xs
xsm
sm
md
lg

กลิ่นปฏิวัติโชยมา!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุดวิปรัฐบาลก็เตรียมตัวที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการลงประชามติ

“ความคิดจะลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องในอดีต” และ “กระชับอำนาจของนักการเมืองในอนาคต” เพียงแค่นี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นธงของเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยนายทุนสามานย์ของพรรคการเมือง

ลำพังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่เหล่า นปช.และคนเสื้อแดง บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการทางทหาร และมีพื้นฐานที่มีความเชื่อว่านักการเมืองคนส่วนใหญ่ “เลว” คนส่วนใหญ่เป็นคน “โง่” และ “จน” ก็มีคำถามชวนให้คิดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดประชาชนส่วนใหญ่จึงลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ถึง 15.7 ล้านเสียง และเหตุใดผลิตผลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงได้ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังคงมาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย?

และหากจะย้อนเวลากลับไปก่อนวันลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ 2550 น.ต.ศิธา ทิวารี รักษาการโฆษกพรรคไทยรักไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าหากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ถูกใจนักการเมืองจะทำอย่างไร รักษาการโฆษกพรรคไทยรักไทย ตอบคำถามนี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 ว่า:

“พรรคการเมืองคงไม่มีสิทธิ์ทำอะไร อยู่ที่ประชาชนลงมติ ถ้าคนส่วนใหญ่รับหลักการใดๆ ทุกคนก็ต้องรับหลักการนั้นด้วย”

ความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือจะไม่แก้ไขเลยนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่จะจัดตั้งรัฐบาลไปอีกนาน เพียงแต่ที่คิดว่าจะแก้ไขในเวลานี้ก็เพราะนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และพวกยังล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องในอดีตไม่ได้ประการหนึ่ง และอำนาจทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้องยังไม่มากพอเป็นอีกประการหนึ่ง ใช่หรือไม่?

ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยได้คะแนน 3.5 จากคะแนนเต็ม 10 (สอบตก)อยู่อันดับเกือบ 80 ของโลก และการทุจริตหนักขึ้นทุกวันโดยฝีมือของนักการเมือง

นายดุสิต นนทะนาคร ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในขณะนั้นเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากถึง 50% เพิ่มจากอดีตในช่วง 20-30 ปี ที่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 2-3% และเพิ่มมาเป็น 30-40% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2554 ตั้งงบประมาณเอาไว้ที่ 2.07 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 344,495 ล้านบาท พิจารณาเฉพาะงบลงทุนหากมีการทุจริตปีละ 30% ก็จะเป็นจำนวนเงินปีละ 103,348.5 ล้านบาท และหากมีการทุจริต 50% ก็จะคิดได้เป็นจำนวนเงินปีละ 172,247 ล้านบาท ถ้าคิดรวมเงินกัน 10 ปี ก็แปลว่าประเทศไทยต้องสูญเสียเงินจากงบประมาณเข้ากระเป๋านักการเมืองและข้าราชการกันไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านล้านบาท จำนวนเงินขนาดนี้มีมากพอที่จะใช้ภาระหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินทั้งหมดได้อย่างสบายโดยไม่ต้องผลักมาเป็นภาระให้กับประชาชน หรือผู้ฝากเงินหรือผู้กู้เงินอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ลองพิจารณาดูว่าปัจจุบันมีการเลือกตั้งระบบเขตทั้งสิ้น 375 เขต ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งซื้อเสียงใช้เงินสูงสุดรวม 50 ล้านบาทต่อหนึ่งเขต ก็จะต้องใช้เงินการเลือกตั้งครั้งหนึ่งทั้งสิ้นประมาณ 18,750 ล้านบาท หมายความว่านักการเมืองหากได้ซื้อเสียงเข้ามากุมอำนาจรัฐแล้วก็จะสามารถได้ผลตอบแทนจากการโกงกินทุจริตคอร์รัปชันไม่ต่ำกว่า 451% - 818% ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว

และถ้าอยู่ครบ 1 สมัย 4 ปี ก็จะได้ผลตอบแทนสูงถึง 2,105% - 3,574% จากการลงทุน 18,750 ล้านบาทในการเลือกตั้งครั้งเดียวในปีแรก และสามารถกอบโกยเฉพาะงบลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 4.1 - 6.8 แสนล้านบาท ตลอด 4 ปี

ที่กล่าวข้างต้นนั้นเฉพาะงบลงทุน ยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานเอกชน หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หลับตาให้มีการทำผิดสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน หรือการโยกย้ายข้าราชการที่มีการซื้อขายตำแหน่ง หรือการให้เจ้าหน้าที่รัฐคุ้มครองผลประโยชน์ในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือแปรรูปกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อนำหุ้นเหล่านั้นให้ตกอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ของนักการเมือง ตลอดจนการแสวงหาผลประโยชน์ให้บริษัทของพวกพ้องตัวเองเข้าสู่ผลประโยชน์ในการสัมปทานต่างๆ หรือรับช่วงงานหรือสัมปทานต่อจากกิจการรัฐวิสาหกิจ ผลประโยชน์เหล่านี้มีอีกจำนวนมหาศาลที่ไม่สามารถประมาณค่าได้

เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากมายมหาศาลเสียยิ่งกว่าการเล่นหุ้น ยิ่งกว่าการลงทุนทองคำ หรือตราสารหนี้อื่นใด

เราจึงจะเห็นได้บ่อยครั้งว่าหลายคนก่อนเป็นนักการเมืองมีฐานะยากจนอยู่บ้านเล็กๆ ไม่มีทรัพย์สินอะไรมาก แต่หลังจากเป็นนักการเมืองแล้วกลับมีฐานะร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างไร้เหตุผล

แล้วถามว่าใครจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้?

นักการเมืองบางคนมักจะพูดว่าให้ประเทศนี้แก้ไขปัญหาประเทศด้วยกลไกทางรัฐสภา!!?

เอาเข้าจริง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลไม่ต่างจากเป็นตราประทับรับรองทางพิธีกรรมให้กับคณะรัฐมนตรี ต่อให้โกงกินฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำร้ายประเทศแค่ไหน ก็ต้องยกมือไว้วางใจคนชั่วให้ปกครองบ้านเมืองตามมติพรรคอยู่ร่ำไป เพราะนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากได้รับเงินเดือนจากนายทุนพรรค และต้องหวังพึ่งว่าจะเมตตาส่งสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในสมัยหน้าหรือไม่?

ส่วนนักการเมืองที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ใช้พิธีกรรมในการแสดงออกด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งกระทู้ แม้ว่าจะพูดเก่งหลักฐานแน่นเพียงใด ก็จะไร้ประโยชน์ และจะเป็นฝ่ายที่ยกมือพ่ายแพ้ตลอดสมัยในระบบรัฐสภา ในขณะที่เมื่อเวลาฝ่ายค้านกลับมาเป็นรัฐบาลก็จะเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชันแทนฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

การพูดว่าปัญหาบ้านเมืองให้แก้ไขด้วยระบบรัฐสภานั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากไม่ใช่ความไร้เดียงสา ก็เป็นเพียงความเห็นแก่ตัวที่จำกัดตัวเลือกเพื่ออำนาจให้อยู่ในวังวนของกลุ่มคนในแวดวงจำกัดที่มีอาชีพนักการเมืองในระบบแบบนี้ เพื่อเข้าสู่อำนาจในวันนี้หรือพร้อมรอเข้าสู่อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในอนาคต โดยยอมให้ประเทศชาติ เสียหายอย่างไรก็ได้

ครั้นจะหวังพึ่งองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เอาเข้าจริงการเลือกตั้งทุกครั้งก็มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงซึ่งประชาชนรู้กันทั่วประเทศ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับเป็นองค์กรประทับความชอบธรรมให้กับการโกงการเลือกตั้ง ในขณะที่ประชาชนและนักธุรกิจทั่วไปต่างทราบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่ารุนแรงและสาหัสหนักขึ้นกว่าเดิม แต่คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกลับไม่สามารถดำเนินการเอาผิดนักการเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม คดีความหมักหมมสะสมค้างมากมาย และหลายคดีก็ปล่อยให้หมดอายุความ กลายเป็นองค์กรที่นักการเมืองไม่เคยหวาดกลัวอีกต่อไป

มิพักต้องพูดถึงเงินและผลประโยชน์มหาศาลจากอาชีพฉ้อราษฎร์บังหลวงจากนักการเมืองนั้น มันเย้ายวนเพียงใด ถึงขนาดพยายามติดสินบนให้กับองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรมก็มีให้เห็นมาแล้ว จริงหรือไม่?

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเราเรียกก็คือ “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ของพรรคการเมืองที่สามารถใช้เงินสัมปทานประเทศนี้ได้” เมื่อได้อำนาจมาแล้วนอกจากจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นเนื้อเดียวกับฝ่ายบริหารแล้ว นักการเมืองยังคิดทำลายการตรวจสอบ ทำลายศาล และทำลายสถาบันทหาร เพียงเพราะต้องการทำลายความเสี่ยงที่อาจสั่นคลอน “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์” เท่านั้น

สิ่งที่เราเห็นผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ เผด็จการทหารในอดีตและเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ยุคใหม่ สามารถสืบทอดอำนาจให้จำกัดอยู่ในวงศ์ตระกูลของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถหรือเก่งกาจอะไรเลยก็ได้

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปลงประชามติที่พยายามกล่าวอ้างในเวลานี้ จึงเป็นเพียงพิธีกรรมและนิติกรรมอำพราง อันเป็นการล็อกสเปกตั้งแต่ตอนต้นให้นักเลือกตั้งในระบบเขต 77 คน (ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสายสัมพันธ์หรือเป็นหุ่นเชิดให้กับนักเลือกตั้งในระบบเขตซึ่งจะต้องเป็นผู้ถืออำนาจรัฐในอนาคต) รวมกับนักวิชาการฝ่ายรัฐบาลอีก 22 คน ที่จะเข้ามาออกแบบและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นของนักการเมือง โดยนักการเมือง และเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสิ้น

โดยผลสุดท้ายเป็นที่คาดเดากันได้ก็คือ “ล้างผลการกระทำความผิดของนักการเมืองในอดีต และกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองในอนาคต” อันเป็นการสถาปนาระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์เต็มตัว

ต่อไปนักการเมืองที่เลือกตั้งชนะจะทำอะไรก็ได้ สิ่งที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด และความผิดในอนาคตไม่มีวันเกิด และจะแก้กฎหมายอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น

เพราะถ้านักการเมืองเหล่านี้บริสุทธิ์ใจจริง การเลือกตัวแทนประชาชนที่จะมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกในระบบตัวแทนระบบเขต หรือนักวิชาการฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว ความจริงยังมีตัวแทนประชาชนในมิติตัวแทนทางอาชีพ ตัวแทนทางสังคม ตัวแทนของภาคประชาชน แต่นักการเมืองเหล่านี้เขาไม่กล้าเลือกตัวแทนทางมิติเหล่านั้น เพราะอาจทำให้อำนาจทางการเมืองขยายวงและอาจทำให้นักการเมืองไม่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างขึ้น ใช่หรือไม่?

เราอาจไม่แปลกใจนักที่นักการเมืองฝ่ายค้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่กล้าโวยวายอะไรมากในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในระบบเขตแล้วจะไปทำประชามติ เพราะในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ดำเนินการเป็นตัวอย่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองของตัวเอง โดยการยกมือในสภาทั้งๆ ที่เคยให้สัญญากับประชาชนว่าจะต้องทำประชามติเสียด้วยซ้ำ

ประเทศไทยที่ผ่านมาจึงปกครองด้วยระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ สลับกับเผด็จการทหารมาโดยตลอด

ส่วนการเลือกตั้งก็เป็นพิธีกรรมทำให้เกิดประชาธิปไตย 4 วินาที เพื่อสร้างเผด็จการรัฐสภาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปอีก 4 ปี ที่นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับระบอบทักษิณเมื่อมีอำนาจก็ไม่เคยมียุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขในประเด็นนี้ ในทางตรงกันข้ามกลับหาทางเปลี่ยนขั้วอำนาจ เพื่อสวมอำนาจแทนขั้วอำนาจเดิมแล้วใช้อำนาจนั้นไปแสวงหาประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองและพวกพ้องกลายเป็นเผด็จการรัฐสภาสลับขั้วเท่านั้น

เพียงแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นการผูกขาดให้เกิดวงจรเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์เต็มรูปแบบยิ่งกว่าเดิมอีกนานแสนนาน

วิวัฒนาการ “เผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์เต็มรูปแบบยิ่งกว่าเดิมอีกนานแสนนาน”คงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิทุน”

และอาจกล่าวได้ว่า “สมบูรณาญาสิทธิทุน” นี่เอง ที่กำลังกลายเป็นเชื้อฟืนที่เชื้อเชิญการปฏิวัติให้เกิดขึ้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเดินหน้าในทิศทางนี้มองได้อย่างเดียวว่าประเทศไทย น่าเป็นห่วงมาก เพราะความเหิมเกริมของนักการเมืองเช่นนี้ ต่อให้ดำเนินการสำเร็จ ก็คงต้องมีการเผชิญหน้าต่อสู้จนถึงขั้นมีโอกาสนองเลือดกันอีกรอบ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น