xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เซาะกราว...นะจ๊ะ “ธัมมชโย” จัดหนัก ธุดงค์แคตวอล์กกลางกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณี “ธุดงค์กลางเมือง” ของวัดพระธรรมกาย ที่มี “พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)” เป็นโต้โผใหญ่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 เมษายนถึงวันที่ 6 เมษายน 2555 กำลังกลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรงยิ่งในสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พุทธศาสนิกชน เนื่องเพราะชาวพุทธไม่สามารถแสวงหาคำอธิบายได้ว่า เหตุใดการธุดงค์ของพระวัดธรรมกายถึงเลือกมาในเส้นทางกลางเมือง เริ่มจากวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เข้ามาในเส้นทางถนนพหลโยธิน ผ่านดอนเมือง สะพานใหม่ บางเขน สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประตูน้ำ ราชประสงค์ บรรทัดทอง เยาวราช สะพานพระปกเกล้า วงเวียนใหญ่ ตลาดพลูและจบลงที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า นั่นคือชนวนเหตุที่ทำให้รถติดวินาศสันตะโรกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนเกิดเสียงก่นด่าดังขรมขึ้นตลอดเส้นทางธุดงค์กลางเมือง

ยิ่งเมื่อได้เห็นภาพผู้ศรัทธาในวัดพระธรรมกายพร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาวโปรยดอกกุหลาบให้พระสงฆ์ใช้เท้าเหยียบระหว่างการเดินธุดงค์ จนคนอดเปรียบเปรยไม่ได้ว่า ราวกับนางแบบนายแบบเดินแฟชั่นโชว์บนแคตวอล์ก ก็ยิ่งชวนให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกกระบุงโกยว่า มีวัตถุประสงค์อยู่เบื้องหลังการธุดงค์ครั้งนี้หรือไม่

ทั้งนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การธุดงค์ครั้งนี้ ภาพที่ออกมาเสมือนหนึ่งตั้งใจใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างภาพความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายและหลวงพ่อธมฺมชโยให้ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชน เนื่องจากการธุดงค์กลางเมืองของพระสงฆ์จำนวน 1,500 รูปนั้นมิใช่เรื่องที่จะกระทำกันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง ซึ่งก็เป็นที่รับรู้กันดีกว่าวัดพระธรรมกายกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” จัดอยู่ในขั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน เนื่องจากเคยปรากฏตัวในงานของวัดพระธรรมกายหลายครั้งหลายครา

อีกนักบรรดาข้าทาสบริเวณก็ล้วนแล้วแต่ปรากฏตัวในกิจกรรมของทางวัดหลายคนด้วยกัน เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นต้น

ใหญ่ไม่ใหญ่ งานนี้ถึงขนาดกองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ถึงกับต้องปรกาศแจ้งปิดการจราจรในเส้นทางธุดงค์ธรรมชัย และประชาสัมพันธ์ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงเส้นทางอื่นแทนจะสะดวกกว่าพร้อมวางแผนการเดินทางก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

สำหรับที่มาที่ไปของการธุดงค์ครั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลในเอกสารเผยแพร่ของทางวัดพบว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมฉลอง “พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล” ในปีพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรมด้วยการอัญเชิญรูปหล่อทองคำ “พระมงคลเทพมุนี(สด จนทสโร)” หรือหลวงพ่อสดประดิษฐาน ณวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

เอกสารชี้ชวนของวัดพระธรรมกายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อัญเชิญรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำออกสู่สาธารณชนได้สักการะบูชา ขอเชิญร่วมขบวนอัญเชิญและโปรยกลีบกุหลาบต้อนรับพระธุดงค์ 1,500 รูประหว่างวันที่ 2-6 เมษายน พ.ศ.2555 รวมระยะทาง 59 กม.”

ที่สำคัญคือในเอกสารชี้ชวนยังได้ตีพิมพ์คำอธิษฐานจิตเนื่องในพิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำและโปรยกลีบกุหลาบพระธุดงค์ยาวเหยียดเอาไว้ด้วยว่า...

“ด้วยบุญกุศล ข้าพเจ้าทั้งหลายมาร่วมอัญเชิญรูปหล่อทองคำหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาต้อนรับพระธุงดงค์ นำกลีบกุกลาบมาโปรย ด้วยจิตใจที่เลื่อมใส ในพระรัตนตรัย เพื่อสนับสนุนงานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นแสงสว่างแก่ชาวโลก ขอบุญกุศลหนุนนำ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีดวงปัญญาสว่างไสว เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ฉลาดในศาสตร์ทั้งปวง เป็นผู้นำแห่งความดี ผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง อายุขัยยืนยาว สมบูรณ์พร้อมทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติ เจริญยิ่งด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีพลังใจที่จะสร้างความดี อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ให้ชีวิตสดชื่น ราบรื่นสะดวกสบาย ดุจเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ จะเดินทางไปที่ใด ให้ได้รับการต้อนรับเชื้อเชิญอย่างดียิ่ง เป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย ขอให้ข้าพเจ้าประสบความสุข ความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงพระธรรมกายภายในได้โดยง่าย ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งเข้าสู่พระนิพพานเทอญ นิพพานะปัจจะโย โหตุ”

การธุดงค์กลางเมืองครั้งนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ธุดงค์ธรรมชัย”

สรุปก็คือหลวงพ่อธมฺมชโยอาศัยวโรกาสพิเศษงานพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าในการอัญเชิญรูปหล่อทองคำของหลวงพ่อสดไปประดิษฐาน ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

“การเดินธุดงค์ดังกล่าวเป็นกิจไม่เหมาะของสงฆ์ เนื่องจากธุดงควัตรตามหลักพุทธศาสนานั้นระบุว่าถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร ฯลฯ การถือธุดงค์บำเพ็ญด้วยการสมาทานอธิษฐานใจ คือการยังชีพโดยบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนใคร การปฏิบัติธุดงควัตร คือการที่สงฆ์จาริกไปตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผา เป็นอยู่อย่างสมถะ ลดละอุปโภค บริโภค ทำจิตให้เป็นอิสระจากพันธนาการเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เป็นการประหารกิเลส จึงต้องอยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา สำหรับการเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งนี้เป็นวิถีตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับธุดงควัตร อย่างน้อย 3 ประการ ประกอบด้วย 1. เดินไปท่ามกลางกิเลสในเมืองหลวง ที่มีแต่สีสันแห่งบริโภคนิยมเต็มอัตรา ซ้ำยังไปเบียดเบียนพื้นผิวจราจรให้ประชาชนที่เดินทางต้องเดือดร้อน 2. เหตุใดจะต้องมาจัดเดินตรงกับช่วงวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 2 เม.ย. และคร่อมไปถึงวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งเป็นวันจักรี ซ้ำยังจัดเส้นทางเดินผ่านใจกลางเมือง บริเวณราชประสงค์อีกด้วย มีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ที่มาเดินธุดงค์ในป่าคอนกรีตเช่นนี้ และ 3. ขอเสนอให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคม กรุณาตรวจสอบว่า ธุดงค์ธรรมชัยครั้งนี้เป็นการเคารพ หรือเป็นการทำลายพุทธบัญญัติและธรรมวินัยกันแน่”
นั่นคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เสียงแรกจากความคิดเห็นของ “นางตรึงใจ บูรณสมภพ” ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการธุดงค์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ธุดงค์ 13” จากคำอธิบายของ “พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)”ปราชญ์แห่งสงฆ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เรียบเรียงความหมายของคำว่า ธุดงค์ 13 เอาไว้ดังต่อไปนี้

ธุดงค์ 13 มีความหมายว่า องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษ เป็นต้น โดยแบ่งคำอธิบายออกเป็น 4 หมวดใหญ่ด้วยกันคือ

หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุต (เกี่ยวกับจีวร )
1. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. เตจีวริกังคะ องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร

หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุต (เกี่ยวกับบิณฑบาต)
3. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
4. สปทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร
5. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก
6. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉัน เป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต

หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุต (เกี่ยวกับเสนาสนะ )
8. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น
9. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร
10. อัพโภกาลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร
11. โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้

หมวดที่ 4 วิริยปฏิสังยุต (เกี่ยวกับความเพียร)

13. เนสัชชิกังคะ องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากต้องการให้เห็นภาพคงต้องไปฟังคำอธิบายจากท่านเจ้าคุณ “พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สัญญโต) “ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ที่อธิบายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า การธุดงค์ในความหมายทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. การขัดเกลาจิตใจ การปฏิบัติอย่างเข้มงวด หรือปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้อยู่ในวินัยของสงฆ์ ในกรณีพิเศษ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่อยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา 2. มีความหมายว่านักเลง คือการปฏิบัติอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจังแบบนักเลง ซึ่งการธุดงค์ไม่ได้มีข้อบังคับว่าจะต้องเข้าไปในป่า และไม่มีข้อห้ามว่าไม่ให้เข้าเมืองเพียงแต่ว่า แนวปฏิบัตินั้นจะต้องนำไปสู่การขัดเกลาตนเองให้อยู่ในวินัย
“ในกรณีธรรมกาย ถือว่าไม่ใช่การกระทำที่เรียกว่าเป็นการธุดงค์ และไม่มีการปฏิบัติใดที่เกี่ยวข้อง หรือหากจะใช้คำที่นิยมกันในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นเพียงการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ที่แสดงออกถึงวัตถุประสงค์ โดยใช้คนหมู่มาก เพื่อเรียกความสนใจจากประชาชน จากที่เคยพูดคุยกับธรรมกายถึงวัตถุประสงค์ในการปฏิบัตินี้ คือ ต้องการปลุกให้ชาวพุทธตื่นมารับรู้เรื่องพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรม เพราะชาวพุทธมักจะหลับอยู่เรื่อยๆ โดยใช้วิธีการเหล่านี้เพราะคนเมืองปลุกยากกว่าคนต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนตัวเห็นว่าการปฏิบัติในลักษณะนี้มีทั้งด้านดีและด้านลบ เห็นด้วยในวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ชาวพุทธตื่น แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติ เพราะเป็นการโชว์ตัวมากกว่า หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นเพียงการสร้างภาพ” พระเทพวิสุทธิกวีกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและถูกต้องของการธุดงค์ธรรมชัยในครั้งนี้ เว็บไซต์ของวัดพระธรรมกายก็ได้มีคำชี้แจงเอาไว้อย่างละเอียด โดย พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ซึ่งเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการธุดงค์ธรรมชัยฯ ได้อธิบายเอาไว้ 8 ข้อด้วยกัน แต่จุดที่สำคัญก็คือการให้คำจำกัดความของการธุดงค์กลางเมืองเอาไว้ในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ว่า ....

“4. การถือธุดงควัตร… “ธุดงค์” แปลว่า “องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ 13 ข้อ ภิกษุจะถือปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้เพื่อฝึกปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ตนเอง ในครั้งนี้ทางโครงการฯได้กำหนดให้พระธุดงค์ ถือธุดงควัตร 2 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 5 คือ ฉันมื้อเดียว และข้อที่ 12 คือ อยู่ในที่พักที่เขาจัดให้โดยไม่เลือก ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้ ปฏิบัติได้ทุกที่ ทั้งในเมือง ในบ้าน ในป่า ในวัด แต่ครั้งนี้ปฏิบัติในเส้นทางอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว?

“5. ในการเดินธุดงค์ พระธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มาจากทั่วประเทศ ขณะเดิน พระธุดงค์ได้ทำสมาธิ? สำรวม กาย วาจา ใจ ไปตลอดเส้นทางการเดิน และอธิษฐานจิตให้กรุงเทพฯ และประเทศไทย มีแต่ความสงบร่มเย็น นำความสิริมงคลแก่ประเทศ

“6. การเดินธุดงค์ครั้งนี้ เดินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเ?จ้า เพราะในสมัยพุทธกาล เกิดภัยพิบัติที่เมืองเวสาลี ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวก 500 รูป เสด็จมายังเมืองเวสาลีเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยระหว่างส่งเสด็จและรับเสด็จ ชาวเมืองได้โปรยดอกไม้หลากสี ตั้งฉัตร ธงทิว รับ-ส่งเสด็จ หลายสิบกิโลเมตร เพื่อถวายการต้อนรับ ในครั้งนี้ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นประสบมหาอุทกภัย และปีนี้เรากำลังประสบอัคคี?ภัยในหลายครั้งหลายหน ทั้งไฟไหม้ พลุระเบิด แก๊สระเบิด ฯลฯ พระธุดงค์ต่างเดินทำสมาธิไป? เพื่อให้กรุงเทพฯ และประเทศไทย สงบสุข และชวนชาวไทยมาโปรยกลีบกุหลาบ ถวายการต้อนรับพระ ฝึกความเคารพในพระรัตนตรัย แ?ละให้มีส่วนแห่งบุญกับพระธุดงค์ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล ซึ่งทุกวันมีชาวบ้านออกมาต้อนรับคณะพระธุดงค์เป็นจำนวนมา?ก

ฟังคำอธิบายจากวัดพระธรรมกายแล้ว สาธุชนคนใจบุญทั้งหลายคงมีคำตอบในตัวเองว่าจะเชื่อหรือไม่อย่างไร

กระนั้นก็ดีการธุดงค์บนกลีบกุหลาบของพระวัดพระธรรมกาย ถ้าจะว่าไปแล้วก็ต้องถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาถ้าหากนึกประหวัดย้อนไปถึงตัวเจ้าสำนักเอง เนื่องเพราะการแต่งองค์ทรงเครื่องก็ไม่เหมือนพระสงฆ์องค์เจ้าระดับธรรมดาอยู่แล้ว ทั้งการใส่จีวรแขนยาว การใส่ถุงเท้า นี่ไม่นับรวมถึงจีวรที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าราคาแพงระยับ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้และท้าทายให้ค้นหาคำตอบยิ่งก็คือประเด็นที่ออกมาความเห็นของ “นายสันติสุข โสภณศิริ” กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป

คำถามที่นายสันติสุขชี้ให้มีอยู่ 2 ข้อคือ

หนึ่ง-การที่สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ถ้าหากวัดหรือศาสนาอื่นต้องการทำในลักษณะเดียวกัน สามารถทำได้หรือไม่

สอง-พุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือหินยานนับถือพระพุทธเจ้าเป็นองค์สำคัญ ไม่ได้นับถือครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งขึ้นมา ซึ่งอันนั้นเป็นมหายาน ด้วยเหตุดังกล่าววัดพระธรรมกายก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประกาศชัดเจนว่า ธรรมกายเป็นหินยานหรือมหายาน ไม่ใช่สร้างความกำกวมและสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับพุทธศาสนิกชนเยี่ยงนี้

คำถามของนายสันติสุขทำให้สังคมเห็นว่า วัดพระธรรมกายยิ่งใหญ่ในประเทศนี้จนไม่มีใครหรือองค์กรใดสามารถเข้าไปจัดการได้

นี่ไม่ต้องถามถึง “มหาเถรสมาคม” ที่ปกครองคณะสงฆ์ของประเทศไทย เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า อำนาจของวัดพระธรรมกายได้แผ่อิทธิพลเข้าไปครอบงำจนแทบจะหมดสิ้นแล้ว

ตรวจรายชื่อสาวกนะจ๊ะ “โน้ส-อุดม”ขาใหญ่ไปทุกงาน

เป็นที่รับรู้กันว่า บรรดาสาวกและผู้ศรัทธาในวัดธรรมกายนั้น ล้วนแล้วแต่จัดอยู่ในระดับบิ๊กเบ้งกันทั้งนั้น โดยมีตั้งแต่นักการเมือง นักธุรกิจ นักแสดง ข้าราชการ ตำรวจและทหาร

แต่ผู้ศรัทธารายใหม่ที่ดูเหมือนว่าสังคมจะเพิ่งรับรู้จนกลายเป็น Talk of the Town อยู่ในเวลางานนี้เห็นจะหนีไม่พ้นจำอวดเซาะกราวระดับประเทศอย่าง “โน้ส-อุดม แต้พานิช” ซึ่งไปปรากฏภาพด้วยชุดนุ่งขาวห่มขาวระหว่างที่ขบวนธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกายเดินกรีดกรายอยู่บนแคตวอล์กที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“เฮ้ย...โน้สเป็นธรรมกายด้วยหรือวะ”

นั่นคือคำถามที่ดังขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โน้สคือหนึ่งในผู้ที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกายมานานพอสมควร โดยหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานยืนยันชัดเจนก็คือ ภาพของโน้ตที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.dmc.tv อีกหนึ่งช่องทางสื่อสารของวัดแห่งนี้

ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวบรรยายใต้ภาพของโน้ส-อุดมเอาไว้อย่างชัดเจนด้วยความภาคภูมิใจว่า “ไม่ว่างานบุญไหนๆ พี่โน้ต อุดม แต้พานิช ก็ไม่เคยพลาด” ประหนึ่งต้องการแสดงให้เห็นว่า ตลกเงินล้านเจ้าของทอล์กโชว์สารพัดเดี่ยวไมโครโฟนนั้นมีความศรัทธาในคำสอบและแนวทางของวัดพระธรรมกาย

กระนั้นก็ดี นอกจากโน้ส-อุดมแล้ว ผู้ศรัทธาระดับบิ๊กเบ้งของวัดพระธรรมกายยังมีอีกหลายคนด้วยกัน แต่ที่รู้จักกันดีก็เห็นจะดีไม่พ้นเจ้าพ่อวงการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างบุญชัย เบญจรงคกุล อนันต์ อัศวโภคินแห่งแลนด์แอนด์เฮาส์

นอกจากนั้น ยังปรากฏคนดังๆ อีกไม่น้อยที่เชื่อในคำสอนของหลวงพ่อธัมมชโยโดยไปปรากฏกายในกิจกรรมของวัดหลายต่อหลายครั้ง เช่น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดร.ลีลาวดี วัชโรบล สมชาย ตั้งประพฤติดี รองผู้อำนวยการ ร.ร.สารวิทยา นางพรสรร กำลังเอก ภรรยาพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ดร.ประเสริฐ ประวัติรุ่งเรือง อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เจิน เจิน บุญสูงเนิน เป็นต้น

เห็นรายชื่อลูกศิษย์ลูกหาอย่างนี้แล้ว จงอย่าแปลกใจว่าทำไมวัดพระธรรมกายถึงสามารถจัดธุดงค์กลางกรุงได้







กำลังโหลดความคิดเห็น