xs
xsm
sm
md
lg

บ.ว.ร.ไม่ค่อยทำงานการศึกษาจึงเน่า

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ผู้หวังดีมักมีข้อแนะนำให้ผู้เขียนจำไว้เสมอว่า ถ้าไม่อยากเจ็บตัว หรือถูกด่า อย่าเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องศาสนา ทั้งนี้เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจ ส่วนศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธาและมักมีอารมณ์เข้ามาครอบงำ เสียงสะท้อนจากผู้อ่านทั้งที่เขียนส่งมาลงต่อจากบทความในคอลัมน์นี้เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาและที่ส่งตรงไปให้ผู้เขียนทางอีเมลพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ข้อแนะนำนั้นมาจากประสบการณ์ของผู้ผ่านโลกมายาวนาน

บทความนั้นจบลงดังนี้

เรื่องของความศรัทธาเราว่ากันไม่ได้ แต่ผู้เขียนมองว่า พุทธศาสนิกชนที่ยึดทางสายกลางน่าจะสนใจทั้งในด้านการสนับสนุนโรงเรียนและด้านการสนับสนุนวัดในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เราคงรอให้รัฐบาลทำทุกอย่างเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้แน่ ทั้งนี้เพราะนอกจากรัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงจำกัดแล้ว ความฉ้อฉลของคนทั้งในและนอกราชการยังทำให้การใช้งบประมาณด้อยประสิทธิผลอีกด้วย หากเราเข้าไปช่วยกันสนับสนุนโรงเรียนเท่าๆ กับการสนับสนุนวัด ภายในเวลาไม่นาน การศึกษาของไทยจะไม่เป็นที่ใกล้โหล่ในอาเซียนแน่นอน

บทความมาจากการอ่านเหตุการณ์ปัจจุบันบนฐานของประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งรวมทั้งในด้านการเติบโตในทุ่งนา เรียนมาทางครูและทำงานด้านการพัฒนาเป็นเวลากว่า 20 ปีที่พาผู้เขียนไปสัมผัสส่วนต่างๆ ของสังคมไทยและหลายสิบประเทศทั่วโลกต่อยอดด้วยการเข้าไปสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทยโดยเฉพาะในชนบทเป็นเวลากว่า 15 ปี มองจากมุมนี้ ผู้เขียนมิได้ละหลักกาลามสูตรตามที่ผู้หวังดีบางคนตักเตือน อย่างไรก็ดี เนื้อหาบางส่วนที่จะเขียนต่อไปได้มาจากการศึกษาประวัติศาสตร์เนื่องจากบางเหตุการณ์เกิดขึ้นนานนับพันปีทำให้ผู้เขียนไม่มีโอกาสสัมผัสโดยตรง ถ้าผู้อ่านคิดว่ามันไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเป็นความจริงก็เป็นสิ่งที่ท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดได้

ผู้อ่านบางท่านดูจะแสนภูมิใจในถาวรวัตถุขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ทางวัดสร้างขึ้นว่าแสดงถึงความก้าวหน้าและรุ่งเรือง แต่การมองเช่นนั้นเป็นเสมือนการมองเหรียญเพียงหน้าเดียว หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งอย่างแจ้งชัดว่า อีกหน้าหนึ่งของการก่อสร้างที่ใช้ทรัพยากรมากมายนำไปสู่การทำลายจนสังคมล่มสลายมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในส่วนต่างๆ ของโลก ขอยกตัวอย่างเรื่องสังคมมายาซึ่งครั้งหนึ่งรุ่งเรืองอยู่ในอเมริกากลางและล่มสลายไปก่อนที่ฝรั่งจะเข้าไปตั้งถิ่นฐาน สังคมนั้นก้าวหน้ากว่าฝรั่งในหลายด้านและสร้างถาวรวัตถุขนาดใหญ่ขึ้นมาตามหลักความศรัทธา หรือศาสนาของพวกเขา สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งใช้ทรัพยากรมากมายได้แก่พีระมิดที่ยังมีเหลืออยู่ให้ดูถึงปัจจุบันแม้สังคมมายาจะล่มสลายไปนับพันปีแล้วก็ตาม (ภาพ)

จริงอยู่ผู้คนจำนวนมากมองว่ามันเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ แต่ส่วนใหญ่ไม่มองต่อไปว่ามันมีฐานของความคิดอย่างไรและทำให้เกิดอะไรในที่สุด เช่น พีระมิดนั้นสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนซึ่งคนในสมัยนั้นถูกชักจูงให้เชื่อว่ามีอยู่จริงและเป็นผู้บันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ รวมทั้งดินฟ้าอากาศและน้ำฝน บนยอดพีระมิดมีสถานที่สำหรับประกอบพิธีและบูชายันต์เพื่อการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระเจ้า แต่ชาวมายาหารู้ไม่ว่าการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริโภคแบบเกินพอดีนั้นเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมจนขาดสมดุลอย่างร้ายแรงทำให้ฝนแล้งและการเพราะปลูกพืชอาหารล้มเหลว ผู้นำพยายามสื่อกับเบื้องบนเพื่อขอฝน แต่จะพยายามสักเท่าไรฝนก็ไม่ยอมตก ประชาชนหมดจึงศรัทธาและสรุปว่ามันเป็นการหลอกลวงทั้งเพ พวกเขาเฮกันเข้าเข่นฆ่าผู้นำ อย่างไรก็ตาม มันสายเกินไปที่จะทำอะไรได้แล้ว สังคมมายาล่มสลายเมื่อผู้คนอดตาย รบราฆ่าฟันกันอย่างแพร่หลายและกระจัดกระจายไปหาที่อยู่ใหม่โดยทิ้งซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างไว้เป็นอุทาหรณ์

เรื่องราวของชาวมายาอาจหาอ่านได้จากหลากหลายแหล่ง หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งซึ่งวางอยู่บนฐานของการวิจัยเกี่ยวกับความล่มสลายแบบครอบคลุมได้แก่เรื่อง “ล่มสลาย” ต้นฉบับของหนังสือแปลเล่มนี้ได้แก่ Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed (ภาพ)

เนื่องจากหนังสือยาวกว่า 800 หน้า ผู้ขาดเวลาอาจไปอ่านบทคัดย่อสั้นๆ ได้ในหนังสือชื่อ “กะลาภิวัตน์” ซึ่งรวมบทคัดย่อหนังสือที่โด่งดังของฝรั่งไว้ 23 เล่ม หากหาหนังสือเล่มนี้ไม่ได้และต้องการจะอ่านเพียงบทคัดย่อสั้นๆ ของเรื่อง “ล่มสลาย” อาจเข้าไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องพีระมิด คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวของชาวมายาเท่ากับเรื่องราวของชาวอียิปต์ แต่เรื่องอียิปต์ก็มักเห็นกันแต่ภาพพีระมิดสามแท่งที่กีซ่าในย่านชานเมืองไคโรเท่านั้น (รูป) โดยหารู้ไม่ว่าอียิปต์มีพีระมิดอีกมากมายที่ผู้นำหลายต่อหลายรุ่นต่างพากันสร้างให้ใหญ่โตคล้ายเป็นการแข่งแสดงบารมีกัน แต่การกระทำเช่นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อียิปต์โบราณล่มสลาย

อียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของย่านตะวันออกกลางที่เรียกว่า “เสี้ยวจันทร์อันอุดม” (Fertile Crescent) ย้อนไปราว 1 หมื่นปี ย่านนี้เป็นที่เกิดของความก้าวหน้าของมนุษย์เราแบบก้าวกระโดดเป็นครั้งแรกหลังจากคนในย่านนั้นค้นพบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การค้นพบนั้นนำไปสู่การตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งถาวรแทนการเร่ร่อนหาของป่าและล่าสัตว์ไปตามฤดูกาลอันเป็นฐานของการสร้างอารยธรรม หนึ่งในอารยธรรมในย่านนั้นเรียกกันว่าอาณาจักรบาบิโลนซึ่งมีสวนสวรรค์อันโด่งดัง บาบิโลนล่มสลายไปเพราะใช้ทรัพยากรแบบเกินพอดี รายละเอียดของเรื่องนี้อาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ One with Nineveh หากขาดเวลาหรือไม่ถนัดอ่านภาษาอังกฤษอาจไปอ่านบทคัดย่อได้ในหนังสือชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ : โจทย์ที่ต้องมีคำตอบ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน

หากมองว่าเรื่องราวของชาวมายาและชาวอียิปต์นั้นไกลตัว ผู้ที่เคยไปชมสิ่งมหัศจรรย์ใกล้บ้านเราอาจลองนึกถึงภาพนครวัดและนครธมว่าเป็นอย่างไร หากนึกไม่ออก ขอเรียนว่าให้ดูภาพ 2 ภาพต่อไปซึ่งสะท้อนการทำลายอันเกิดจากการก่อสร้างขนาดใหญ่จากความเชื่อในด้านการสื่อสารกับเบื้องบนอันเป็นพิธีกรรมทางศาสนา อาณาจักรเขมรล่มสลายเพราะการทำลายอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรเกินพอดี ณ วันนี้ธรรมชาติกำลังเอาคืน รากของต้นไม้ในภาพดูไม่ต่างกับงูเหลือมขนาดใหญ่ซึ่งกำลังบีบรัดสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นให้สิ้นใจตายตามตกไปกับความล่มสลายของอาณาจักรเขมร


นอกจากอาณาจักรเขมรแล้ว ยังมีอาณาจักรพุกามซึ่งล่มสลายไปแล้วเช่นกัน จุดเด่นของพุกามคือเจดีย์เล็กใหญ่หลายพันองค์ที่สร้างขึ้นมาเนื่องจากความเชื่อทางศาสนาเช่นกัน (ภาพ) วิญญาณของผู้สร้างจะไปไหนหลังจากตายไปแล้วคงพิสูจน์ไม่ได้ แต่ผลกระทบทางลบของการใช้ทรัพยากรมากเกินไปในการก่อสร้างยังคงอยู่

มีผู้มองว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมีผลดีในด้านการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว นั่นเป็นความจริง แต่มันเป็นการมองเพียงแคบๆ และแบบสั้นๆ สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นมิได้ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตื่นรู้เนื่องจากพวกเขามักมองสิ่งเหล่านั้นแค่เปลือกนอก

เมื่อพูดถึงเปลือกนอก อาจพูดต่อไปได้อีกหลายแง่มุม ด้านหนึ่งได้แก่เรื่องเด็กไทยไปแข่งขันทางด้านวิชาการแล้วชนะมาบ่อยๆ เรื่องนี้มีที่มาจากการฝึกเด็กไทยเพื่อไปแข่งขันเช่นนั้นโดยเฉพาะ แม้จะชนะกลับมา แต่จะเห็นว่าเด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่มิได้รุ่งโรจน์ต่อไปในทางวิชาการจนมีโอกาสได้รับรางวัลโนเบลเช่นเด็กที่มาจากประเทศที่ไม่มีการเตรียมโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะเด็กไทยอาจไม่ปราดเปรื่องเกินผู้อื่นจริงและเพราะระบบการศึกษาและสังคมไทยไม่เอื้อให้เด็กก้าวต่อไปสู่ความเป็นเลิศ จึงมีข้อกังขาเสมอว่า จะแข่งขันกันไปทำไมหากไม่สามารถค้นหาเพชรมาเจียระไนจนได้สิ่งที่ดีเลิศ สุดท้ายมันก็เป็นเพียงการหลอกตัวเอง

เรื่องเปลือกนอกนี้มีผู้ให้ความเห็นไปหลายคนเกี่ยวกับพระป่าสายอาจารย์มั่นและพระที่ช่วยสร้างโรงเรียน ผู้เขียนเห็นด้วยว่ามีพระจำนวนหนึ่งซึ่งมุ่งมั่นในการพาพุทธศาสนิกชนให้ผ่านพ้นเปลือกนอกเข้าไปถึงแก่นของพระศาสนาและสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนอย่างจริงจัง แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อยในขณะที่ส่วนใหญ่ยังมุ่งไปในด้านพิธีกรรมและทำได้แค่นั้นเนื่องจากท่านเองก็ไม่แตกฉานในด้านแก่นของพระธรรมในคัมภีร์และมิได้ปฏิบัติตามนั้นอย่างจริงจังจนเข้าถึงอย่างลึกซึ้งด้วย

พิธีกรรมมักทำกันเป็นประเพณีซึ่งถ้ารักษาไว้และดำเนินต่อไปให้อยู่ในขอบเขตด้วยความมีสติย่อมควรทำเพื่อคงวัฒนธรรมเอาไว้ แต่มีพระในหลายสำนักที่มุ่งชักจูงฝูงชนให้ไปในทางวัตถุนิยมและสั่งสมทรัพย์สมบัติเสียเองซึ่งเป็นการละเมิดพระธรรมคำสอนของพระศาสดา เรื่องนี้คงมิต้องขยายต่อไปเพราะในช่วงนี้มีข่าวอื้อฉาวแทบรายวันและมีตัวอย่างให้เห็นเป็นประจำแบบตำตาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ขอยกสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง) ซึ่งเขียนไว้เมื่อ 10 ปีก่อนและตอนนี้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์มาปันกัน สาระสำคัญเป็นดังนี้

1. กรณีธรรมกายหมายถึงชื่อเรียกโดยรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น พฤติการณ์ทั้งหมดที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีสองลักษณะเท่านั้น คือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

2. การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า การพยายามปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตน หรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศให้มีฐานะสำคัญ ถึงขนาดที่ใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นขึ้นมาอ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลัก การสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่องนิพพาน เป็นต้น การพยายามให้อรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า บุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่ง และเมื่อทำบุญและอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ได้อย่างปาฏิหาริย์

3. การประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลัก ได้แก่ การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่มีความโดดเด่นอยู่ที่ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งการระดมทุนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และในทางเกียรติคุณชื่อเสียง แต่วิธีเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติชนิดที่ปราศจาการจัดตั้ง หรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง

4. พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงราก ฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่สำนักตั้งเอาไว้ ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้อง สูญสิ้นอันตรธานไป และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิวิธีที่ถือว่าเป็นมิจฉา สมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงายไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้

5. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เห็นว่า การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตก็ดี การประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสถาบันสงฆ์ และต่อสังคมไทย ท่านจึงได้อุทิศตนเองออกมาทำหน้าที่ในการรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยการชี้แจงแสดงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาผ่านหนังสือชื่อ “กรณีธรรมกาย” และผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ

6. สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) สามารถดำเนินบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นเพราะท่านเจริญรอยตามพุทธจริยาและปฏิปทาของบูรพาจารย์ทั้งหลายแต่ปางก่อน และเพราะท่านประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การมีจิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธ การถือธรรม และถือประโยชน์สุขของมหาชนเป็นใหญ่ การเป็นภิกษุผู้เปี่ยมด้วยกตัญญุตาธรรมต่อพระพุทธศาสนา และการมีคุณสมบัติของชาวพุทธชั้นนำตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้อย่างครบถ้วน

7. ในกรณีธรรมกายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ทำบทบาทที่สำคัญสองประการด้วยกัน บทบาทประการที่หนึ่งก็คือ การทำหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม และบทบาทประการที่สองก็คือ การได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างของชาวพุทธชั้นนำ ผู้มีศักยภาพพร้อมเต็มที่ที่จะทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน บทบาททั้งสองประการนี้นอกจากจะช่วยให้กรณีธรรมกายคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแล้ว ยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาพระธรรมวินัยแก่ชาวพุทธร่วมสมัย และแก่อนุชนในภายหลังได้อย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่บูรพาจารย์ทั้งหลาย ได้เคยทำเอาไว้ในอดีตอีกด้วย


ทั้งที่การกระทำของสำนักนี้มีปัญหาเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัด แต่กระทรวงศึกษาธิการยังส่งครูและนักเรียนจำนวนมากไปให้อบรม การกระทำทั้งของฝ่ายวัดและของฝ่ายบริหารบ้านเมืองทั้งในกรณีนี้และในกรณีอื่นๆ อีกมากเป็นกระบวนการทำความฉ้อฉลอย่างหนึ่งซึ่งคอลัมน์นี้พูดถึงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ความฉ้อฉลเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมรวมทั้งความเหมาะสม ศีลธรรมจรรยา หลักศาสนาและตัวบทกฎหมาย มันมีอยู่ทั่วไปในหลากหลายรูปแบบจากการทิ้งเศษกระดาษเกลื่อนถนนไปจนถึงการเข้าทำงานสาย การละเมิดกฎหมายและจรรยาบรรณและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความฉ้อฉลเป็นต้นตอของปัญหาสารพัดในสังคมไทยรวมทั้งในด้านการศึกษาด้วย

อนึ่ง คงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การศึกษาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่คนเราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
การเรียนรู้วิวัฒน์มาตามธรรมชาติตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา นั่นคือ เริ่มจากในบ้านเป็นอันดับแรกซึ่งมีพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวเป็นครู หลังจากนั้นเมื่อมีสถาบันทางศาสนาเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการตั้งบ้านเรือนถาวรแทนการเร่ร่อนหาของป่าและล่าสัตว์ สถาบันนี้เข้ามามีบทบาทในด้านการเรียนรู้โดยเฉพาะทางด้านจิตวิญญาณและด้านศีลธรรมจรรยารวมทั้งการชักนำให้เกิดศรัทธาในสิ่งต่างๆ ด้วย ต่อจากนั้นจึงเกิดสถาบันทางการศึกษา หรือโรงเรียนในสมัยที่อารยธรรมกรีกรุ่งเรือง การเรียนรู้ตามธรรมชาตินี้เป็นที่มาของคำว่า “บ.ว.ร.” หรือ บ้าน วัดและโรงเรียนซึ่งหากบูรณาการกันอย่างจริงจังจะเป็นระบบการศึกษาชั้นดีที่มักถูกอ้างถึง “บ้าน” ในที่นี้อาจตีความหมายว่าเป็นชุมชน หรือสังคมโดยทั่วไปก็คงได้

หลักนี้มีความเป็นสากลและเป็นแนวคิดเบื้องต้นซึ่งยึดความเป็นชุมชนเป็นหลัก เมื่อเยาวชนและการศึกษาในอเมริกามีปัญหาอย่างหนัก ฮิลลารี่ คลินตัน ผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของอเมริกาจึงไปขุดเอามาเสนอเพื่อแก้ปัญหาเนื่องจากเธอมองว่า ต้นตอของปัญหาเป็นการล่มสลายของความเป็นชุมชนเมื่อสมาชิกในสังคมปฏิบัติตนแบบตัวใครตัวมันจนตกขอบ แนวคิดนั้น ชาวแอฟริกันบอกต่อๆ กันมาตามสุภาษิตที่ว่า “ทั้งหมู่บ้านมีหน้าที่ร่วมกันในการเลี้ยงดูเด็ก” หลักนี้ ฮิลลารี่ คลินตัน นำมาขยายในหนังสือชื่อ It Takes a Village (รูป) ปรากฏว่าหนังสือขายได้หลายล้านเล่มและเธออุทิศรายได้ทั้งหมดให้แก่กิจการด้านการกุศลเพื่อช่วยสังคม ผู้ขาดเวลาหรือไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษอาจไปอ่านบทคัดย่อของหนังสือเรื่องนี้ที่ พญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร ทำไว้ในเว็บไซต์ของสโมสรหนอนหนังสือ www.bookishclub.com

แน่ละ การบริจาคเพื่อช่วยสังคมเป็นแก่นของบทความเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเชิญชวนให้คนไทยพิจารณาหาความสมดุลระหว่างการบริจาคให้วัดกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนโรงเรียนที่ผู้เขียนมองว่าหนักไปทางวัดมากเกินไป แต่เรื่องการบริจาคไม่จำกัดอยู่ที่ทรัพย์สินเท่านั้น มันยังรวมทั้งการใช้เวลาเพื่ออาสาเข้าไปช่วยโรงเรียนและร่วมมือกับครูและผู้บริหารในกิจการของโรงเรียนอีกด้วย

เกี่ยวกับเรื่องการบริจาคเวลามีข้อคิดน่าสนใจจากอภิมหาเศรษฐีอเมริกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งจะบริจาคทรัพย์นับหมื่นล้านดอลลาร์ของเขาอย่างน้อย 99% ให้อภิมหาเศรษฐี บิล เกตส์ เพื่อนำไปช่วยเหลือสังคมทั่วโลก บัฟเฟตต์ บอกว่า แม้เขาจะบริจาคทรัพย์ไปแล้วนับพันล้านดอลลาร์ แต่มันยังมีค่าน้อยกว่าเวลาที่ใครต่อใครอาสาออกไปช่วยเด็กด้อยโอกาส สำหรับเรื่องการบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดโดยเก็บไว้เพียง 1% นั้น เขาให้เหตุผลว่า ถ้าเขาเก็บไว้เพื่อใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น มันจะไม่ทำให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้น แต่การบริจาคถึง 99% จะทำให้คนจำนวนมากมีความสุขเพิ่มขึ้นแน่นอน ล่าสุดนิตยสารฟอร์บส์ประเมินว่า บัฟเฟตต์มีทรัพย์ราว 58,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 1.9 ล้านล้านบาท ทำให้เขาเป็นชาวอเมริกันที่รวยรองลงมาจาก บิล เกตส์ ซึ่งมีทรัพย์ราว 72,000 ล้านดอลลาร์

แนวคิดของ บัฟเฟตต์ วางอยู่บนฐานของการปฏิบัติตนแบบสมถะอย่างเสมอต้นเสมอปลายตั้งแต่วันที่เขายังไม่ร่ำรวย เขายังอาศัยอยู่ในบ้านหลังแรกซึ่งเขาซื้อมา 55 ปีแล้ว (รูป) เป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านของเขาอยู่ติดถนนและไม่มีกำแพงสูงเสริมด้วยเหล็กแหลม หรือขวดแตกเช่นบ้านในเมืองไทย

ส่วน บิล เกตส์ บริจาคทรัพย์ไปกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์แล้วเพื่อช่วยคนทั่วโลกในหลายด้านโดยเฉพาะการศึกษา การพัฒนาและการสาธารณสุข เขาอ้างว่าเขาร่ำรวยขึ้นมาจากการขายสินค้าให้คนทั่วโลก เขาจึงต้องการให้คืนแก่สังคมโลก การบริจาคทรัพย์สินของบิล เกตส์ มีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซต์ www.gatesfoundation.org

แนวคิดของสองอภิมหาเศรษฐีนี้มีอยู่ทั่วไปและอาจอ่านส่วนหนึ่งได้จากหนังสือเรื่อง “มหาเศรษฐีขี้ไม่เหนียว” และจากเรื่อง “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” เรื่องหลังนี้อาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา

ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ทั้งสองคนมิได้บริจาคทรัพย์นับหมื่นล้านดอลลาร์ของตนเพื่อคนทั่วโลกเท่านั้น พวกเขายังพยายามชักชวนมหาเศรษฐีอทั่วโลกให้ร่วมกันบริจาคอีกด้วย หลักเกณฑ์มีเพียงสั้นๆ นั่นคือ พวกเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์นับพันล้านดอลลาร์ของตนเพื่อช่วยคนอื่น การบริจาคจะเริ่มในตอนนี้ หรือจะบริจาคทีเดียวเมื่อเสียชีวิตก็ได้ ณ วันนี้มีมหาเศรษฐีอเมริกันให้คำมั่นสัญญาแล้ว 114 คน รายชื่อและแนวคิดของพวกเขาพร้อมรายละเอียดอื่นๆ อาจหาได้ในเว็บไซต์ www.givingpledge.org ขอเรียนว่าอภิมหาเศรษฐีรุ่นเยาว์มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งร่ำรวยจากการทำสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กได้เข้าร่วมโครงการนี้และเริ่มบริจาคเงินนับร้อยล้านดอลลาร์แล้ว

อนึ่ง ทุกครั้งที่ผู้เขียนอ้างถึงการบริจาคของชาวอเมริกันจะมีผู้อ่านส่งสารไปเตือนผู้เขียนเสมอว่า พวกเขาทำเช่นนั้นเพราะต้องการนำไปหักภาษี ขอเรียนว่า ณ วันนี้ ผู้เขียนเสียภาษีรายได้ทั้งในเมืองไทยและในอเมริกาและทราบดีว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไปอาจนำการบริจาคเช่นนั้นไปหักภาษีรายได้ แต่สำหรับการบริจาคจำนวนมากของคนกลุ่มนี้ กฎหมายภาษียอมให้พวกเขาหักออกได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น

ย้อนกลับไปยังเรื่องการเป็น “บ.ว.ร.” บ้านมาก่อนและเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดเพราะทุกอย่างเริ่มที่บ้านซึ่งปั้นคนขึ้นมาให้วัดและโรงเรียน ดังที่อ้างถึงแล้ว เยาวชนเริ่มต้นการศึกษาจากในบ้าน ถ้าบ้านสอนดี มีตัวอย่างที่ดีให้ดูอยู่ตลอดเวลา การศึกษาของเด็กย่อมเริ่มด้วยดีทำให้เขามีโอกาสเป็นคนดีต่อไปในอนาคตสูง ตรงข้ามถ้าในบ้านเต็มไปด้วยการกระทำอันฉ้อฉล คนที่บ้านปั้นขึ้นมาย่อมมีโอกาสน้อยที่จะเป็นคนดีต่อไปไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรก็ตามรวมทั้งการเป็นพระ เป็นครู ผู้บริหารการศึกษาและนักการเมือง เรื่องนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วตามสุภาษิตที่ว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น”

การสัมผัสกับวัดและโรงเรียนเกิดขึ้นตามมา
ในปัจจุบันนี้ วัดโดยทั่วไปทำได้เพียงจำกัดในด้านบทบาทการเป็นตัวอย่างที่ดีและการชักนำผู้คนให้มีคุณธรรมและลดละกิเลส วัดได้คนที่ไม่เหมาะที่จะเป็นพระไปจากบ้าน ส่วนโรงเรียนและการจัดการศึกษาก็มีปัญหาเช่นเดียวกันเพราะบ้านส่งคนฉ้อฉลและด้อยสมรรถภาพไปให้โรงเรียนติดต่อกันมาเป็นเวลานานจนมันเป็นภาวะดินพอกหางหมู เรื่องนี้ผู้รอบรู้ ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ เขียนกลอนสรุปไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า

กระทรวงชื่อ ศึกษา ล้าหลังสุด      สร้างไม่หยุด เติบโต บ้าโอ่โถง
ทั้งตึกรัฐ คนหลวง กลวงเป็นโพลง  ติดป้ายโรง เรียนหินอ่อน สลอนกัน
บุคลากร ตอนนี้ มีสองเท่า           ประเทศใหญ่ รวมเข้า ตั้งห้านั่น
คืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี         อเมริกัน ญี่ปุ่น กินฝุ่นไทย

ตั้งโรงเรียน สาขา เป็นว่าเล่น       สามกรมเป็น กี่สำนัก ชักโตใหญ่
เป็นองค์ชาย สิบสี่ ดีเหลือใจ       เดี๋ยวนี้มี เท่าไร ไม่อยากนับ
ยิ่งมหา วิทยาลัย ตั้งง่ายสุด         เสา-หมา-ห้ามนุษย์ ก็เสร็จสรรพ
ป.โท ปีละพัน ปั้นสำรับ เดี๋ยวนี้ขับ เอกออกมา ปีห้าร้อย

อันกระทรวง ศึกษา มหาชั่ว        พรรคมันกลัว คนฉลาด ชาติไม่ด้อย
จึงเปลี่ยนรัฐ มนตรี ทีละน้อย       มิใช่ย่อย สองปี กว่าสี่คน
ขอสาปแช่ง รัฐบาล สังหารชาติ    ขออาฆาต รัฐมนตรี ทำปี้ป่น
ตั้งแต่เจ้า ทักษิณ ถึงจาตุรนต์      มันคือคน ทำลายชาติ อนาถเอย


มองโดยรวม ความฉ้อฉลคือต้นตอของปัญหาสารพัด หากไม่กำจัดความฉ้อฉล ปัญหาย่อมไม่หมดไป การกำจัดความฉ้อฉลอาจทำได้มากมายหลายวิธี เกาหลีใต้ใช้การลงโทษประหารและจำคุกแบบยาวนานอดีตประธานาธิบดีที่ฉ้อฉล นอกจากนั้น ประธานาธิบดีบางคนไปโดดเขาตายเพราะอับอายเมื่อถูกสอบสวน การกระทำเช่นนั้นเป็นพลังผลักดันให้เกาหลีใต้หลุดพ้นออกจากการเป็นประเทศยากจนสุดๆ เมื่อ 50-60 ปีก่อน ตอนนี้จีนพยายามทำตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ดูจะคิดและปฏิบัติไปในทางตรงข้าม ขาดความอับอาย ซ้ำร้ายยังกำลังให้ความเคารพบูชามหาโจรที่ฉ้อฉลที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกด้วย เรื่องการศึกษาเน่าจึงน่าจะเข้าได้ไม่ยากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น