xs
xsm
sm
md
lg

‘กิตติศักดิ์ ปรกติ’ เตือนล้มคดี คตส.-นิรโทษกรรม ไม่ใช่หนทางปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - แผนนิรโทษกรรมฟอกความผิด ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่จุดชนวนความขัดแย้งไม่สิ้นสุด กระทั่งอาจนำมาซึ่งสงครามกลางเมืองอีกครั้ง “กิตติศักดิ์ ปรกติ” นักวิชาการด้านกฎหมายจากรั้วธรรมศาสตร์ ย้ำเตือนการฟอกผิดให้เป็นถูก การล้มล้างคดี คตส. บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่หนทางปรองดองที่แท้จริง

ภายใต้ความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะพา “ทักษิณกลับบ้าน” อย่างไร้มลทินของบรรดาลิ่วล้อ เพื่อตอบสนองคำประกาศกร้าวครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ผมไม่ได้ผิดอะไร” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้สภาพการเมืองและสังคมไทยจมปลักอยู่กับความขัดแย้งไม่จบสิ้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำเตือนสติผู้เกี่ยวข้องไม่ให้นำแผนปรองดองมาฟอกคนผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ล้มล้างคดี คตส. และการนิรโทษกรรมเพื่อฟอกความผิดนั้น มิใช่หนทางสู่ความปรองดองที่แท้จริง

ล้มคดี คตส. ลามยึดทรัพย์จอมเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม หากความพยายามในการล้มล้างคดี คตส.สำเร็จจริงตามแผนปรองดองของบรรดาลิ่วล้อทักษิณ เช่นนั้นแล้วจะส่งผลอะไรต่อบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งส่งผลสะเทือนกระบวนการยุติธรรมทั้งในอดีตและนับจากนี้อย่างไรบ้าง ผศ.ดร.กิตติศักดิ์แสดงทัศนะว่า จะเกิดปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งความหมายของ ‘ปัญหาทางรัฐธรรมนูญ’ ก็คือ ประการแรก ต้องดูว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคไหม และประการที่ 2 จะไปขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยหรือเปล่า

การขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจหมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายฝ่ายตุลาการไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายตุลาการก็ไม่ใช้อำนาจเข้ามาก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ฝ่ายตุลาการจะทำหน้าที่วินิจฉัยคดีว่าเป็นไปตามกกฏหมายหรือไม่ ยกเว้นกรณีคดีที่เป็นคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ากฏหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้นมาขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นกติกาที่ตกลงกันไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัย

“ส่วนปัญหาเรื่องความเสมอภาคในกรณีล้มคดี คตส.นั้น ถ้าหากเขาบอกว่า ‘กระบวนการไม่ถูกต้อง ให้ไปดำเนินการใหม่ เริ่มต้นกระบวนการใหม่ หรือเริ่มต้นพิจารณาใหม่’ อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้ไปล้มล้างคำพิพากษา

แต่แม้จะบอกว่ากระบวนการที่ดำเนินมาไม่ถูกต้องก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกว่า ถ้าเช่นนั้นการดำเนินกระบวนการอื่นๆ ที่กระทำไปแล้วต่อบุคคลในอดีต เช่นการยึดทรัพย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาศ จารุเสถียร ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นก็จะเกิดปัญหาว่าถ้าครั้งนี้สามารถทำได้ บุคคลเหล่านั้นก็จะขอรับผลประโยชน์ตามหลักการของการเสมอภาคด้วยหรือไม่ เพราะถ้าจะบอกว่าคนทุกคนต้องเสมอภาคกันก็จะเสมอกันแบบนี้ กลายเป็นปัญหาทางการเมืองตามมาอีก”

ตามความเห็นของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ถ้าหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามก็คือ ทำให้เกิดปัญหาว่าเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ยึดทรัพย์ในอดีตแล้วจะขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ เพราะเหตุว่าการสอบสวนการกระทำฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือมีผลประโยชน์ขัดกับอำนาจหหน้าที่นั้น ไม่ใช่มีเฉพาะ คตส. ในอดีตก็มีหลายกรณี และไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาด้วย ยกตัวอย่างเช่นการยึดทรัพย์จอมพลสฤษฎ์ จอมพลถนอม จอมพลประภาส กรณีนั้นเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ดังนั้น ถ้าหากว่าจะยกเลิกคำพิพากษา อย่างแรกก็จะเกิดคำถามว่าแล้วจะต้องไปยกเลิกการกระทำต่อทรัพย์สินของนักการเมืองก่อนหน้านั้นด้วยหรือไม่?

ประการต่อมา การยกเลิกคำพิพากษานี้จะต้องใช้อำนาจของรัฐสภา ปัญหาก็คือว่า อำนาจรัฐสภานั้น สามารถตรากฎหมายได้แต่มีไว้สำหรับใช้ในอนาคต ส่วนการตรากฎหมายย้อนหลังเพื่อไปยกเลิกคำพิพากษานั้นทำไม่ได้ จะทำได้อยู่อย่างเดียวคือการยกเลิกความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือยกเลิกความผิดที่กระทำต่ออำนาจหน้าที่ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาสิ้นผลไป แล้วทีนี้การยกเลิกความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการยกเลิกความผิดต่ออำนาจหน้าที่นั้น รัฐจะอธิบายอย่างไร? เพราะรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษากฎหมาย ถ้าจะไปออกกฎหมายว่าคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไปขัดต่ออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตรากฎหมายสำหรับไว้ใช้ในอนาคต ไม่สามารถไปออกกฎหมายยกเลิกคำพิพากษาย้อนหลังได้ เว้นแต่จะเป็นการยกเลิกการกระทำความผิด มันก็หักล้างกันเองแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเตือนว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ ควรจะคิดพิจารณาให้รอบคอบ”

นอกจากนั้น ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อธิบายเพิ่มเติมถึงอำนาจหน้าที่และความสำคัญของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ (คตส.) ว่า “คตส. ก็คือ เจ้าหน้าที่สอบสวน ก็เหมือนกับการตั้งตำรวจขึ้นมาสอบสวนคดี ตั้งเจ้าพนักงานสอบสวนและให้อำนาจเขาดำเนินคดีได้ด้วย แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าเหตุที่จะไปยกเลิกคดี คตส.นั้น เขาจะยกเลิกเฉพาะกระบวนการของ คตส. หรือยกเลิกผลการพิจารณาของศาล อันนี้มันคนละเรื่องกัน ถ้าหากว่ายกเลิกกระบวนการพิจารณาของศาลนั้นทำไม่ได้ เพราะมันขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่ถ้าจะไปบอกว่าการดำเนินการของ คตส.นั้นเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ ก็ต้องมีเหตุผล เพราะอำนาจของ คตส.นั้น เขามีอำนาจสอบสวน ไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยคดี มันก็จะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกว่าด้วยเรื่องของการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะคดี คตส.แล้ว รวมทั้งคดีอื่นๆ ด้วย ที่ต้องปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้นมันก็จะกลายเป็นปัญหาวัวพันหลักขึ้นทันที”

นิรโทษกรรมทำได้ แต่ไม่ใช่กับความผิดฐานทำร้าย ‘ชีวิตและร่างกาย’

“ส่วนเรื่องความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองในกรณีที่เป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง การนิรโทษกรรมก็เป็นอำนาจที่ทางราชการสามารถทำได้ แต่ว่าจะมีปัญหาในประเด็นการกระทำผิดต่อชีวิตและร่างกาย เพราะเหตุว่าไม่ความสงบนั้นเป็นเรื่องที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ชีวิตและร่างกายของบุคคลนั้นรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของ แล้วจะไปเที่ยวยกโทษให้เขานี่มันจะเป็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น

“ถ้าเป็นการขัดต่อกฏหมายที่ห้ามการชุมนุม เช่น ความผิดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นความผิดที่นิรโทษกรรมได้ แต่ถ้าหากว่ามีการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดี หรือของประชาชนด้วยกันเองก็ดีที่กระทำต่อชีวิตร่างกายผู้อื่น ผมเห็นว่าการนิรโทษกรรมนั้นทำไม่ได้ เพราะคนที่เป็นเจ้าของชีวิตไม่ใช่รัฐ แต่เป็นสิทธิของเจ้าตัวเขาที่มีสิทธิจะให้มีการดำเนินคดีต่อไปได้ เรื่องแบบนี้เคยเป็นปัญหาเกิดขึ้น เมื่อครั้งเหตุการณ์วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ครั้งหนึ่งแล้ว”

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์อธิบายว่า ในเหตุการณ์นั้นเป็นกรณีที่รัฐบาลตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำที่เป็นความผิด ซึ่งหมายถึงว่าในด้านหนึ่งนั้นการชุมนุมของประชาชนที่มีความผิดให้กลายเป็นไม่มีความผิด แต่อีกด้านหนึ่งก็ให้ถือว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชนก็ไม่มีความผิดด้วย

“ในความเห็นของผม การนิรโทษกรรมประชาชนที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐนั้นทำได้ เพราะว่ารัฐเป็นผู้ที่มีหน้าที่รักษาความสงบและเมื่อได้รักษาความสงบและเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อให้เกิดการรักษาความสงบและมั่นคงยิ่งขึ้น รัฐก็จะไม่เอาโทษผู้ที่ก่อกวนความสงบ แบบนี้ทำได้ แต่ถ้าประชาชนเขาทำผิดต่อชีวิตร่างกาย ทำร้ายกันเองหรือฆ่ากันเองก็ดี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อชีวิตร่างกายของประชาชนก็ดี ความผิดแบบนี้ เป็นความผิดต่อชีวิตร่างกายซึ่งมันเป็นเรื่องที่รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตร่างกายของประชาชน และเมื่อรัฐไม่ใช่เจ้าของชีวิตร่างกาย รัฐจะมานิรโทษกรรมความผิดอันนี้ไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์ พฤษภาคม 2555 นั้น เป็นกรณีที่รัฐจะต้องดำเนินคดี แต่ถ้าดำเนินคดีแล้วอภัยโทษ แบบนี้ทำได้ เพราะมันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ แต่ถ้าจะบอกว่าไม่ให้มีการดำเนินคดี ให้เลิกแล้วต่อกัน ผมเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐ

วัตถุประสงค์หลักของการที่เราอยู่รวมกันเป็น ‘รัฐ’ นั้น วัตถุประสงค์หลักเลยก็คือ ‘รัฐจะต้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน’ แล้วถ้าวันหนึ่งรัฐมาบอกว่าถ้ารัฐทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินแล้วไม่เป็นความผิด แบบนี้มันก็ขัดต่อวัตถุประสงค์ของรัฐ”

ขจัดคอร์รัปชันให้หมดสิ้น คือหนทางปรองดองที่แท้จริง

“การปรองดอง หรือจะนิรโทษกรรม จะยกโทษอะไรกันนั้นก็ทำได้ แต่ว่ากรรมาธิการฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะพิจารณาว่าบ้านเมืองเราที่เกิดปัญหาขัดแย้งกันเนื่องมาจากเหตุที่เราปล่อยปละละเลยเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่จะต้องเสนอประกอบไปด้วยก็คือ ควรจะต้องวางเกณฑ์กันเสียใหม่ว่า ความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นต้องไม่มีอายุความอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องวางใจได้ว่าการปรองดองไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะไปช่วยเหลือผู้ที่กระทำความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง แล้วคนที่กระทำความผิดด้วยการเข้ามามีอำนาจ มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเพราะหวังในผลประโยชน์นั้นก็จะได้พึงสังวรณ์ไว้ว่า คดีไม่มีอายุความ หากปรากฏความผิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็สามารถเอาโทษได้ อันนี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ และสภาที่เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาประกอบว่ามันจะทำให้เกิดความปรองดองและความเข้าใจกันขึ้นมาได้ เพราะปัญหาความขัดแย้งมันเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกว่า การเสนอข้อปรองดองเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดฉ้อราษฎร์บังหลวง ดังนั้นก็ควรจะแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้น

“รัฐบาล รัฐสภาทั้งหมด เขาจะตั้งอยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้กระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะฉะนั้น รัฐบาลและรัฐสภาจึงต้องพิสูจน์อยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งหลักการสำคัญที่จะยืนยันว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็คือต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผล แต่ถ้าหากว่าทำตามใจ ไม่ถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ประชาชนจะขาดความไว้วางใจ และจะนำไปสู่สถานการณ์ที่รัฐบาลและรัฐสภา ไม่สามารถรักษาความเชื่อถือจากประชาชนไว้ได้ เมื่อรักษาความเชื่อถือไม่ได้ ก็รักษาความสงบไม่ได้ เมื่อรักษาความสงบไม่ได้ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้”

กำลังโหลดความคิดเห็น