xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ แถลงค้านแก้ รธน.ชี้ นิติกรรมอำพรางทุนสามานย์ยึดอำนาจ-นัดประชุม 10 มี.ค.เตรียมพร้อมชุมนุมต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์ฯ ที่บ้านพระอาทิตย์ วันนี้(22ก.พ.)
“พันธมิตรฯ” แถลงต้านแก้ ม.291 ชี้แค่นิติกรรมอำพรางเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับเก่า เปิดทางทุนสามานย์ยึดอำนาจประเทศไทย ลบล้างความผิดในอดีตพร้อมกระชับอำนาจให้เจ้าของพรรคการเมือง เตรียมมอบทนายพันธมิตรฯ ดำเนินคดีอาญา-ยื่นถอดถอนผู้มีเอี่ยวล้มล้าง รธน. นัดประชุมแกนนำ-พี่น้องทั่วประเทศ 10 มี.ค.เตรียมพร้อมเคลื่อนไหว ลั่นชุมนุมใหญ่ทันทีหากพบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันกษัตริย์ หรือล้างผิดให้นักการเมือง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์  

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 22 ก.พ. ภายหลังจากการประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2555 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง “หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญยึดอำนาจประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ตามที่คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน และจะนำไปสู่การลงประชามติ โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 นั้น แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มาประชุมกันและลงมติดังเห็นชอบในการแสดงจุดยืนต่อไปนี้

เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางกำหนดวางคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับในขั้นแรก และเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขั้นต่อไป จึงเข้าข่ายลักษณะการรัฐประหารประเทศไทยและยึดอำนาจประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเผด็จการรัฐสภาโดยกลุ่มทุนสามานย์ผูกขาดของพรรคการเมืองในที่สุด

ทั้งนี้ ที่มาของ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คนนั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และ ส.ส.ร ที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คนนั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่นิติกรรมอำพรางเพื่อให้ ส.ส.ร.ส่วนใหญ่นั้นมาจากเครือข่ายของนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

เพราะการจัดให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนนั้น ก็เป็นวิธีการยึดโยงให้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งมีที่มาในลักษณะการเลือกตั้ง “แบ่งเขตตามพื้นที่” ซึ่งมีรูปแบบคล้ายคลึงกับสมาชิกวุฒิสภาในชุดปัจจุบัน จึงย่อมมีลักษณะความเชื่อมโยงกับระบบอุปถัมภ์ และยึดโยงกับเครือข่ายเดียวกันของนักการเมืองในแต่ละพรรคการเมือง ไม่ต่างจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่นั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏเห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ไม่สามารถพึ่งพาในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารได้เลยในทางปฏิบัติ ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในลักษณะนี้ โดยที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองและพวกพ้องอยู่แล้ว ย่อมเล็งเห็นผลลัพธ์ได้อยู่แล้วว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.77 คน ครั้งนี้เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อกำหนดวางคุณสมบัติ ส.ส.ร. ส่วนใหญ่เอาไว้ให้เป็นกลุ่มคนในเครือข่ายของรัฐบาลเอาไว้ล่วงหน้า อันจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดในที่สุด

เช่นเดียวกันกับการคัดเลือก ส.ส.ร.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ 22 คน ก็จะมีการคัดเลือกโดยที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยสัดส่วนแล้วย่อมเล็งเห็นได้อยู่แล้วว่า ส.ส.ร.ในส่วนนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้อาณัติและการครอบงำของฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอีกเช่นกัน

การคัดเลือกบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้ว ก็เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักของนักการเมืองในระบอบเผด็จการทุนสามานย์โดยเจ้าของพรรคการเมือง 2 ประการ คือ

1. ล้างความผิดในอดีตของเจ้าของพรรคการเมืองและพวก

2. กระชับอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้องในอนาคตให้เบ็ดเสร็จขาดมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ความจริงแล้วการเมืองปัจจุบันหาใช่ระบอบประชาธิปไตยในทางปฏิบัติไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายรัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จริงในทางปฏิบัติ และเมื่อองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอ่อนแอลงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผลทำให้กระบวนการตุลาการไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์และผูกขาดโดยเจ้าของพรรคการเมืองจึงมีความเข้มแข็งและเติบโตขึ้น การเมืองของประเทศไทยจึงเข้าสู่ความล้มเหลวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไม่ว่าฝ่ายใดมาเป็นรัฐบาลต่างก็ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันทั้งสิ้น และประเทศไทยได้ถูกฉ้อราษฎร์บังหลวงไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านล้านบาทตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์แห่งระบอบทักษิณ ที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันถือเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อล้างความผิดในอดีตและกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สุขของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันและพลังงานสูงขึ้นจากการผูกขาดและหาผลประโยชน์จาก ปตท. การเยียวยาจากผู้ประสบอุทกภัยที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ และยังไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ฯลฯ แต่นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังสนใจแต่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง วิกฤติปัญหาของประเทศครั้งนี้จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองที่พฤติกรรมฉ้อฉล

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

อีกทั้งเมื่อปรากฏข้อความตามมาตรา 291/1 ถึง มาตรา 291/16 ตามร่างของรัฐบาลแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันชัดเจนว่า กรณีนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หากแต่เป็นบทบัญญัติให้มีคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจพิเศษในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจตนเอง คือ รัฐสภา มีอำนาจเลือกคณะบุคคลซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วย อีกทั้งยังให้อำนาจพิเศษคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้มีอำนาจให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นได้ และให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย ฯลฯ การแก้ไขครั้งนี้จึงเข้าข่ายเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังเป็นร่างที่จัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ ยังจัดทำขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้มีมติของมหาชนเสียก่อนว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 291” ต้องเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) โดยรัฐสภาต้องร่วมประชุมกันหากมีความคิดหรือมีปัญหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ยุติเสียก่อน หาใช่จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเลยนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร

อีกทั้งตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 136 ด้วยโดยเพิ่มข้อความว่า “(17) การให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/1(2)” อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 136 พร้อมกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 โดยที่ไม่มี “ญัตติ” ของการแก้ไขมาตรา 136 แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นได้มาจากการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศจำนวน 14.7 ล้านเสียง การดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 โดยไม่สนใจประชามติดังกล่าวจึงถือเป็นการล้มรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เป็นการยัดเยียดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติแทน

วิธีการดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเป็นการกระทำที่ส่อให้เห็นว่ากระทำการไปเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68, 122, 136 (16), 291, 270 และขัดต่อบริบทของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเห็นควรดำเนินการดังนี้

1. ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอน และ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยมอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดำเนินการต่อไป

เราจึงขอเตือนไปยังท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติและหวังดีต่อประเทศชาติ อย่าได้ตกเป็นเหยื่อเข้าร่วมการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และได้โปรดเข้าร่วมคัดค้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มกำลังในทุกวาระและทุกโอกาส และขอให้ยึดมั่นคำปฏิญญาณของตนที่สมาชิกรัฐสภาได้กล่าวเอาไว้ก่อนรับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ความว่า :

“ข้าพเจ้า ขอปฏิญญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทยทุกประการ”

2. ขอเชิญแกนนำ ผู้ประสานงาน และตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทุกกลุ่ม เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมรับมือและลุกขึ้นต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อยึดอำนาจประเทศไทยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเตรียมพร้อมเคลื่อนมวลชนชุมนุมทันทีหากพบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือ มีการลบล้างความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้องในอดีต และเตรียมการรณรงค์เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ต่อไป โดยจะจัดให้มีการประชุมในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10.00 น. และจะแจ้งสถานที่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555”

หลังจากการอ่านแถลงการณ์ แกนนำพันธมิตรฯ ได้กล่าวเพิ่มเติม ดังนี้

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

ดังที่สื่อมวลชนทราบแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพราะฉะนั้นพันธมิตรฯ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยิน สุดที่จะแก้ไขในเวลาต่อไป ดังนั้นนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภา พรุ่งนี้-มะรืนนี้ มีสมาชิกรัฐสภาคนใดบ้างที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 นั่นล่ะครับอยู่ในเกณฑ์ที่เราจะฟ้องต่อศาล ที่จะสามารถถอดถอนลงโทษได้ตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่แล้ว เราขอยืนยันว่าเราปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

ผมขอแสดงความรู้สึกบางอย่างที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาก่อน การทำงานของรัฐสภาชุดนี้มีความผิดตามรัฐธรรมนูญหลายมาตราดังที่กล่าวไปแล้ว เช่น มาตรา 68 มาตรา 122 มาตรา 136(16) มาตรา 191 และมาตรา 270 การกระทำผิดครั้งนี้มีวิธีดำเนินการ 2 ประการ คือ ดำเนินคดีต่อศาล เราได้มอบหมายให้พันธมิตรฯ ไปแล้ว และการชุมนุมใหญ่ การชุมนุมใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะต้องฟังความเห็นของตัวแทนจังหวัดต่างๆ ที่จะมาประชุมในวันที่ 10 มีนาคม ผมขอแจ้งให้ทราบว่า เราจะปล่อยให้คนกลุ่มนั้นต้องการสร้างรัฐไทยใหม่ไม่ได้ รัฐไทยใหม่คืออะไร พี่น้องประชาชนรู้ดีอยู่แล้ว พวกเราจะต่อสู้อย่างถึงที่สุด

นายพิภพ ธงไชย

สรุปง่ายๆ รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่รัฐบาลเพื่อไทย และคุณทักษิณ พยายามจะแก้ไข ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อไทยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะผ่านการลงประชามติ 14 ล้านกว่าเสียง เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพราะฉะนั้นเหตุผลที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเหตุผลประการเดียว เพื่อจะแทรกการนิรโทษกรรมคุณทักษิณ 2.เพื่อจัดโครงสร้างทางอำนาจในทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ใหม่ ให้กระชับและรับใช้นักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และกลุ่มทุนของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มทุนที่อยู่รอบตัวคุณทักษิณทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก ในการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อกลุ่มทุนและตัวคุณทักษิณ ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการนิรโทษกรรม และกระชับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจในส่วนต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีอุปสรรคต่อความเจริญเติบโต และการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มทุนและคุณทักษิณ ง่ายๆ แค่นี้

นายสนธิ ลิ้มทองกุล

โดยสรุปแล้ว ผมอยากจะสรุปให้พี่น้องสื่อมวลชน และท่านผู้ชมที่กำลังชมอยู่ทางบ้านว่า วันนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าการเมืองไทยโดยนักการเมือง ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นักการเมืองทุ่มเทเงินทอง ซื้อเสียง เอาภาษีอากรของพวกเรา เอาไปแจกประชาชน ทุกพรรค ไม่มีข้อยกเว้น เพื่อให้ตัวเองได้เสียงเข้ามา ครอบงำคณะกรรมการการเลือกตั้ง ติดสินบนคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ตรวจสอบพวกเขา เพราะฉะนั้นแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีคนซึ่งติดใบแดงน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย

ทั้งหมดนี้ทำเพื่ออะไร เพื่อที่ตัวเองจะได้เข้ามามีอำนาจในสภาฯ เมื่อมีอำนาจในสภาฯ แล้ว ตัวเองใช้สิทธิของการที่เข้ามามีอำนาจในสภาฯ ด้วยคำพูดที่ว่า "ประชาชนเลือกมา" โดยที่ตัวเองไม่ได้เล่าให้ฟังถึงพื้นฐาน ที่มาของเสียง และการครอบงำ กกต. ด้วยเหตุนี้ตัวเองก็เลยใช้สิทธิอันนี้มาทำอะไรก็ได้ แล้วใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเราสังเกตให้ดีแล้ว นักการเมืองหาได้ยากมากที่จะทำเพื่อประชาชน ไม่มี น้ำมันที่ขึ้นจนกระทั่งลิตรละเกือบ 41 บาท ไม่เคยมีใครขึ้นมาพูดเลยสักคำว่าจะจัดการกับ ปตท. ที่กำไรปีที่แล้วแสนกว่าล้าน อย่างไร

ข้าวราดแกงซึ่งตอนนี้จะ 50 บาทอยู่แล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคแพงหมด นักการเมืองไม่สนใจ น้ำที่ท่วมออกไป สนใจอยู่อย่างเดียวว่า การซื้อที่ดินฟลัดเวย์นั้น จะซื้อจากกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับตัวเองหรือไม่ เพื่อให้กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับตัวเองจะได้เงินได้ทองเข้ามา นี่คือการเมืองเมืองไทย

เพราะฉะนั้นแล้วนี่คืออีกบริบทหนึ่งของความล้มเหลวของการเมืองเมืองไทย ที่บริหารโดยนักการเมือง กล้าพูดได้ว่า นักการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นคนที่บัดซบ ขอย้ำ ส่วนใหญ่เป็นคนที่บัดซบ ไม่ได้รักชาติ รักประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะตั้ง ส.ส.ร.กันครั้งนี้ เหมือนอย่างที่ท่านโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพูดออกไป เป็นการชัดเจน พิสูจน์ชัดเจนว่าทุกอย่างทำเพื่อพวกเขา ทำเพื่อหัวหน้าพวกเขา ทำเพื่อเจ้าของพรรค และผมยืนยัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นพรรคใดก็ตาม ผลจะออกมาเหมือนกันไม่มีผิด เพียงแต่ว่าพรรคบางพรรคปล้นกลางแดด พรรคบางพรรคใส่เสื้อนอกปล้น แต่สรุปแล้วก็คือปล้นคนไทยนั่นเอง

ผมมีบทสรุปได้อย่างหนึ่งว่า บางทีสังคมไทยก็สมควรแล้วที่จะได้นักการเมืองบัดซบพวกนี้มาปกครอง เพราะสังคมไทยไม่เคยเดือดร้อน ไม่เคยเดือดร้อนเลยจากความทุกข์ยากลำบาก ไม่เคยเดือดร้อนเลยจากน้ำมันที่ราคาแพง 41 บาท ไม่เคยตั้งคำถามถามเลย ว่าทำไม ปตท.กำไรตั้งแสนกว่าล้าน แล้วประชาชนคนไทยต้องเติมน้ำมันลิตรละ 41 บาท เหมาะสมแล้ว สังคมไทยเหมาะที่จะได้นักการเมืองบัดซบพวกนี้เข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง เหมาะสมที่สุด ขอบคุณครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น