ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สกัด “ปู” กระดี๊กระด๊าซบเขมร หวั่นสุดท้ายผุดโรงแยกก๊าซแห่งใหม่ที่นครศรีธรรมราชได้สำเร็จ นักวิชาการและ ส.ว.ร่วมสะท้อนปัญหาพลังงานที่กลายเป็นปัญหาให้ท้องถิ่นต้องต่อสู้ปกป้อง ทั้งเรื่องปิโตรเลียมและโครงการแลนด์บริดจ์ที่จ้องพลิกโฉมรอบทะเลไทยเป็นเมืองอุตสาหกรรม ในขณะที่รัฐใช้กฎหมายเปิดให้นักลงทุนต่างชาติยึดสัมปทานราคาถูก แต่ท้องถิ่นแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
วันนี้ (1 เม.ย.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดเวทีเสวนา “ปัญหาพลังงาน...ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” ในวาระครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ ห้องประชุม 1 อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ดร.อาภา หวังเกียรติ นักวิชาจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "เส้นทางจากโลกถึงท้องถิ่น : ความซับซ้อนและความไม่เป็นธรรมในธุรกิจพลังงาน" ว่า แปลงสัมปทานปิโตรเลียมแทบจะอยู่ทั่วทั้งหน้าหาดทะเลอ่าวไทย เราผลิตน้ำมันดิบอยู่ในอันดับที่ 33 ของโลก มากกว่าบรูไน ใน 5-10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีการผลิตก๊าซและน้ำมันส่งออกมากกว่ายางพาราและข้าวด้วย
“เชฟรอนบอกว่าไทยผลิตปิโตรเลียมได้กว่า 1,600 ล้านบาท โดยมีต่างประเทศมาใช้ทรัพยากรและสร้างมูลค่าให้บริษัทตนเองอย่างมหาศาล ทำให้กลุ่มของทุนวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านพลังงาน โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ถูกกำหนดด้านธุรกิจพลังงานระดับภูมิภาคของโลก เพื่อเชื่อมและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านพลังงาน มีการผลักดันให้ประเทศเราเข้าไปสู่เขตปลอดเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อที่จะให้ธุรกิจพลังงานของกลุ่มทุนได้กำไรมากที่สุด” ดร.อาภา กล่าวต่อและว่า
และมีการคิดว่าเราจะเป็นศูนย์กลางทางทะเล ทางอากาศ และทางบก จากฝั่งอ่าวไทยไปอันดามัน ซึ่งที่ๆ มาแรงที่สุดคือที่สวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา และที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล โดยจะสร้างเป็นเส้นทางเชื่อมไปประเทศจีน รัสเซีย เพื่อเป็นการรองรับการขนส่งขนถ่ายสินค้า
เราเป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ กลุ่มทุนที่อยู่ในศูนย์อุตสาหกรรมรถยนต์ก็วางแผนจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ เอาเหล็กมาถลุงและขึ้นรูป แหล่งผลิตปิโตรเลียมจะอยู่ฝั่งอ่าวไทย อุตสาหกรรมปิโตรเลียมรายสำคัญจึงต้องการมาตั้งฐานในอ่าวไทย คือ ปตท. เพิร์ลออย เชฟรอน เตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำปลายน้ำ
ดร.อาภา กล่าวต่ออีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยพูดถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเทียบเรือน้ำลึก มีการไปประเทศกัมพูชาเพื่อหารือ ซึ่งหากเป็นไปโดยดีก็อาจจะมีการสร้างโรงแยกก๊าซขึ้นที่ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และมีการเตรียมเอาเงินสำรองมาฟื้นโครงการแลนบริดจ์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคใต้ เหมือนกรณีที่ประชุม ครม.ที่ภูเก็ต ก็มีการเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้าของบประมาณทำโครงการแลนบริดจ์ กระทรวงพลังงานให้ ปตท.จ้างบริษัทศึกษาเรื่องการวางท่อ มีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 150 ล้านลิตรต่อวัน ประมาณอีก 10-12 ปี ต่อจากนี้ ซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในระยะที่ 3
ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะปกป้องทรัพยากรของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือต้องไม่ให้ท่อน้ำมันขึ้นมาได้ เพราะถ้าท่อขึ้นได้แล้ว แม้แต่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ไกลออกไปก็จะเปลี่ยนเป็นเมืองอุตสาหกรรมทันที ก่อนจะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ต้องหาไฟ คือโรงไฟฟ้าประมาณ 8-9 โรง เพื่อรองรับอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการเตรียมแหล่งน้ำรองรับ ดังนั้นจึงมีกรณีการผลักดันให้เกิดเขื่อนคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช และเขื่อนคลองช้าง จ.สตูล ขึ้น
“บ้านเราอุดมสมบูรณ์ทางด้านฐานทรัพยากร และเรากำลังสู้กับการรวมกลุ่มทุนข้ามชาติและนักการเมืองขนาดใหญ่ ภาคใต้ถ้าปล่อยให้ท่อขึ้น ก็จะมีโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ดร.อาภากล่าว
ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถามถึงเหตุผลที่จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกกะวัตต์ในจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน ทั้งที่ความต้องการใช้แท้จริงมีเพียง 40 เมกกะวัตต์เท่านั้น พร้อมกับสรุปสาระยุทธศาสตร์จังหวัด ว่า
1.ยุทธศาสตร์ของเราส่งเสริมเสริมให้เป็นเมืองอาหารทะเล ปลอดสารพิษ ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม
2.เป็นศูนย์กลางการพักผ่อนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้คนแม่กลองรักษ์ถิ่น และได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับประเทศ บึง วัง ทะเล ต้องทำให้เป็นพื้นที่คุ้มครองชุ่มน้ำระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกัน พร้อมรวมตัวกันเป็นเครือข่ายรักษ์แม่กลอง ใช้ผังเมืองเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อกำหนดว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร แต่มีความชัดเจนว่าจะไม่เอาอุตสาหกรรมประเภท 3
3.ที่แม่กลองเป็นเมืองที่สันดอนโผล่ตอนน้ำลด ซึ่งหมายถึงตะกอนในแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์มาก ดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ อ่าวกอไก่ก็อุดมสมบูรณ์มาก มีแม่น้ำที่เอาตะกอนที่สมบูรณ์จากแม่น้ำ 5 สาย ไหลลงมาลงแม่กลอง และมีหาดเลนจึงเป็นแหล่งอาหารสำคัญ
“ในคลองน้ำจะขึ้นลงตามเวลา ซึ่งมีหอยกะพง มีหาดเลนยาว แค่ทำเขื่อนก็ส่งผลกระทบมาก ทั้งที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรัฐไม่เคยมาดูแลอะไรเรา เวลาที่บริษัทจะของบประมาณในการสร้างโรงไฟฟ้าก็จะมีการจ้างบริษัททำ EIA ประเทศไทยมีอ่าวที่สุดยอดก็คือ อ่าวกอไก่ เป็น 1 ใน 17 อ่าวที่สมบูรณ์ รองลงมาในประเทศไทย คือ อ่าวบ้านดอน และอ่าวพังงา เรามีเทศกาลกินปลา มีเกลือสมุทรรสชาติดี เราไม่ได้มีนิสัยเชิงอุตสาหกรรมแต่เรามีนิสัยเป็นศิลปินเดี่ยว เราสามารถเจียระไนเพชรโดยไม่มีตำหนิ แต่เรากลับไม่ทำ กลับไปสนับสนุนเรื่องอุตสาหกรรมทั้งที่ไม่ถูกต้องกับจริตคนไทย ปัญหาชายฝั่งพัง และต้องคิดต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่อส่งก๊าซที่นครศรีธรรมราชมาซ้ำเติมอีก” นายสุรจิตกล่าวทิ้งท้าย