โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
วันปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีนผ่านพ้นไปแล้ว
แต่ควันหลงวันตรุษจีนยังคงอยู่ โดยเฉพาะกับเรื่องเศร้าๆของงานตรุษจีนสุพรรณบุรีที่จัดขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ที่เกิดอุบัติเหตุพลุระเบิด สะเก็ดพลุกระเด็นไปตกใส่บ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงจนเกิดไฟไหม้บ้านเรือนวอดกว่า 60 หลัง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ศพ และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
สำหรับการจัดใหญ่งานตรุษจีนสุพรรณในปีนี้(และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา) เป็นที่รู้กันดีว่า โต้โผหลักเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “มังกรเติ้ง”นายบรรหาร ศิลปอาชา สมาชิกบ้านเลขที่ 109 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่พรรคการเมืองของมังกรเติ้ง ได้เข้ามาดูกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากนั้นสุพรรณก็บูมเรื่องเทศกาลงานประเพณีในระดับบิ๊กอีเวนต์ขึ้นมาแบบผิดหูผิดตา ทั้งงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ สงกรานต์ และตรุษจีนของสุพรรณ ในช่วงหลังมานี้ทััง 3 งาน จะต้องติดโผ 1 ใน 10 พื้นที่ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)มาโดยตลอด ในขณะที่งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษานั้น เดี๋ยวนี้สุพรรณเขาก็จัดใหญ่ในระดับน้องๆอุบล โดยมีการไปซื้อตัวช่างทำเทียนเก่งๆจากภาคอีสานมาเป็นตัวช่วยในการสร้างงานประเพณีที่ไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของสุพรรณ จนคนสุพรรณหลายคนบ่นมาว่า พะนะทั่น อย่ามัวแต่เพลินกับการไปฉกเอาประเพณีของบ้านอื่นเมืองอื่นมาจนหลงลืมในวัฒนธรรมประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาวสุพรรณไป ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น นายบรรหารได้เปิดเผยถึงวินาทีเฉียดตายว่า ที่รอดชีวิตมาได้เพราะได้มังกรสวรรค์ช่วยไว้(ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์มังกรสวรรค์ช่วยบังสะเก็ดระเบิด)
ในขณะที่ชาวสุพรรณจำนวนหนึ่งก็มีเรื่องเล่าขานตามความเชื่อแบบไทยๆตามมาสมทบหลังเหตุการณ์ ว่าด้วยเรื่องของอาถรรพ์ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ที่ชาวสุพรรณนอกจากจะให้ความเคารพศรัทธามากเช่นเดียวกับวัดป่าเลไลย์แล้ว พวกเขา(ส่วนหนึ่ง)ยังเชื่อกันว่าเจ้าที่ที่นี่แรงนัก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแบบจีน
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ ถือเป็นศาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศิลปกรรมจีนที่น่าจะมีเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย หรืออาจจะมีที่นี่ที่เดียวก็เป็นได้
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาในแบบงานศิลปกรรมไทย มีเทวรูปเคารพภายในศาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่สร้างเป็นศาลในศิลปกรรมจีน
จากนั้นในปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณเป็นโบราณสถานเช่นเดียวกับ สิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆรวม 12 แห่ง อาทิ วัดหอยโข่ง วัดผึ้ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดหลวง เป็นต้น
ครั้นพอถึงในปี พ.ศ. 2507 จังหวัดสุพรรณบุรีได้ทำการบูรณะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชาและนายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น
จากนั้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้นายบรรหารได้เป็นโต้โผให้จัดสร้างอาคารรูปทรงมังกรยักษ์ขึ้นใกล้ๆกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จัดทำเป็น"พิพิธภัณฑ์มังกรทอง"(พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร) ที่ผมได้แต่ผ่านไปผ่านมา ยังไม่เคยเข้าไปเที่ยวข้างในสักทีเพราะค่าเข้าชมนั้นแพงลากเลือดเอาเรื่อง งานนี้จึงขอเพียงยืนดูห่างๆอยู่ภายนอกแค่นั้นเป็นพอ ซึ่งถ้ามีการลดค่าเข้าชมลงมาในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ ผมเชื่อว่าน่าจะมีคนเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรอีกมากโข และนั่นก็จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวของลูกหลานพันธุ์มังกรมากยิ่งขึ้น เพราะนี่ควรเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับตัวเอง
สำหรับเหตุที่ศาลแห่งนี้สร้างด้วยรูปแบบของงานศิลปกรรมจีนนั้น เนื่องจากมีชาวจีนในสุพรรณให้ความเคารพศรัทธาต่อศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ที่พวกเขาเดินทางจากโพ้นทะเลเข้ามาทางแม่น้ำท่าจีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสุพรรณบุรีแห่งนี้ โดยหนึ่งในชาวจีนแห่งเมืองสุพรรณที่ยืนยันถึงความมีศรัทธาต่อศาลแห่งนี้ก็คือนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มีข้อมูลระบุว่าในสมัยการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2507 นายบรรหารที่มีเงินทั้งเนื้อทั้งตัวอยู่ 150,000 บาทได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 80,000 บาท เพื่อใช้ในการบูรณะศาล
ส่วนนี่จะกลายเป็นอานิสงส์ผลบุญหนุนส่งให้นายบรรหารร่ำรวยจนมีเงินมีทองมากถึงพันล้าน หมื่นล้าน อย่างในทุกวันนี้หรือเปล่า เรื่องนี้แต่ละคนคงต้องไปพินิจวิเคราะห์ต่อกันเอาเอง
ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของสุพรรณบุรี เพราะมีทั้งภาพความเก่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อ และภาพอันอลังการของมังกรยักษ์ตั้งอยู่เคียงคู่กัน
ศาลแห่งนี้มี “ปูนเถ้าก๋ง” เทพเจ้าโบราณ 2 องค์ที่ชาวสุพรรณเชื่อว่าท่านได้คุ้มครองชาวเมืองให้มีอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย
นอกจากนี้ชาวสุพรรณหลายคนยังเชื่อว่าเจ้าที่ที่ศาลหลักเมืองสุพรรณนั้นแรงดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว โดยเรื่องนี้ผมขอหยิบยกหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร จากบทความเรื่อง “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” คติความเชื่อที่ถูกลบล้าง โดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ที่คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มานำเสนอในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับเดือน กรกฎาคม 2554 มีความว่า...
“....ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ...” เป็นพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอบคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหตุที่ทรงตอบเช่นนั้นก็สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า “...ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี...”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมือง จึงต้องเสด็จไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ.2435 ได้เสด็จตรวจเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วเสด็จกลับทางเมืองกำแพงเพชร เมื่อเสด็จมาถึงเมืองอ่างทอง ทรงหยุดพัก 2 วัน โปรดสั่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองให้เตรียมหาม้าพาหนะกับคนหาบหามสิ่งของสัมภาระเพื่อเดินทางบกไปสุพรรณบุรี ครั้งนั้นพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองอ่างทองซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้พยายามขัดขวางมิให้เสด็จโดยอ้างว่า การเดินทางจากอ่างทองไปสุพรรณบุรีนั้นยากลำบาก หนทางไกลไม่มีที่พักแรม ท้องทุ่งที่จะเดินทางไปบางส่วนแห้งแล้ง ร้อนจัด บางแห่งยังเต็มไปด้วยโคลนตม เฉอะแฉะ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงล้มเลิกความตั้งพระทัย เพราะทรงเคยผ่านความยากลำบากในการเดินทางมามาก จึงมีพระดำริว่าน่าจะสามารถเดินทางไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้โดยไม่ยากนัก
ในที่สุด พระยาอินทรวิชิตก็สารภาพว่าที่พยายามขัดขวางไม่ให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เพราะเกรงว่าอันตรายอันเนื่องจากคติความเชื่อมาแต่โบราณว่า “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” เมื่อทรงซักถามถึงสาเหตุพระยาอินทรวิชิต ก็ไม่สามารถทูลตอบได้ เพียงแต่ทูลย้ำว่าเป็นคติความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด จึงทรงอธิบายถึงพระดำริของพระองค์ว่า
“...ฉันคิดว่าเทพารักษ์ที่มีฤทธิเดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงปานนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ไ ด้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี คงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก...”
การเดินทางจากอ่างทองไปยังสุพรรณบุรีในสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งเรือข้ามลำน้ำน้อยขึ้นมาที่เมืองวิเศษชัยชาญ แล้วจึงขี่ม้าต่อ ท้องที่ระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณบุรี ส่วนมากเป็นท้องทุ่ง บางแห่งก็แห้งแล้ง อย่างที่เรียกกันว่าย่านสาวร้องไห้ หมายความว่า ในฤดูแล้ง ผืนแผ่นดินแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ หาที่ร่มพักไม้ได้ บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มเฉอะแฉะม้าต้องลุยเลนลุยโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นว่า “...ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็นรู้สึกเพลีย ถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่า เมื่อไรจึงจะถึงหลายหนจนจวนพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี...”
และที่เมืองสุพรรณบุรีนี้เอง ทรงต้องพบกับเรื่องแปลกๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ พระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเก็บทรัพย์สมบัติหนีออกจากเมืองสุพรรณบุรีไปก่อนที่จะเสด็จถุง ซึ่งทรงทราบถึงสาเหตุภายหลังว่า พระยาสุนทรสงครามประพฤติผิดคิดมิชิอบด้วยการรีดไถ่ กดขี่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำความเดือนร้อนให้แก่ราษฎร เพราะราษฎรมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุนทรฯ มากมายหลายราย
เรื่องที่ทรงแปลกพระทัยอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องที่เมืองสุพรรณบุรี มีศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก ดังที่ทรงเล่าว่า “...ที่ในบริเวณเมืองจะไปทางไหนแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสาย เป็นศาลขนาดย่อมๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ตัวไม้ไผ่มุงจากก็มี...สังเกตเพียงที่จวนเจ้าเมืองมีศาลเจ้ารายรอบถึง 4 ศาล...”
จากข้อสังเกตดังกล่าว ทรงสันนิษฐานว่า ชาวเมืองสุพรรณบุรีส่วนใหญ่น่าจะนับถือและกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาแต่ช้านาน ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็จะต้องมีการทำพิธีเอาใจผี เช่น ปลูกศาลให้ผีสิงสถิตและเซ่นไหว้ด้วยของที่เชื่อว่าผีชอบ เพื่อผีจะได้พอใจไม่ทำร้ายหรือทำความเดือดร้อนให้
นอกจากเรื่องแปลกดังกล่าวแล้วยังมีเรื่องที่ทรงพอพระทัย นั่นคือการได้ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีและวรรณคดี โดยเฉพาะสถานที่ในเมืองนี้ เป็นสถานที่ที่ปรากฏในวรรณคดีสำคัญของไทยเรื่องหนึ่งคือ ขุนช้างขุนแผน ไม่ว่าจะตำบลท่าสิบเบี้ยบ้านพ่อแม่ขุนช้าง ตำบลท่าพี่เลี้ยงบ้าน พ่อแม่ขุนแผน เป็นต้น ดังที่ทรงเล่าว่า “...ตำบลบ้านและวัดเหล่านั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง...”
การเสด็จตรวจเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ทรงรู้เรื่องราวความเป็นไปของทั้งเจ้าเมืองและราษฎรในสุพรรณบุรีแล้ว ยังเป็นการลบล้างคติความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีกลับอย่างปลอดภัยไม่มีสิ่งร้ายเกิดขึ้นก็มีเจ้านายเริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณบุรีบ้าง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยเรื่องการตั้งมณฑลเทศาภิบาลอันเป็นงานหลักของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะนับเป็นการปรับเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคได้สะดวกและเป็นเอกภาพ โดยแบ่ง ๗๑ จังหวัดเป็นมณฑลได้ 8 มณฑลแต่ละมณฑลขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยผ่านกระทรวงมหาดไทย จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จทอดพระเนตรผลงานการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ต้องทรงคิดหาสถานที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ในปีหนึ่งทรงกราบบังคมทูลเสด็จ ประพาสเมืองสุพรรณบุรี จึงมีพระราชดำรัสว่า “...ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ...” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงกราบทูลว่า “...ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้...” จึงทรงพระสรวลและตรัสว่า “ไปซิ”
จึงเป็นอันว่าคติความเชื่อโบราณที่ว่า ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เหตุผลเพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย อันเป็นเหตุให้เมืองสุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าเมืองทุกคน พยายามรักษาคติความเชื่อนี้ไว้และถือเป็นโอกาสประพฤติผิดคิดมิชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง
คติความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างด้วยความกล้าหาญ และความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะทำนุบำรุงเมืองสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรืองของเจ้านาย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ...
ครับ จากบทความดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนต่อความเชื่อของชาวเมืองสุพรรณส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าเจ้าที่ที่ศาลหลักเมืองที่นี่แรง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์พลุระเบิดในวันตรุษจีนที่ผ่านมาจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเรือนถูกเผาวอดวาย มันก็ยิ่งทำให้เกิดเรื่องเล่าแบบไทยๆตามความเชื่อส่วนบุคคลแบบนี้ขึ้นมาจากชาวสุพรรณจำนวนหนึ่ง ซึ่งใครหลายคนมีความเชื่อว่า เหตุการณ์เศร้าสลดครั้งนี้อาจจะมาจากการที่ใครบางคนไปกระทำการที่ไม่ให้เกียรติหรือกระทำสิ่งที่มิบังควรต่อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็เป็นได้
ส่วนกับเรื่องจริงที่ไม่อิงความเชื่อนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องสืบสาวหาสาเหตุและหาผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยั้งเป็นอุทาหรณ์ต่อการจัดงานทั้งหลายในเมืองไทยว่า ต้องไม่ประมาทด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าหากเกิดพลาดพลั้งเพียงนิดเดียว มันอาจทำลายเทศกาลแห่งความรื่นเริงให้การเป็นโศกนาฏกรรมเพียงชั่วข้ามคืน
วันปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีนผ่านพ้นไปแล้ว
แต่ควันหลงวันตรุษจีนยังคงอยู่ โดยเฉพาะกับเรื่องเศร้าๆของงานตรุษจีนสุพรรณบุรีที่จัดขึ้น ณ อุทยานมังกรสวรรค์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ที่เกิดอุบัติเหตุพลุระเบิด สะเก็ดพลุกระเด็นไปตกใส่บ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงจนเกิดไฟไหม้บ้านเรือนวอดกว่า 60 หลัง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 ศพ และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
สำหรับการจัดใหญ่งานตรุษจีนสุพรรณในปีนี้(และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา) เป็นที่รู้กันดีว่า โต้โผหลักเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “มังกรเติ้ง”นายบรรหาร ศิลปอาชา สมาชิกบ้านเลขที่ 109 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่านับตั้งแต่พรรคการเมืองของมังกรเติ้ง ได้เข้ามาดูกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หลังจากนั้นสุพรรณก็บูมเรื่องเทศกาลงานประเพณีในระดับบิ๊กอีเวนต์ขึ้นมาแบบผิดหูผิดตา ทั้งงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ สงกรานต์ และตรุษจีนของสุพรรณ ในช่วงหลังมานี้ทััง 3 งาน จะต้องติดโผ 1 ใน 10 พื้นที่ไฮไลท์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)มาโดยตลอด ในขณะที่งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษานั้น เดี๋ยวนี้สุพรรณเขาก็จัดใหญ่ในระดับน้องๆอุบล โดยมีการไปซื้อตัวช่างทำเทียนเก่งๆจากภาคอีสานมาเป็นตัวช่วยในการสร้างงานประเพณีที่ไม่ได้เป็นเอกลักษณ์ของสุพรรณ จนคนสุพรรณหลายคนบ่นมาว่า พะนะทั่น อย่ามัวแต่เพลินกับการไปฉกเอาประเพณีของบ้านอื่นเมืองอื่นมาจนหลงลืมในวัฒนธรรมประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาวสุพรรณไป ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้น นายบรรหารได้เปิดเผยถึงวินาทีเฉียดตายว่า ที่รอดชีวิตมาได้เพราะได้มังกรสวรรค์ช่วยไว้(ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์มังกรสวรรค์ช่วยบังสะเก็ดระเบิด)
ในขณะที่ชาวสุพรรณจำนวนหนึ่งก็มีเรื่องเล่าขานตามความเชื่อแบบไทยๆตามมาสมทบหลังเหตุการณ์ ว่าด้วยเรื่องของอาถรรพ์ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ที่ชาวสุพรรณนอกจากจะให้ความเคารพศรัทธามากเช่นเดียวกับวัดป่าเลไลย์แล้ว พวกเขา(ส่วนหนึ่ง)ยังเชื่อกันว่าเจ้าที่ที่นี่แรงนัก
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแบบจีน
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ ถือเป็นศาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศิลปกรรมจีนที่น่าจะมีเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย หรืออาจจะมีที่นี่ที่เดียวก็เป็นได้
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาในแบบงานศิลปกรรมไทย มีเทวรูปเคารพภายในศาล ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่สร้างเป็นศาลในศิลปกรรมจีน
จากนั้นในปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณเป็นโบราณสถานเช่นเดียวกับ สิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆรวม 12 แห่ง อาทิ วัดหอยโข่ง วัดผึ้ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดหลวง เป็นต้น
ครั้นพอถึงในปี พ.ศ. 2507 จังหวัดสุพรรณบุรีได้ทำการบูรณะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชาและนายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในสมัยนั้น
จากนั้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้นายบรรหารได้เป็นโต้โผให้จัดสร้างอาคารรูปทรงมังกรยักษ์ขึ้นใกล้ๆกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จัดทำเป็น"พิพิธภัณฑ์มังกรทอง"(พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร) ที่ผมได้แต่ผ่านไปผ่านมา ยังไม่เคยเข้าไปเที่ยวข้างในสักทีเพราะค่าเข้าชมนั้นแพงลากเลือดเอาเรื่อง งานนี้จึงขอเพียงยืนดูห่างๆอยู่ภายนอกแค่นั้นเป็นพอ ซึ่งถ้ามีการลดค่าเข้าชมลงมาในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ ผมเชื่อว่าน่าจะมีคนเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกรอีกมากโข และนั่นก็จะทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวของลูกหลานพันธุ์มังกรมากยิ่งขึ้น เพราะนี่ควรเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับตัวเอง
สำหรับเหตุที่ศาลแห่งนี้สร้างด้วยรูปแบบของงานศิลปกรรมจีนนั้น เนื่องจากมีชาวจีนในสุพรรณให้ความเคารพศรัทธาต่อศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ที่พวกเขาเดินทางจากโพ้นทะเลเข้ามาทางแม่น้ำท่าจีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสุพรรณบุรีแห่งนี้ โดยหนึ่งในชาวจีนแห่งเมืองสุพรรณที่ยืนยันถึงความมีศรัทธาต่อศาลแห่งนี้ก็คือนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มีข้อมูลระบุว่าในสมัยการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2507 นายบรรหารที่มีเงินทั้งเนื้อทั้งตัวอยู่ 150,000 บาทได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 80,000 บาท เพื่อใช้ในการบูรณะศาล
ส่วนนี่จะกลายเป็นอานิสงส์ผลบุญหนุนส่งให้นายบรรหารร่ำรวยจนมีเงินมีทองมากถึงพันล้าน หมื่นล้าน อย่างในทุกวันนี้หรือเปล่า เรื่องนี้แต่ละคนคงต้องไปพินิจวิเคราะห์ต่อกันเอาเอง
ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของสุพรรณบุรี เพราะมีทั้งภาพความเก่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อ และภาพอันอลังการของมังกรยักษ์ตั้งอยู่เคียงคู่กัน
ศาลแห่งนี้มี “ปูนเถ้าก๋ง” เทพเจ้าโบราณ 2 องค์ที่ชาวสุพรรณเชื่อว่าท่านได้คุ้มครองชาวเมืองให้มีอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง ปลอดภัย
นอกจากนี้ชาวสุพรรณหลายคนยังเชื่อว่าเจ้าที่ที่ศาลหลักเมืองสุพรรณนั้นแรงดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว โดยเรื่องนี้ผมขอหยิบยกหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร จากบทความเรื่อง “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” คติความเชื่อที่ถูกลบล้าง โดยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ที่คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “นิทานโบราณคดี” ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มานำเสนอในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับเดือน กรกฎาคม 2554 มีความว่า...
“....ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ...” เป็นพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอบคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหตุที่ทรงตอบเช่นนั้นก็สืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า “...ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี...”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมือง จึงต้องเสด็จไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ในปี พ.ศ.2435 ได้เสด็จตรวจเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วเสด็จกลับทางเมืองกำแพงเพชร เมื่อเสด็จมาถึงเมืองอ่างทอง ทรงหยุดพัก 2 วัน โปรดสั่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองให้เตรียมหาม้าพาหนะกับคนหาบหามสิ่งของสัมภาระเพื่อเดินทางบกไปสุพรรณบุรี ครั้งนั้นพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองอ่างทองซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้พยายามขัดขวางมิให้เสด็จโดยอ้างว่า การเดินทางจากอ่างทองไปสุพรรณบุรีนั้นยากลำบาก หนทางไกลไม่มีที่พักแรม ท้องทุ่งที่จะเดินทางไปบางส่วนแห้งแล้ง ร้อนจัด บางแห่งยังเต็มไปด้วยโคลนตม เฉอะแฉะ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงล้มเลิกความตั้งพระทัย เพราะทรงเคยผ่านความยากลำบากในการเดินทางมามาก จึงมีพระดำริว่าน่าจะสามารถเดินทางไปถึงเมืองสุพรรณบุรีได้โดยไม่ยากนัก
ในที่สุด พระยาอินทรวิชิตก็สารภาพว่าที่พยายามขัดขวางไม่ให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เพราะเกรงว่าอันตรายอันเนื่องจากคติความเชื่อมาแต่โบราณว่า “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” เมื่อทรงซักถามถึงสาเหตุพระยาอินทรวิชิต ก็ไม่สามารถทูลตอบได้ เพียงแต่ทูลย้ำว่าเป็นคติความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด จึงทรงอธิบายถึงพระดำริของพระองค์ว่า
“...ฉันคิดว่าเทพารักษ์ที่มีฤทธิเดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงปานนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ไ ด้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่า เทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี คงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก...”
การเดินทางจากอ่างทองไปยังสุพรรณบุรีในสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งเรือข้ามลำน้ำน้อยขึ้นมาที่เมืองวิเศษชัยชาญ แล้วจึงขี่ม้าต่อ ท้องที่ระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณบุรี ส่วนมากเป็นท้องทุ่ง บางแห่งก็แห้งแล้ง อย่างที่เรียกกันว่าย่านสาวร้องไห้ หมายความว่า ในฤดูแล้ง ผืนแผ่นดินแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ หาที่ร่มพักไม้ได้ บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มเฉอะแฉะม้าต้องลุยเลนลุยโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นว่า “...ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็นรู้สึกเพลีย ถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่า เมื่อไรจึงจะถึงหลายหนจนจวนพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี...”
และที่เมืองสุพรรณบุรีนี้เอง ทรงต้องพบกับเรื่องแปลกๆ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ พระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเก็บทรัพย์สมบัติหนีออกจากเมืองสุพรรณบุรีไปก่อนที่จะเสด็จถุง ซึ่งทรงทราบถึงสาเหตุภายหลังว่า พระยาสุนทรสงครามประพฤติผิดคิดมิชิอบด้วยการรีดไถ่ กดขี่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำความเดือนร้อนให้แก่ราษฎร เพราะราษฎรมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุนทรฯ มากมายหลายราย
เรื่องที่ทรงแปลกพระทัยอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องที่เมืองสุพรรณบุรี มีศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก ดังที่ทรงเล่าว่า “...ที่ในบริเวณเมืองจะไปทางไหนแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสาย เป็นศาลขนาดย่อมๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ตัวไม้ไผ่มุงจากก็มี...สังเกตเพียงที่จวนเจ้าเมืองมีศาลเจ้ารายรอบถึง 4 ศาล...”
จากข้อสังเกตดังกล่าว ทรงสันนิษฐานว่า ชาวเมืองสุพรรณบุรีส่วนใหญ่น่าจะนับถือและกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาแต่ช้านาน ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็จะต้องมีการทำพิธีเอาใจผี เช่น ปลูกศาลให้ผีสิงสถิตและเซ่นไหว้ด้วยของที่เชื่อว่าผีชอบ เพื่อผีจะได้พอใจไม่ทำร้ายหรือทำความเดือดร้อนให้
นอกจากเรื่องแปลกดังกล่าวแล้วยังมีเรื่องที่ทรงพอพระทัย นั่นคือการได้ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีและวรรณคดี โดยเฉพาะสถานที่ในเมืองนี้ เป็นสถานที่ที่ปรากฏในวรรณคดีสำคัญของไทยเรื่องหนึ่งคือ ขุนช้างขุนแผน ไม่ว่าจะตำบลท่าสิบเบี้ยบ้านพ่อแม่ขุนช้าง ตำบลท่าพี่เลี้ยงบ้าน พ่อแม่ขุนแผน เป็นต้น ดังที่ทรงเล่าว่า “...ตำบลบ้านและวัดเหล่านั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง...”
การเสด็จตรวจเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครั้งนั้น นอกจากจะทำให้ทรงรู้เรื่องราวความเป็นไปของทั้งเจ้าเมืองและราษฎรในสุพรรณบุรีแล้ว ยังเป็นการลบล้างคติความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีกลับอย่างปลอดภัยไม่มีสิ่งร้ายเกิดขึ้นก็มีเจ้านายเริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณบุรีบ้าง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยเรื่องการตั้งมณฑลเทศาภิบาลอันเป็นงานหลักของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะนับเป็นการปรับเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคได้สะดวกและเป็นเอกภาพ โดยแบ่ง ๗๑ จังหวัดเป็นมณฑลได้ 8 มณฑลแต่ละมณฑลขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยผ่านกระทรวงมหาดไทย จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จทอดพระเนตรผลงานการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ต้องทรงคิดหาสถานที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ในปีหนึ่งทรงกราบบังคมทูลเสด็จ ประพาสเมืองสุพรรณบุรี จึงมีพระราชดำรัสว่า “...ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ...” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงกราบทูลว่า “...ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้...” จึงทรงพระสรวลและตรัสว่า “ไปซิ”
จึงเป็นอันว่าคติความเชื่อโบราณที่ว่า ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เหตุผลเพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย อันเป็นเหตุให้เมืองสุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าเมืองทุกคน พยายามรักษาคติความเชื่อนี้ไว้และถือเป็นโอกาสประพฤติผิดคิดมิชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง
คติความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างด้วยความกล้าหาญ และความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะทำนุบำรุงเมืองสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรืองของเจ้านาย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ...
ครับ จากบทความดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนต่อความเชื่อของชาวเมืองสุพรรณส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าเจ้าที่ที่ศาลหลักเมืองที่นี่แรง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์พลุระเบิดในวันตรุษจีนที่ผ่านมาจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย บ้านเรือนถูกเผาวอดวาย มันก็ยิ่งทำให้เกิดเรื่องเล่าแบบไทยๆตามความเชื่อส่วนบุคคลแบบนี้ขึ้นมาจากชาวสุพรรณจำนวนหนึ่ง ซึ่งใครหลายคนมีความเชื่อว่า เหตุการณ์เศร้าสลดครั้งนี้อาจจะมาจากการที่ใครบางคนไปกระทำการที่ไม่ให้เกียรติหรือกระทำสิ่งที่มิบังควรต่อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็เป็นได้
ส่วนกับเรื่องจริงที่ไม่อิงความเชื่อนั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ตำรวจจะต้องสืบสาวหาสาเหตุและหาผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยั้งเป็นอุทาหรณ์ต่อการจัดงานทั้งหลายในเมืองไทยว่า ต้องไม่ประมาทด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าหากเกิดพลาดพลั้งเพียงนิดเดียว มันอาจทำลายเทศกาลแห่งความรื่นเริงให้การเป็นโศกนาฏกรรมเพียงชั่วข้ามคืน