องให้ความจริงกันต่อไปว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร

ส่วนกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ออกมาสนับสนุนให้ใบ้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นแทนกฎหมายเลือกตั้ง สว.ว่าตนได้เสนอไปแล้วว่าอยากให้ฝ่ายค้านได้หารือกับ กกต.ด้วยว่ามีความเป็นห่วงในเรื่องบทบาทของพรรคการเมืองที่จะไปครอบงำ ส.ส.ร. ซึ่งตนไม่ทราบว่านางสดศรีมีคำตอบในเรื่องนี้หรือไม่ว่าการใช้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นจะวางบทบาทพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.อย่างไร การที่นางสดศรีอ้างว่าจะประหยัดงบประมาณได้พันล้านจากการไม่ต้องจัดเทอกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น ตนเห็นว่าเป็นคนละประเด็นเพราะได้บอกไปแล้วว่ากรณีการใช้กฎหมายเลือกตั้ง สว.สามารถยกเว้นเรื่องการเลือกตั้งต่างประเทศ เลือกตั้งล่วงหน้าได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนอยู่แล้วว่าให้ กกต.สามารถยกเว้นบทบัญญัติใดที่ไม่อยากใช้เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็น นางสดศรีควรจะไปดูประเด็นนี้ใหม่

"ผมไม่ทราบว่าคุณสดศรีทราบหรือยังว่าปัญหาของบทบาทพรรคการเมืองที่ถกเถียงกันอยู่เป๋นอย่างไร การอนุโลมให้ใช้กฎหมายท้องถิ่นและไกลถึงนาดจะให้ศาลอุทธรณ์มาพิจารณาทั้งหมด คือ กกต.ตามร่างที่ปรากฏไม่มีอำนาจในการออกใบเหลือง ใบแดง สสร.เลย แม้ว่าจะไม่ขัดกฎหมายเพราะเป็นรัฐธรรมนูญแต่มันก็เป็นเรื่องแปลกที่เรามีองค์กรทำหน้าที่ดูแลความสุจริตเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ใช้ไปใช้กฎหมายที่ไม่เคยเขียนมาก่อนว่าบังคับให้ศาลต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน และในทางปฏิบัติหากเทียบกับคดีท้องถิ่นก็ใช้เวลาเกิน 30 วัน จึงไม่เหมาะที่จะใช้ ผมจึงอยากให้นางสดศรีมองประโยชน์ส่วนรวมอย่ามองเฉพาะความสะดวกของ กกต. อาจจะเป็นไปได้ที่นางสดศรีไม่อยากให้ กกต.มายุ่งวุ่นวายเรื่องการให้ใบเหลือง ใบแดง ส.ส.ร.กลัวว่าจะต้องยุ่งยากจึงอยากให้มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตัวองค์กร เพราะฟังเหตุผลที่ผ่านมานางสดศรีจะเน้นในเรื่องความสะดวกเป็นหลัก ทั้งที่มีเรื่องใหญ่กว่าความสะดวกเพราะเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากความหลากหลาย หรือเป็นสภาซึ่งเสียงข้างมากหรือฝ่ายการเมืองครอบงำได้ยาก จึงอยากให้นางสดศรีมองประเด็นนี้ด้วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวด้วยว่า การกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่ให้ใบเหลือง ใบแดง ส.ส.ร.ภายในสามสิบวันนั้น เป็นการใส่ไว้ในช่วงท้าย ซึ่งตนก็สอบถามผู้แทนกฤษฎีกาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยมีความเร่งรีบเพราะกกต.ยืนยีนว่าควรมีกฎหมายเลือก ส.ส.ร.เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้หากมีการรวบรัดกระบวนการได้ ส.ส.ร.มากจนเกินไป ก็จะทำให้ในขั้นตอนของการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะเกิดการโกง ซื้อเสียงง่ายกว่าที่ควรจะเป็น เพราะมีการบังคับให้รับรองภายในระยะเวาที่กำหนดว่าศาลจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงบทบาทของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏความเห็นของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นไปตามบทบาทที่มีคนวางไว้ให้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะที่สุดแล้วเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลจากเดิมที่บอกว่าเป็นเรื่องของสภาแต่ที่สุดแล้วก็ใช้ร่างของ ครม.เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับจากการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศแล้วก็อยากเห็น ครม.ไปร่วมประชุมรัฐสภารับฟังปัญหาต่าง ๆ บ้าง แต่คงบังคับให้นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นหรือไม่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง

**กกต.ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยงให้ใช้กม.ใดจัด

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวถึงข้อเสนอใช้กฎหมายใดในการเลือกตั้งส.ส.ร ว่า ส่วนตัวคิดว่าควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง ซึ่งอาจใช้เวลาในการตรากฎหมายประมาณ 1 เดือน แต่ก็จะปลอดภัยและชัดเจนต่อ กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ

“ขอให้รัฐสภามีความชัดเจนว่าจะให้ กกต. นำกฎหมายใดมาใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพราะทั้ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมทั้งประหยัดงบประมาณเพราะใช้เจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วย(กปน.)น้อยกว่า แต่มีข้อเสียคือ พรรคการเมืองสามารถมายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จะระบุชัดเจนว่าห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่วิจารณญาณของรัฐสภา”
 

อย่างไรก็ตามในการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไม่ควรเป็นหน้าที่ของ กกต. ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณา เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไปปกติ เนื่องจากการพิจารณาต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ถ้าหากจะให้ กกต. เป็นผู้พิจารณาก็ไม่ขัดข้อง

วันเดียวกันนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวตอนหนึ่งระหว่างมอบนโยบายในพิธีการเปิดสัมมนาพนักงานจัดการเลือกตั้ง ประจำปี 2555 ว่า ขณะนี้อยู่สภาฯอยู่ระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. ) โดยร่างแรกที่ผ่านการพิจารณาไปคือให้กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งส.ส.ร. ซึ่ง ตนมองว่างานของกกต.เป็นงานระดับชาติ มีผลกระทบกับการเมืองและประเทศชาติโดยตรง เนื่องจากเกี่ยวกับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าทำด้วยความสุจริต นักการเมือง ก็จะให้ความเชื่อถือ หากทำผิดพลาดก็จะกระทบความน่าเชื่อถือของกกต. โดยการเลือกตั้งส.ส.ร.ที่จะมีขึ้นก็ต้องรอดูว่าเขาจะให้กกต.ใช้กฎหมายใดในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการสอบถามความเห็นมา กกต.ก็ได้เสนอให้ออกเป็นกฎหมายเฉพาะในการจัดการเลือกตั้งส.ส.ร. เหมือนที่ปี 50 ออกกฎหมายเฉพาะในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 50 แต่ปรากฏว่าที่ประชุมของคณะกรรมาธิการฯไม่ได้ดำเนินการให้ออกกฎหมายใหม่ แต่ให้ใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น มาใช้เลือกตั้งส.ส.ร.

“ในฐานะผู้ปฎิบัติกกต.ไม่เกี่ยงงอน หากสภาฯออกกฎหมายอย่างไร ก็ต้องทำให้ดีที่สุด จะใช้กฎหมายใดก็ต้องอยู่ที่สภา ถ้าเป็นพ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ดี เพราะไม่มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทำให้งบประมาณลดลง ซึ่งการนำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร หรือถ้ามีจุดอ่อนช่องว่างใดก็สามารถเขียนระบุเพิ่มไปได้”

ส่วนการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งที่มาตรา 291 ระบุ ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดง ไม่อยากก้าวล่วงทางคณะกรรมาธิการฯ แต่อยากเสนอว่าในการพิจาณาคดีต่างๆ ของศาล จะไปบังคับศาลไม่ได้ ว่าให้พิจารณาแล้วเสร็จภายในกี่วัน เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในแต่ละคดี

นายประพันธ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สภามีมติออกมาอย่างไร กกต.ก็ปฏิบัติให้ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การออกกฎหมายเฉพาะ แต่เมื่อกรรมาธิการมีความเห็นให้นำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.มาใช้ กกต.ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ เพราะทั้งสองกฎหมายก็มีข้อดีและข้อเสีย อย่างกรณีการนำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาบังคับใช้นั้น หากไม่ต้องการให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ให้นำ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาบังคับใช้โดยอนุโลมได้ ส่วนการกำหนดบทลงโทษอาญาที่จะนำมาใช้โดยอนุโลม ตามหลักนิติศาสตร์แล้ว ไม่สามารถทำได้ ซึ่งควรระบุเป็นรายมาตราให้ชัดเจนว่าจะนำบทลงโทษในมาตราใดมาบังคับใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น