xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อันเนื่องมาจากธุดงค์ของวัดพระธรรมกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ข่าวคราวครึกโครมด้านพระพุทธศาสนา ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น คงไม่มีข่าวใดที่จะดังไปกว่าพระภิกษุ-สามเณร 1,500 รูปเดินธุดงค์เข้าสู่ใจกลางของกรุงเทพมหานครเมื่อ 2-6 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้การจราจรติดขัดเป็นอันมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้คนที่ต้องประกอบกิจการทำมาหากินกันทั่วหน้า เพราะเมื่อการจราจรติดขัดเสียแล้ว การดำเนินธุรกิจก็พลอยติดขัดไปด้วย โดยเฉพาะการกำหนดนัดหมายใดๆ ในการติดต่อบริษัทห้างร้านหรือสถานที่ราชการก็คลาดเคลื่อนไป ไม่อาจดำเนินการให้เป็นตามกำหนดนัดหมาย และผลเสียหายอื่นๆ ก็จะเกิดตามมามากมาย ผู้ที่ได้รับผลเดือดร้อนนี้ก็คือชาวบ้านตาดๆ ซึ่งไม่อาจจะโต้แย้งหรือต่อต้านอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของการทำบุญทำกุศลที่เป็นฉากกั้นอยู่

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการที่วัดพระธรรมกายได้จัดให้มีการเดินธุดงค์ในครั้งนี้อย่างกว้างขวางจากสื่อต่างๆ และชาวบ้านโดยทั่วไป

สิ่งที่กังขากันมากก็คือ ทำไมต้องเดินธุดงค์เข้ามาในเมืองที่การจราจรหนาแน่น ผู้คนก็พลุกพล่าน และเป็นสถานที่หาความสงบไม่ได้เลย บางที่บางแห่งเป็นสถานที่อโคจรสำหรับภิกษุ-สามเณรด้วยซ้ำไป การเดินธุดงค์นั้นคือ การแสวงหาสงบสงัดจากผู้คนเพื่อจะได้บำเพ็ญสมณธรรมและโดยมากจะธุดงค์ไปตามลำพังรูปเดียวบ้าง สอง-สามรูปบ้าง ไม่ใช่เป็นร้อยเป็นพันอะไรแบบนี้

ลักษณะดังกล่าวนี้ น่าจะเรียกว่า ขบวนแห่เสียมากกว่า หรือขบวนแสดงพลังให้ชาวโลกได้เห็นถึงความพิเศษอะไรบางอย่าง บางประการที่ผู้จัดหรือผู้อำนวยการต้องการให้เป็นไป โดยอ้างเอาการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีและการอัญเชิญรูปหล่อของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่การอัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อวัดปากน้ำสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้สะดวกกว่า ส่วนพระภิกษุ-สามเณรก็เดินทางโดยรถยนต์ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเดินเป็นรูปขบวนให้ผู้คนต้องมาคอยโปรยกลีบกุหลาบ คอยปูเสื่อให้เดิน ทำให้เข้าใจไปว่าพระวัดพระธรรมกายเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ไม่มีวัดไหนหรือสำนักสงฆ์ไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ใช่หรือไม่?

อีกประการหนึ่ง วัดพระธรรมกายนี้ เมื่อมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จสิ้นแล้ว ก็มักจะเปล่งวาจา “ชิตัง เม ชิตัง เม เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว” ก็ไม่ทราบว่าชนะอะไร ชนะใคร ชนะคนอื่น พวกอื่น หรือชนะใจตนเอง

คำว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม” ไม่ใช่คำพูดที่จะเอามากล่าวเล่นๆ หรือกล่าวอ้างความสำเร็จใดๆ แต่เป็นคำกล่าวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นกุท ทาลบัณฑิต เป็นนักบวชภายนอก บวชๆ สึกๆ ถึง 6 ครั้ง เพราะมีจิตผูกพันอยู่กับเมล็ดพันธุ์พืชและจอบขุดดิน ในครั้งที่ 7 ตัดสินใจแน่แน่แล้วว่าจะบวชไม่สึกอีก จึงเอาเมล็ดพันธุ์พืชผู้เข้ากับใบจอบ แล้วจับปลายต้านจอบยกขึ้นเหนือศีรษะแกว่ง 3 รอบ หลับตาแล้วจึงโยนจอบลงในแม่น้ำคงคา เมื่อลืมตาขึ้นไม่อาจกำหนดได้ว่าจอบตกลงตรงไหน ก็เกิดความปีติในใจที่เอาชนะตนเอง จึงเปล่งคำว่า “ชิตัง เม ชิตัง เม เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”

เมื่อพระจะกล่าวถ้อยคำนี้ จึงน่าจะสังวรว่า มีความสมควรหรือไม่ เพราะในอนุศาสน์ 8 ข้อสุดท้ายที่เป็นอกรณียกิจคือ กิจที่ภิกษุไม่ถึงกระทำคือการอวดอุตริมนุสธรรม โดยกำหนดต่ำสุด แม้คำว่า “เรายินดีในที่สงัด” ก็ไม่ควรกล่าวเพราะเป็นการอวดอ้างคุณพิเศษ แม้เป็นเพียงคุณพิเศษเล็กน้อยก็ตาม

อีกอย่างหนึ่ง วัดพระธรรมกายมักมีการสอนที่แหวกแนวอยู่เสมอๆ เช่น สอนว่า “นิพพาน เป็นอัตตา” ทั้งๆ ที่พระพุทธศาสนาและชาวพุทธโดยทั่วไปรู้ดีว่า นิพพานเป็นอนัตตา แม้จะถูกโต้แย้งว่า สอนผิดหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็ไม่ยอมแก้ไข ยังคงถือทิฐิดันทุรัง แต่เมื่อไปไม่รอด ก็กลับเลี่ยงบอกว่า ได้สอนตามพระไตรปิฎกแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ยอมรับว่านิพพานเป็นอนัตตาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ พระธัมมชโยยังถูกฟ้องคดีเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์และที่ดินของวัดหลายคดีด้วยกัน โดยมีการการดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 2542-2547 เหลือสืบพยานจำเลยอีก 2 นัด ในวันที่ 23 และ 24 สิงหาคม 2549 เท่านั้น แต่แล้วในวันที่ 21 สิงหาคม พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ซึ่งเป็นโจทก์ ก็ขอถอนฟ้องจำเลย คือ พระธัมมชัยโย และ นายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ โดยเรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา5 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล สรุปว่า ปัจจุบันจำเลยที่1 กับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก ส่วนด้านทรัพย์สินนั้น จำเลยที่1กับพวก ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดคืน ทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุด ( นายพชร ยุติธรรมดำรง) จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ทุกข้อกล่าวหา

แม้ว่าอัยการสูงสุดมีคำให้ถอดฟ้องคดีทุกข้อกล่าวหาแล้วก็คือ นั่นเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมืองที่จะถือเป็นข้อยุติ แต่ในทางพระวินัยสงฆ์อันเป็นพระพุทธบัญญัตินั้น ภิกษุผู้ยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นมีค่ากินกว่า 5 มาสกมาเป็นของตนต้องอาบัติปราชิกขาดจากความเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา นับแต่การถือครองทรัพย์นั้น แม้จะคืนทรัพย์ให้ในภายหลังก็ไม่ถือว่าพ้นจากอาบัติปราชิก เพราะการกระทำของภิกษุนั้นสำเร็จแต่แรกแล้ว สมณเพศของภิกษุนั้นไม่สามารถคืนกลับมาได้อีก ใช่หรือไม่? ขอฝากพระวินัยธรได้พิจารณาด้วยเถิด

อนึ่ง พระพุทธศาสนาของพวกเราทั้งหลาย ที่มีอายุสืบต่อมาได้จนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็โดยอาศัยการตำหนิติเตียนตามความเป็นจริง ที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “วิพากษ์วิจารณ์” นั่นแหละ ไม่ได้มองว่า กำตำหนิติเตียนเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือพวกใดพวกหนึ่ง แต่ทำเพื่อความถูกต้องที่สังคมควรจะเป็น แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงมองข้าม เมื่อชาวบ้านติเตียนเรื่องใด พระองค์ก็จะตรัสเรียกประชุมสงฆ์แล้วตรัสถึงโทษที่เขาติเตียน และตรัสถึงคุณประโยชน์ของการไม่กระทำผิดในเรื่องนั้นๆ ไปดูได้ศีล 227 ข้อที่มาในพระปาฏิโมกข์ ส่วนใหญ่ทรงบัญญัติจากการกระทำของภิกษุที่ชาวบ้านเขาตำหนิติเตียนทั้งสิ้น

เมื่อถึงบรรทัดนี้แล้ว ก็ขอกราบเรียนว่า ทางที่พระจะต้องเดินนั้นมีทางสายนี้สายเดียวเท่านั้น อย่าหลงไปเดินทางสายอื่น ทางสายนี้คืออัฏฐังคิกมรรคคือทางประกอบด้วยองค์ 8 ประการดังนี้

เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ

นี้เป็นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกแก่ปัจจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เป็นทางสายเดียวที่จะนำพาผู้เดินให้เข้าถึงความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น