xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยมีโอกาสลงแตะ1,120จุด พบต่างชาติเริ่มส่งสัญญาณขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - โบรกฯหุ้นไทยเริ่มนิ่ง funds flow ไหลออก คาดดัชนีมีโอกาสลงแตะ 1,120 จุดในระยะ 1-2สัปดาห์จากนี้ หลังพบแรงเทขายกลุ่มสถาบันเริ่มแผ่ว ขณะที่แรงขายสุทธินักลงทุนต่างชาติแรงขึ้น

ภาวะตลาดหุ้นไทยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา วานนี้ (12 เม.ย.) ดัชนีปิดที่ระดับ 1,169.45 จุด เพิ่มขึ้น 14.96 จุด หรือ1.30% มูลค่าการซื้อขาย 20,599.22 ล้านบาท วันสุดท้ายของสัปดาห์ก่อนภาพรวมดัชนีรีบาวนด์ขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค หลังจากโดนเทขายอย่างหนักมาก่อนหน้า ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนคือ การที่ ECB จะเข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรของประเทศในยุโรป

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มตลาดหุ้นสัปดาห์หน้า (17-20 เม.ย.) ว่า การปรับฐานในช่วงก่อนหน้า อาจหนุนให้ดัชนีมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ในกรอบที่อาจยังค่อนข้างจำกัด โดยต้องติดตามพัฒนาการสถานการณ์หนี้ยุโรป การเจรจา 6 ฝ่ายกับอิหร่านเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ รวมไปถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 24-25 เม.ย.

สำหรับรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตในรัฐต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,150 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,177 และ 1,200 จุด ตามลำดับ

ขณะที่ บล.เอเชีย พลัส วิเคราะห์แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ว่า คาดภาวะตลาดกระทิงที่เกิดเวลากว่า 4 เดือน กำลังจะสิ้นสุด และกดดันให้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะหมีอีกครั้งด้วยความคาดหมายว่า Fund Flow กำลังจะไหลออกจากไทยด้วยเหตุผลคือ 1) ยอดซื้อสุทธิสูงถึง 9.9 หมื่นล้านบาท (29 พ.ย. 2554 - 5 เม.ย. 2555) คาดเป็นยอดสูงสุดรอบนี้ 2)ผลตอบแทนที่ได้รับในการลงทุนระยะเวลากว่า 4 เดือนสูงกว่า 20% (จากดัชนี 988 จุด เมื่อ 29 พ.ย.2554 มาที่จุดสูงสุด 1,214 จุด) ทั้งนี้ยังไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 3-4% 3) Expected PERตลาดหุ้นไทย ขยับขึ้นจาก 11.6 เท่า นับตั้งแต่ fund flow ไหลเข้า เป็น 13.3 เท่า เป็นระดับสูงสุดเช่นกัน และ 4) ราคาหุ้นรายบริษัท พบว่ากว่า 60% ที่ฝ่ายวิจัย ASP Coverage ได้ปรับขึ้นทะลุ หรือแตะ fair value ปี 2555 แล้ว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวทั้งหมด ทำให้คาดว่าทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. ตลาดน่าจะเข้าสู่ภาวะปรับฐาน และยังลักษณะซึมลง ซึ่งน่าจะกินเวลาอย่างน้อย 1 เดือนนับจากนี้ โดยหากอิงมูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย (กำไรต่อหุ้นที่ 91บาท) ภายใต้สมมติฐานว่าแรงขายของต่างชาติรอบนี้จะกดดัน PER ลดลงจากระดับสูงสุดดังกล่าว 1-2 เท่า เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต (คือลงมาที่ PER 12.3-11.8 เท่า) คาดว่าดัชนีในระยะ 1 เดือนข้างหน้าน่าจะมีแนวรับแรกที่ 1,120 จุด หรือลดลงจากจุดสูงสุดของรอบนี้ราว 9%

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ดัชนีทะลุ 1,200 จุด พบว่าแรงขายหลักเกิดจากนักลงทุนไทย โดยเฉพาะรายบุคคล เห็นได้จากยอดขายสะสมต้นปี-ปัจจุบันราว 5.23 หมื่นล้านบาท และสถาบันในประเทศ ยอดขายสุทธิ 3.5หมื่นล้านบาท และพบว่าแรงขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันในประเทศจะหนักหน่วงในช่วงต้น มี.ค. -ปัจจุบัน ถึง 2.34 หมื่นล้านบาท (ราว 66% ของยอดขายสุทธิดังกล่าวข้างต้น)

อย่างไรก็ตามคาดว่าแรงขายของสถาบันในประเทศที่สูงดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกองทุน LTF-RMF ที่ครบกำหนดสิทธิ์ลดหย่อนทางภาษีในปี 2551 จำนวน 2.29 หมื่นล้านบาท (ต้นทุนเฉลี่ยที่ SET 577 จุด) หรือคิดตามมูลค่าตลาดราว 4 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่าแรงขายดังกล่าวจึงน่าจะใกล้หมดหากพิจารณายอดขายของสถาบันฯ เทียบกับมูลค่าตลาดของกองทุน LTF-RMF ที่มีสัดส่วนราว 80% ตรงข้ามคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมาขายสุทธิในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าได้ หลังยอดซื้อสุทธิได้ทำสถิติสูงสุดแล้วจึงยังแนะให้ปรับพอร์ตขายหุ้นเต็มมูลค่า โดยเฉพาะหุ้นที่ต่างชาติมีผลตอบแทนสูงเกิน 20%

ดังนั้นในภาวะตลาดที่มีความเสี่ยงขาลง กลยุทธ์การลงทุนที่ทำให้ผลตอนชนะตลาดคือ ให้เลือกหุ้นที่มีความผันผวนน้อยกว่าตลาด Low Beta (Beta <1) และควรเลือกหุ้นที่ยัง Under Value (Upside > 15%)โดยจากการศึกษาหุ้นที่ ASP ดูแล 171 บริษัท พบว่าหุ้นที่เข้าข่ายดังกล่าวมีอยู่ 24 บริษัท แต่หุ้นเด่นที่แนะนำ 5 ลำดับแรกคือ CPF, RATCH, TUF, STANY และ SPALI
กำลังโหลดความคิดเห็น