xs
xsm
sm
md
lg

ชงครม.หนุนเอสเอ็มอี แก้ปัญหาค่าแรง300บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังเตรียมชงครม.ออกมาตรการหนุนเอสเอ็มอีหวังแก้ปัญหาจากนโยบายค่าแรง 300 บาท พร้อมหนุนผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มสัดส่วนผลผลิตต่อจีดีพีขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 37% สร้างสมดุลให้โครงสร้างธุรกิจของประเทศ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกแพ็กเกจช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะมีทั้งมาตรการด้านภาษีต่างๆ ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารของรัฐ รวมถึงการเสริมมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพระยะยาว เสริมการลงทุน และเสริมความรู้ในด้านการบริหารจัดการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินได้ดีขึ้น คาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปลายเดือนเม.ย.นี้

“ในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะประชุมเพื่อติดตามและประเมินผลในภาพรวมของมาตรการรัฐทั้งหมดที่ออกไป ว่ามีความคืบหน้า และประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน มีปัญหาใดต้องปรับแก้บ้าง ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) 3 แสนล้านบาท กองทุนประกันภัยพิบัติ เป็นต้น

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า นอกจากซอฟท์โลนที่ออกไปแล้วนั้น ก็ต้องดูว่า มีจุดอ่อนไหนที่รัฐบาลควรจะเข้าไปเสริมให้เอสเอ็มอีมีความแข็งแกร่งขึ้นมาได้ เพราะปัจจุบันนี้เอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการผลิตสินค้าเพียง 37% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยมาก อีกทั้งเอสเอ็มอีในไทยมีสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น อีก 65% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว จะมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 50% ซึ่งกระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะทำให้เอสเอ็มอีผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจาก 35% เป็น 50% เพื่อให้มีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น

“เอสเอ็มอีในสัดส่วน 35% ที่ไทยมี หรือกว่า 3 ล้านรายนั้น ดูในเชิงลึกแล้ว เป็นเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตเพียง 2 แสน - 3 แสนรายเท่านั้น ขณะที่อีกกว่า 6 แสนรายมีปัญหาทั้งเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาก มีการลงทุนไม่มากนัก แต่มีความเสี่ยงสูง มีความรู้ในการบริหารจัดการต่ำ ใช้แรงงานมากเกินไป ในการผลิตสินค้าพื้นฐานเท่านั้น ไม่ได้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนของเขาสูงตามไปด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้าไปปิดช่องโหว่เหล่านี้ เพื่อให้เขาอยู่รอดต่อไปได้”

อย่างไรก็ตามข้อเสนอต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเสนอเข้ามาอาทินำค่าแรงมาหักลดหย่อนภาษี 1.5 เท่านั้น ถือว่าเป็นเพียงข้อเรียกร้องเท่านั้น ไม่รับปากว่าจะพิจารณาให้ผู้ประกอบการทั้งหมด อาจจะให้เฉพาะเอสเอ็มอีบางส่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันรัฐบาลจะออกมาตรการเสริมในส่วนที่เห็นว่าจำเป็นจริงๆ ในการเสริมประสิทธิภาพระยะยาว เสริมการลงทุน อาทิหักค่าเสื่อมจากการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อทดแทนแรงงานได้ 100% ในปีแรก การให้ความรู้ในการบริหารจัดการทางบัญชี แต่ในส่วนของซอร์ฟโลน 3 แสนล้านบาทที่ออกไปก่อนหน้านี้ ถือว่าได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปมากแล้ว อาจไม่เน้นมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น