xs
xsm
sm
md
lg

ฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ในความจำเป็นเร่งด่วนของสังคมไทยที่จะไปให้พ้นวิกฤตความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา การนำพาประเทศไทยให้ไปถูกทิศทางไม่อาจพึ่งพาอำนาจการเมืองเชิงสถาบันถ่ายเดียว ด้วยการยึดโยงกับอำนาจประชาชนในการบริหารจัดการบ้านเมืองรวมถึงจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีหลากหลาย และไม่จำกัดยังมีที่มาอีกหลายหลากทาง โดยเฉพาะกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยที่จะสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายภายใต้สถานการณ์สงครามความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและการจัดการทรัพยากรได้

เหตุปัจจัยของวิกฤตความไม่เท่าเทียมและอยุติธรรมที่ทำเมืองไทยแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการกำหนดนโยบายสาธารณะที่จัดลำดับความสำคัญผิดพลาด การหวังคะแนนนิยมมากกว่าความสมเหตุผล และการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย นอกเหนือไปจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายซ้ำๆ ซากๆ ที่กัดกินสังคมไทยมาช้านาน การแก้ไขวิกฤตต่างๆ จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ว่าด้วยนโนบายสาธารณะเสียใหม่ ไม่ให้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มการเมืองและเทคโนแครตเท่านั้น

ทั้งนี้การร่วมกำหนดทิศทางประเทศไทยของภาคประชาสังคมต้องตั้งต้นจากการผ่องถ่ายอำนาจการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เคยจำกัดอยู่กับพรรคการเมือง (political party) และกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ซึ่งคับแคบทั้งด้านมุมมองและจำนวนผู้เข้าร่วมมาสู่มือประชาชนมากขึ้นเพื่อไม่เพียงจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ประโยชน์จากดำเนินนโยบายสาธารณะสูงสุดเท่านั้น ทว่ายังสร้างนโยบายสาธารณะซึ่งถึงที่สุดแม้ประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์บนความสูญเสียเต็มร้อยของคนอีกกลุ่มดังที่เคยเกิดมาตลอดในการกำหนดนโยบายสาธารณะของไทยที่ใช้อารมณ์และความต้องการคะแนนเสียงทางการเมืองของผู้นำมากกว่าความสมเหตุสมผลของนโยบาย เพราะภายใต้กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมนับแต่การกำหนดประเด็นปัญหา การก่อตัวของนโยบายสาธารณะ ไปจนถึงการประเมินหรือยุติ จะทำให้สุดท้ายนโยบายไม่หันมาทำร้ายประชาชน โดยเฉพาะคนข้นแค้นที่เป็นกลุ่มชายขอบการพัฒนากระแสหลัก

การกีดกันกดขู่ผู้คนออกจากกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทุกกลุ่มจึงเป็นการกีดกัน (exclusive) กลุ่มคนที่ไม่เข้าพวกหรือผลประโยชน์ขัดแย้งออกไป ในขณะที่สังคมพหุลักษณ์วัฒนธรรมที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือหรือมีส่วนร่วมของประชาชนจะผนวก (inclusive) คนทุกกลุ่มเข้ามาโดยให้ความสำคัญกับความมีเหตุมีผล (rationality) และการไม่เลือกปฏิบัติ (discrimination) ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนการแสวงหาฉันทามติที่ประเทศไทยกำลังปรารถนาเพื่อจะหลุดพ้นวิกฤตการณ์ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมที่ถั่งโถมทุกข์เท่าทวีคูณสู่ผู้คนทั่วไป

ในสถานการณ์สุดเสี่ยงจะเกิดกลียุคความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมเช่นนี้ แนวทางแสวงหาฉันทามติ (consensus) ที่นำมาใช้ในเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ซึ่งยึดโยงกับ ‘มติปฏิรูปครั้งที่ 1’ อันเกิดจากการระดมความคิดเห็นหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อจะสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมจึงสามารถสร้าง ‘ฉันทามติปฏิรูปประเทศไทย’ ได้ เพราะได้ผ่านกระบวนการเชื่อมร้อยเครือข่ายสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายเข้ามามากกว่าจะกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปเพียงเพราะผลประโยชน์ขัดแย้งกัน อันจะนำมาซึ่งทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่ไม่เอื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะได้

6 แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยที่กอปรด้วย 1) การปฏิรูปแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้าง การเพิ่มผลิตภาพและการคุ้มครองแรงงาน 2) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจสู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น 3) การปฏิรูประบบเกษตรกรรมเพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร 4) การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย 5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน และ 6) การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเป็นเข็มทิศขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปพ้นจากวิกฤตเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างได้

ทิศทางการเคลื่อนขบวนของสังคมไทยเพื่อพ้นวิกฤตความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจากเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นการทึกทักขึ้นมาเองของผู้มีอำนาจทางการเมืองหรืออวดอ้างความเป็นศาสตร์ของเทคโนแครตจนละเลยความรู้ของประชาชน หากแต่กระบวนการแสวงหาฉันทามติที่ผลิตผลเป็นนโยบายสาธารณะที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันนี้เกิดจากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางสมานฉันท์ เสนอแนะและรับฟังกันอย่างสร้างสรรค์ ของทุกกลุ่มที่เข้าร่วม จนสามารถสร้างทางเลือก (alternative) ของสังคมไทยที่วางอยู่บนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ได้

กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูปประเทศไทยแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเท่าเทียมกันเช่นนี้นอกจากจะไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างขั้นตอนการกำหนด ผลักดัน และดำเนินนโยบาย เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูญเสียประโยชน์แล้ว ยังนำเสนอทางเลือกทางนโยบาย (alternative policy scenarios) ที่ถึงจะหลากหลายแต่ก็มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะคำนวณเหตุปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแล้ว

ทั้งนี้กระบวนการสร้างฉันทามติหรือความเห็นร่วมต่อชุดข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยทั้ง 6 ด้านของภาคประชาชนบนเวทีสมัชชาปฏิรูประดับชาติจะนำมาซึ่งการผลักดันนโยบายสาธารณะ (policy advocacy) เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมบนพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ได้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ชุมชน จนถึงจังหวัด หรือกระทั่งสามารถพัฒนามาเป็นวาระสาธารณะ (public agenda) หรือวาระสื่อมวลชน (media agenda) ที่จะขยายขอบฟ้าของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากมีกลุ่มคนเข้าร่วมที่มีอำนาจทางการเมืองหรือการกำหนดประเด็นสาธารณะมากขึ้น ซึ่งถึงที่สุดแล้วแนวทางนี้มีความคล้ายคลึงกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (new social movement) ที่ต่อต้านความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนากระแสหลักในประเด็นต่างๆ อยู่บางแง่มุม โดยเฉพาะการมุ่งความสัมพันธ์แนวราบมากกว่าแนวตั้ง

ปฏิบัติการรวมหมู่ (collective action) นี้จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปพ้นข้อจำกัดอุปสรรคด้านความไม่สมานฉันท์ของคนในสังคมได้ ด้วยเพราะมีพลังมหาศาลร่วมกันในการคอยหนุนเคลื่อน ควบคุม กำกับ และติดตาม นโยบายสาธารณะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอันเป็นจุดหมายท้ายสุดของทุกกลุ่มที่เข้าร่วมกัน อันเนื่องมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบเสมอว่านโยบายสาธารณะมากมายถูกละเลย ลดทอน หรือบิดเบือนโดยฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนที่สูญเสียประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้น

กระบวนการแสวงหาฉันทามติ (consensus decision-making) ที่มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมอย่างกว้างขวางนอกจากจะสร้างทางเลือกทางนโยบายที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแล้ว ยังเป็นการรับประกันว่าในภายภาคหน้าความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจะทยอยลดลงเรื่อยๆ จนไม่ถึงจุดวิกฤตที่ทำประเทศไทยเข้าสู่โหมดกลียุคเหมือนดังที่ผ่านมา เพราะผู้คนไม่ต้องทนทุกข์กับนโยบายมากมายที่หันกลับมาทำร้ายประชาชนเหมือนครั้งที่นโยบายสาธารณะต่างๆ ถูกกำหนดบนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนการเมืองหรือความรู้ที่ขาดคุณธรรมของเทคโนแครต
กำลังโหลดความคิดเห็น