xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ห่วง 2 ปัจจัย “น้ำมัน-ค่าแรง” กดดัน ศก.ส่งสัญญาณ 21 มี.ค.ตรึง ดบ.นโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.ห่วงผลกระทบ 2 ปัจจัย “น้ำมัน-ค่าแรง” กดดัน ศก.ทำผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” เดือดร้อน ส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้น ดบ.ในการประชุม กนง.วันที่ 21 มี.ค.นี้ มั่นใจคุมเงินเฟ้อได้อยู่หมัด เตรียมถก “คลัง” หาข้อสรุปกรอบเงินเฟ้อใหม่

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “SMEs จะรับมืออย่างไรกับเศรษฐกิจไทยวันนี้” ที่ ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 โดยมองว่า ภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2554 พบว่า มีเอสเอ็มอีในสัดส่วนร้อยละ 99 ของวิสาหกิจทั้งหมด สร้างมูลค่าเพิ่มร้อยละ 37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงถือเป็นยักษ์เล็กที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 จะเกิดการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งถือเป็นความท้าทายของเอสเอ็มอี เพราะจะเกิดการเชื่อมโยงด้านการตลาด ทำให้เกิดการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี ซึ่งการเกิดเออีซี เป็นโอกาสในการขยายตลาดการส่งออก และมีต้นทุนต่ำลง แต่จะเกิดการแข่งขันเสรีจากคู่แข่งเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องปรับตัวรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการ แข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการเปิด เออีซี โดยต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และคุณภาพสินค้า การลงทุนด้านเครื่องจักรให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระจายตลาดการส่งออก หาเงินทุนจากหลายแหล่งและทำประกันป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในปีนี้ นายประสาร มองว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ยังมีความสี่ยงจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

“ผู้ประกอบการยังมีความสี่ยงจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น และจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศที่มีผลกดดันต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะในปีนี้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งการขับเคลื่อนภายในประเทศ จากการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการใช้จ่ายของงบประมาณรัฐบาล ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้”

ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อ ธปท.มองว่า อัตราเงินเฟ้อ ยังน่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเดิมที่ใช้เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5-3.0% หรือเป้าหมายใหม่ ที่ใช้เงินเฟ้อทั่วไป ที่ 3% บวกลบ 1.5 % ได้ และยังอาจจะไม่จำเป็นต้อง ออกมาตรการดูแล อัตราเงินเฟ้อ เช่น การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ของ ธปท.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 21 มีนาคม 255 นี้

สำหรับการตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2555 ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยที่จะปรับกรอบเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ เป็นการใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3% บวกลบ 1.5% แทนการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่ยึดเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งตั้งกรอบไว้ที่ 0.5-3.0% ในปี 2554 ที่ผ่านมา ว่า คาดว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ของ ธปท. และกระทรวงการคลังหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนในเรื่องการ ตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้

ทั้งนี้ ธปท.เห็นว่า การใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งรวมราคาน้ำมัน และราคาอาหารสด และเป็นเงินเฟ้อที่ประชาชนเข้าใจและกระทบจริงเป็นกรอบเงินเฟ้อในการตัดสินใจ ดำเนินนโยบายการเงินน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่หากในขณะนี้กระทรวงการคลังอาจจะเห็นว่า ราคาน้ำมันและราคาอาหารมีความผันผวน อยู่ในระดับสูง อยากจะรอให้สถานการณ์เข้าสู่ปกติก่อนนั้น ธปท.ก็เข้าใจแล้ว

สำหรับในการหารือครั้งนี้ ธปท.ได้เสนอว่า หากยังไม่เห็นควรใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท. ก็เสนอให้ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนิน นโยบายการเงินของปีนี้ไปก่อนได้ ขณะที่การพิจารณาของกนง. ซึ่งพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ตัวอยู่แล้ว ชี้แจงการพิจารณาให้ประชาชนเข้าใจเป็นพื้นฐานไปก่อน และหลังจากนี้ 1-2 ปี อาจจะเริ่มใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการตั้งเป็นกรอบเงินเฟ้อได้
กำลังโหลดความคิดเห็น