xs
xsm
sm
md
lg

“ประชาชนต้องปกครองตนเอง” คุยรอบแรก “พันธมิตรฯ” กับ “สยามประชาภิวัฒน์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เชิญนักวิชาการจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เพื่อมาพูดคุยกันเรื่อง “หลักการปกครองประเทศไทย” ซึ่งแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้จัดทำ “ร่างหลักการปกครองประเทศไทย” เอาไว้ เพื่อเตรียมนำเสนอทางสาธารณะชนเพื่อทำประชาพิจารณ์ในโอกาสต่อไป

ความจริง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และกลุ่มนักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” ต่างมีเป้าหมายของกลุ่มที่ตรงกันมากที่สุดก็คือการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่

และการปฏิรูปครั้งใหญ่จะเกิดได้จะต้องขจัดระบอบเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการที่มาจากเลือกตั้ง โดยทุนสามานย์ หรือโดยทุนผูกขาดเจ้าของพรรคการเมือง

ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมาจากการที่นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองทำธุรกิจการเมือง สัมปทานประเทศไทยผ่านการลงทุนในการเลือกตั้ง และถอนทุนคืนผ่านการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากเป็นฝ่ายพวกเดียวกับฝ่ายบริหาร สามารถตรากฎหมาย อนุมัติงบประมาณ และฝ่ายนิติบัญญัติสนับสนุนและไว้วางใจฝ่ายบริหารได้จนตลอดสมัย ซึ่งไม่มีวันที่จะตรวจสอบกันได้จริงในระบบแบบนี้ ซ้ำร้ายยังสามารถสมรู้ร่วมคิดในการลดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบอิสระ หรือ ตุลาการได้อีกด้วย แม้กระทั่งความผิดซึ่งศาลตัดสินไปแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังเป็นอภิสิทธิ์ชนที่จะสามารถตรากฎหมายเพื่อล้างความผิดของตัวเองได้อย่างไร้ยางอาย

คำถามก็คือแล้วเราจะหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการที่มาจากระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ ได้อย่างไร?

คำตอบส่วนที่หนึ่งในสายตาของแกนนำพันธมิตรฯ คือต้องทำให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เป็นอำนาจอธิปไตยส่วนกลางที่ต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้จริง ซึ่งจะแก้ไขได้ก็ต้องมีที่มาและเบ้าหลอมที่แตกต่างกัน โดยมีตัวแทนประชาชนทั้งที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และตัวแทนตามสาขาอาชีพ ตลอดจนนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนนั้นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

คำตอบอีกส่วนหนึ่ง ที่เน้นหนักจากการพูดคุยโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ก็คือ การทำให้เกิดการถ่วงดุลตรวจสอบกัน โดยเพิ่มอำนาจการตัดสินใจและงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมมือกับชุมชน และลดอำนาจและงบประมาณการเมืองส่วนกลางให้เหลือเพียงหน้าที่กำกับดูแล สนับสนุน และ ตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้เสนอว่า การถ่วงดุลกันระหว่างรัฐบาลกลาง กับ รัฐบาลท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะทุกวันนี้แม้จะมีรูปแบบเหมือนการกระจายงบประมาณให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับต้องพึ่งพาการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณ หรือ โครงการต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็กลายเป็นกลไกในการอนุมัติงบประมาณ ที่ทำให้ในท้ายที่สุดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพึ่งพาและอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

ยังไม่นับในทางปฏิบัติที่งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไปแฝงแบกรับโครงการประชานิยมที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จึงทำให้เหลืองบประมาณเพียงน้อยนิดที่จะเกิดขึ้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลส่วนกลางทั้งข้าราชการและนักการเมืองที่ควบคุมดูแลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อ การปกครองส่วนท้องถิ่นไปโดยปริยาย ซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้น ยังเรียกหัวคิด หรือ เงินใต้โต๊ะ เพื่อปั้นโครงการต่างๆตามแต่การตัดสินใจจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้ทุนสามานย์ผู้กำกับรัฐบาลย่อมส่งความสามานย์เหล่านี้เป็นทอดๆต่อไปยังถึงการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น

สิ่งที่นักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เสนอเรียกว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” !!!

ลองคิดมาดูกันว่า ถ้าตำรวจ การศึกษา และเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดต่างๆ อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้อำนาจ และงบประมาณ อย่างเต็มที่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

จินตนาการที่คนทั่วไปก็จะคิดถึงโดยธรรมชาติก็คือ จาก “โกงกระจุก” จะกลายเป็น “โกงกระจาย” หรือไม่? และจะทำให้นักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวแทนทุนสามานย์ท้องถิ่นเกิดกระจายขึ้นทั่วประเทศหรือไม่?

คำตอบในเรื่องนี้กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์กลับมองเห็นว่า ปัญหาการจัดการทุจริตเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องจัดการขั้นเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าการกระจายอำนาจและการตัดสินใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ต้องทำให้เกิดรูปแบบของสภาประชาชนประจำจังหวัด โดยมีตัวแทนในระดับท้องที่ สภาตำบล สภาองค์กรชุมชน หรือ สภาธุรกิจหรือสาขาอาชีพ รวมตัวกัน เพื่อให้เป็นตัวแทนรักษาประโยชน์ในจังหวัดอย่างรอบด้านโดยสร้าง ธรรมนูญการปกครองประจำจังหวัดของตัวเอง ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในจังหวัดของตนเอง

การสร้างประชาชนเปลี่ยนสถานภาพจากผู้ถูกปกครองให้มาปกครองตนเองนั้นจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันระหว่างจังหวัดด้วยกันเอง ทั้งการศึกษา การสาธารณสุข สาธารณูปโภค เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ซึ่งสุดท้ายประชาชนย่อมจะได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงว่าจะหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าจากการขายเสียงเพื่อประโยชน์ของนายทุน หรือจะหวังความเจริญก้าวหน้าของลูกหลานเมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อเป็นผลประโยชน์โดยมีส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชนโดยตรง การตรวจสอบจากประชาชนจะเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติเพื่อรักษาประโยชน์ของตัวเอง

ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาที่กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ได้หยิบยกขึ้นมา คือความก้าวหน้าของประชาชนในวันนี้ก็คือการก่อรูปของประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่รวมตัวกันในการที่จะปกครองตนเองได้ โดยประชาชนได้จัดทำ “ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ”

ทั้งนี้ “ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ” มี 9 หมวด คือ 1. บททั่วไป 2. ปรัชญาแนวคิด 3. การเมืองภาคพลเมือง ที่มีเนื้อหาสร้างสังคมเครือข่ายแห่งการเรียนรูปตามแนวทางวิถีปะชาธิปไตย ชุมชน โดยอาศัยสภาหมู่บ้าน ฯลฯ 4. ด้านสังคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ผู้คนฮักแพงแบ่งปัน สานต่อวัฒนธรรมประเพณี โดยมีข้อเสนอจัดการด้านการศึกษา ด้านสตรี เด็ก และเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และศาสนาความเชื่อ 5.ระบบเศรษฐกิจชุมชน กล่าวถึงการยกระดับการกินดีอยู่ดีของคนในชุมชน โดยทุกครอบครัวจะปลูกพืชผัก สวนครัวไว้กินและแบ่งปัน กองทุนเพื่อการผลิตดอกเบี้ยต่ำ ปรับวิถีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นวิถีเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ

6. ด้านสุขภาพ สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ หมวดนี้มีความน่าสนใจตรงการกำหนดให้มี “ธรรมนูญสุขภาพ” ซึ่งทางสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สนับสนุนในการจัดทำกระบวนการ 7. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง ที่ชาวบ้านขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใจ 8. ด้านการับรู้ การเข้าถึง และการกระจายข่าวสารเป็นข้อเสนอด้านการสื่อสารของชุมชน โดยชุมชนต้องเข้าถึง อิสระเท่าเทียม และเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ผลิตเนื้อหาสาระด้วยตนเอง หลากหลายเนื้อหาสาระ และ 9. บทเฉพาะกาล

ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าผู้ปกครองและนักการเมืองที่มีอำนาจส่วนกลางอยู่ในปัจจุบัน คงไม่ยินยอมที่จะสูญเสียดุลอำนาจที่เป็นอยู่แน่

แต่ถ้าประชาชนตื่นรู้ และหันมาปกครองตนเองให้มากขึ้น เมื่อมีบทเรียนที่ทำให้ประชาชนรู้ว่า ประชาชนที่ปกครองตนเอง ประโยชน์ย่อมตกอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นนั้น แต่หากปล่อยให้นักการเมืองปกครองอยู่เช่นนี้ต่อไป ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองและประชาชนก็จะเป็นทาสที่ถูกปกครองต่อไปอย่างไม่รู้จบสิ้น

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งในการพูดคุยระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งเมื่อข้อสรุปทุกด้านได้มีความสอดคล้องตรวจทานกันแล้วก็จะนำเสนอให้กับประชาชนได้ร่วมกันทำประชาพิจารณ์ให้ความเห็นเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์ในโอกาสต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น