xs
xsm
sm
md
lg

แบกกลดลุยกรุง : ธุดงค์สร้างภาพ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เมื่อหลายวันก่อน ผู้เขียนไปงานเผาศพภรรยาของเพื่อน และพบว่าสาเหตุที่ทำให้รถติดที่ไม่น่าจะเป็นเหตุมาจากมีขบวนพระแบกกลดเดินตามถนน โดยมีคนโปรยกลีบกุหลาบเพื่อให้พระเดินเหยียบซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนความรู้สึกในทางลบมากกว่าบวก ถ้ามองในสายตาชาวพุทธที่พอจะมีความรู้ในเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้าในส่วนที่เกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติของพระป่าหรือพระธุดงค์ที่ชาวบ้านเรียกขานกัน

อะไรเป็นความแตกต่างระหว่างพระป่ากับพระบ้าน และทั้ง 2 ประเภทนี้ยึดถือหลักปฏิบัติอย่างไร?

เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจในเรื่องศาสนา และต้องการเนื้อหาที่เป็นคำสอนแบบพุทธแท้ๆ ไม่มีการบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์แห่งตนของคนบางกลุ่ม ผู้เขียนใคร่ขอให้ย้อนไปดูการแบ่งประเภทของพระภิกษุ 2 ประเภท ดังนี้

1. คามวาสี คือ ภิกษุที่อยู่จำพรรษาในหมู่บ้าน หรือชุมชน หรือพูดง่ายๆ ก็คือในเขตอันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และภิกษุประเภทนี้จะเน้นไปในทางคันถธุระ คือ เล่าเรียนศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระธรรม และพระวินัย แล้วนำไปเผยแผ่ในรูปแบบของการให้ความรู้ในทางทฤษฎี หรือที่เรียกว่า ปริยัติธรรม และในเวลาเดียวกันก็มีอยู่ไม่น้อยเมื่อรู้ทางปริยัติเพียงพอแล้วก็มุ่งสู่การปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ เป็นต้น

2. อรัญวาสี คือภิกษุที่มุ่งปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นเป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อบวชแล้วระยะหนึ่งหลังจากได้ศึกษาพระธรรมและพระวินัยจากครูบาอาจารย์พอจะเป็นแนวทางฝึกฝนภาคปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก็จะขอลาครูบาอาจารย์ออกธุดงค์ในป่าอยู่ตามโค่นไม้ และถ้ำ เป็นต้น โดยยึดหลักความสงัดกาย หรือกายวิเวกเป็นเกณฑ์แล้วปฏิบัติธรรมอันควรแก่อุปนิสัยแห่งตน ภิกษุประเภทนี้เองที่ชาวบ้านเรียกพระป่า หาใช่พระประเภทที่เพิ่งบวชจีวรยังไม่ทันเก่า และยังไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับธุดงควัตรแต่ออกลุยกรุงแบกกลด โดยมีคนคอยโปรยกลีบกุหลาบให้เดินเหยียบ ดังที่ปรากฏแถวๆ ย่านเยาวราชและวงเวียนใหญ่แต่อย่างใดไม่

ถ้าพระที่เดินแบกกลดลุยกรุงเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาไม่ใช่พระป่าตามความหมายดังที่เป็นมาตั้งแต่โบราณแล้ว พระพวกนี้เป็นประเภทไหนในสองประเภทนี้ หรือไม่เป็นสักประเภท เพราะเหตุใด?

เพื่อแยกให้เห็นชัดเกี่ยวกับพระป่ากับพระบ้านเพิ่มเติมจากที่บอกแล้วข้างต้น

สิ่งหนึ่งที่พระป่ายึดถือปฏิบัติก็คือ จะปักกลดหรือพักพิงห่างจากย่านชุมชนหรือที่อยู่อาศัยของคนประมาณในพระวินัยบอกว่าชั่วลูกธนูตกก็ราวๆ 200 เมตรขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการเข้ามาบิณฑบาตในตอนเช้า และในการเดินบิณฑบาตจะห่มคลุมโดยปิดไหล่สองข้างเดินอย่างสำรวมอินทรีย์ เมื่อเห็นว่ามีทายกแสดงท่าทีจะใส่บาตรให้เอามือซ้ายจับสังฆาฏิ (คือจีวรที่เย็บซ้อนกันสองชั้น) และมือขวายื่นบาตรออกไป ประคองด้วยมือสองข้างเพื่อรับของจากทายกเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้ให้ทาน และในการรับบิณฑบาตจะรับแต่พอฉันไม่ล้นบาตร

แต่เท่าที่เห็นภาพของขบวนพระธุดงค์กลางกรุงแล้วรู้สึกว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิง คือนุ่งห่มจีวรไม่เป็นปริมณฑลตามพระวินัยบัญญัติ และเดินไม่สำรวมเฉกเช่นที่พระธุดงค์ควรเป็น อีกทั้งการตามโรยกลีบกุหลาบทำให้เห็นภาพแห่งความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเพื่อการสร้างภาพ และเรียกศรัทธาจากชาวพุทธประเภทศรัทธามืดบอด หรือศรัทธาผสมด้วยอวิชชา มากกว่าศรัทธาประกอบด้วยปัญญา

ดังนั้น ประเด็นที่ว่าพระประเภทนี้เดินประเภทไหน ก็น่าจะตอบได้ว่าเป็นประเภทธุดงค์สร้างภาพ หรือธุดงค์จัดฉากมากกว่าธุดงค์เพื่อขจัดกิเลสโดยมุ่งความหลุดพ้น

อีกประการหนึ่ง จากภาพที่เห็น ทั้งจีวร และบาตรของพระทุกรูปใหม่ถอดด้ามเหมือนมาจากแหล่งเดียวกัน และเกิดมาพร้อมกัน คือ อายุการใช้งานไม่นานเหมือนกัน จึงน่าจะเรียกได้ว่าใหม่ทั้งคนบวช และบาตร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพูดได้ว่า ทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ

อนึ่ง ถ้าจะนำเอาหลักคำสอน 3 ขั้นของพุทธมาอธิบายเปรียบเทียบ ก็จะได้นัยหนึ่งแตกต่างออกไป

คำสอนที่ว่านี้ก็คือ ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

เริ่มด้วยศีล ถ้าเป็นศีลของภิกษุก็จะมี 227 ข้อ ซึ่งพระทุกรูปต้องถือปฏิบัติ และพระที่เพิ่งบวชใหม่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจในศีล 227 ข้อดีพอก็จะต้องอยู่ในความดูแลของพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์ผู้ได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์สักระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเกือบ 5 พรรษาเป็นอย่างน้อย จึงจะได้รับอนุญาตให้ออกเที่ยวจาริกปฏิบัติธรรมได้

ข้อที่สอง สมาธิ ก็ทำนองเดียวกัน จะต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมดูแลจากท่านผู้รู้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ข้องแวะกับสิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้เข้าใจผิด หรือที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส เช่น เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นต้น

ข้อสุดท้ายคือ ปัญญา อันเป็นผลของการฝึกจิต ทั้งด้วยสมถะ และวิปัสสนา แต่ส่วนใหญ่ปัญญาจะเกิดจากวิปัสสนา ส่วนสมาธิเน้นให้เกิดความสงบของจิตใจ และละกิเลสได้ด้วยการข่มจิต แต่สมาธิจะทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การฝึกจิตในทางพุทธจุดมุ่งหมายแท้จริงแล้วเพื่อการหลุดพ้น มิใช่ให้หยุดแค่มีอิทธิฤทธิ์และยึดติดอยู่แค่ลาภสักการะอันเกิดจากศรัทธาในฤทธิ์นั้น ถ้าเป็นเช่นนี้มิใช่แนวทางแห่งพุทธ
กำลังโหลดความคิดเห็น