xs
xsm
sm
md
lg

SETผันผวนจากศก.โลก-การเมือง แต่โค้งสุดท้ายได้LTF-RMFหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส มองสองสัปดาห์ก่อนสิ้นปีตลาดหุ้นยังผันผวนอยู่บ้างจากปัจจัยภายนอกทั้งปัญหาหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยภายในอย่างปัญหาการเมืองไทยเริ่มร้อนแรง แต่ยังได้แรงหนุนจากกองทุนประหยัดภาษี LTF-RMF หนุนตลาดหุ้นไทย

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด ระบุถึงพัฒนาการเชิงบวกของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯว่า เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ช่วยพยุงตลาดโลก ในภาวะที่ถูกกดดันจากปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรป แต่อย่างไรก็ตามมาตรการหนึ่งที่ตลาด และนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐ ต่างคาดหวังว่าจะเห็นได้แก่ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยการต่ออายุมาตรการลดภาษีผู้มีเงินได้ระดับต่ำ -ปานกลางออกไปจากที่จะครบกำหนด 31 ธ.ค. 2554 โดยอัตราภาษีลดลงจากเดิม 6.2% เหลือ 4.2% สำหรับผู้ที่มีรายปีละ 106,800 เหรียญสหรัฐ หรือการยืดสวัสดิการที่จะให้กับผู้ตกงานอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการบริโภคถือเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อ GDP มากสุด

ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามผลการประชุมล่าสุดของวุฒิสภา กลับมีมติอนุมัติยืดกฎหมายดังกล่าวออกไปเพียง 2 เดือน ให้สิ้นสุดเดือน ก.พ. 2555 ซึ่งค่อนข้างสร้างความผิดหวังต่อตลาด และพรรครีพับริกัน ซึ่งนำโดยจอห์น โบเนอร์ ที่ต้องการเห็นการยืดมาตรการนี้ ออกไปอีก 1 ปี หรืออย่างน้อยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งใหม่ 6 พ.ย. 2555 ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่า ในการประชุมหาข้อสรุปของสภาร่วม(สภาผู้แทนฯ+วุฒิสมาชิก) ในวันที่ 22 ธ.ค. 2554 อาจยังไม่ได้ข้อสรุปผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะกดดันให้ตลาดหุ้นโลก และไทยยังคงผันผวนระหว่างวันสูง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความเสี่ยงต่อการปรับผลอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวของกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรปที่อาจเข้ามารบกวนบรรยากาศการลงทุนได้อีกส่วหนึ่ง เหตุเพราะความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มยูโรยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการหารือกันอีกพอสมควร โดยเฉพาะเป็นเด็นของการนำนโยบายการคลังมาใช้ร่วมกันของกลุ่มยูโร เช่นเดียวกับนโยบายการเงิน ที่ดำเนินโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งล่าสุดจะมีการประชุมเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหากสามารถสรุปร่วมกันได้ในรายละเอียดเพิ่มเติม ก็จะเข้าสู่กระบวนการจารณาร่างกฎหมายในช่วงถัดไป แต่อย่างไรก็ตามแม้ภาพปัจจัยภายนอกจะเป็นปัจจัยกดดัน แต่น้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในช่วงปลายปีของทุกปี มักขึ้นอยู่กับนักลงทุนในประเทศเป็นหลักดังนั้นหากตลาดหุ้นอ่อนตัวลงมา ยังเป็นจังหวะเข้าซื้อเก็งกำไร เพื่อขายทำกำไรในช่วงของการรีบาวด์ได้ เนื่องจากจิตวิทยาเชิงบวกที่มีต่อเงิน LTF-RMF ยังคงมีอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตามปัจจัยภายในประเทศที่จะมีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของ SET Index 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2554 น่าจะมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก เริ่มจากสถานการณ์การเมือง ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์เห็นว่าอุณหภูมิความร้อนแรงได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีตัวเร่งหลายประการเช่น การที่กระทรวงต่างประเทศคืนหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วงปลายเดือน ต.ค.2554 ที่ผ่านมา, การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะใข้โครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นแนวทาง โดยคาดว่าจะเดินหน้ากระบวนการทางสภาในช่วงต้นปี 2555 และ ประเด็นการนิรโทษกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยเห็นว่าประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมีโอกาสที่จะนำไปสู่บรรยากาศการขัดแย้งเฉพาะอย่างยิ่งของกลุ่มการเมืองนอกสภาฯ ในช่วงต้นปี 2555 ซึ่งในเชิงของ Sentiment การลงทุนแล้ว นักลงทุนควรต้องเริ่มติดตามสถานการณ์การเมืองใกล้ชิดยิ่งขึ้นในฐานะปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อการลงทุนในตลาดหุ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index ได้แก่ แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าช่วงเดือน ธันวาคม จะมีสถานะซื้อสุทธิทุกปี เฉลี่ยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากแรงซื้อ LTF แต่ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2554 จนถึงปัจจุบันพบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศ มียอดขายสุทธิ 1.51 พันล้านบาท ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ช่วงเวลา 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2554 น่าจะเห็นแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เข้ามามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีน้ำหนักในเชิงบวกต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index มากกว่าแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของความร้อนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น