ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ผู้ถือหุ้น 2 ราย ของธนาคารกรุงเทพเข้าร้องเรียนกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ธนาคารกรุงเทพกระทำผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทำให้ธนาคารฯ ในฐานะที่เป็นบริษัทจำกัดมหาชน ได้รับความเสียหาย และทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายไปด้วย
สาระสำคัญของการร้องเรียนก็คือ เมื่อเดือนมิถุนายน 2540 ธนาคารกรุงเทพ ปล่อยเงินกู้ 120 ล้านบาท ให้กับลูกค้ารายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงเทพ และกระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร อีกทั้งลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความอันสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของธนาคาร ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง
ทำให้การอนุมัติของที่ประชุมกรรมการบริหารทั้ง 9 คน เป็นความผิดตาม มาตรา 307, 311 และ 312 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
หนังสือร้องเรียนยังระบุด้วยว่า การปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้รายหนึ่งของกรรมการบริหารชุดดังกล่าวนั้น ไม่มีการสอบประวัติ หรือปรากฏข้อมูลว่า ลูกหนี้คนนี้เป็นลูกค้าของธนาคารหรือไม่ อีกทั้งไม่มีประวัติการทำงานหรือฐานะทางการเงินหรือทรัพย์สิน ไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้ปล่อยกู้ ก็ไม่ได้สอบถามว่า ผู้กู้จะเอาเงินไปทำอะไร มีความสามารถที่จะชำระหนี้คืนหรือไม่
“มีเพียงคำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาตรอกจันทน์ ว่า เงินกู้ 120 ล้านบาท โดยใช้ที่ดินจำนวน 4 แปลง ของบุคคลหนึ่งเป็นหลักประกัน โดยเจ้าของที่ดินได้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ไม่มีการประเมินราคาที่ดินทั้ง 4 แปลงนี้ว่า คุ้มกับหนี้หรือไม่” หนังสือร้องเรียน ระบุ
ธาริต บอกกับนักข่าวว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียน ดีเอสไอโดยสำนักการเงินการธนาคาร ได้ทำการสืบสวนมาระยะหนึ่งและพบคดีมีมูล จึงมีคำสั่งอนุมัติรับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษตามบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติคดีพิเศษ และได้ออกหมาย เรียก นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ พร้อมพรรคพวกอีก 8 คน มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และจะครบกำหนดนัดในวันที่ 29 มีนาคม นี้
ปัจจุบันคณะกรรมการธนาคารกรุงเทพ มีทั้งหมด 19 คน เช่น 1. นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคาร 2. นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร 3. นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการบริหาร กรรมการ จัดการใหญ่ 4. พลเรือเอกประเจตน์ ศิริเดช กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ 5. นายโกวิทย์ โปษยานนท์ กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทน 6. นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร 7. นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร 8. นายปิติ สิทธิอำนวย กรรมการธนาคาร 9. นายอมร จันทรสมบูรณ์ กรรมการบริหาร กรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทน กรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น
ส่วนคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองประธานกรรมการบริหาร นายเดชา ตุลานันท์ กรรมการประกอบด้วย นายอมร จันทรสมบูรณ์ นายชาติศิริ โสภณพนิช นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ นายสุวรรณ แทนสถิตย์ นายชาญศักดิ์ เพื่องฟู
โดยเฉพาะ “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ถือว่า เป็น “ลูกป๋าทางด้านเศรษฐกิจ” คนหนึ่ง
ดังนั้น หลายคนจึงเชื่อลึกๆ อยู่ในใจว่า การรับเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ ภายใต้การบริหารงานของ ธาริต จึงเป็นคดีพิเศษทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”
โฆษิต ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 หลังจากร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารในปี 2542 และในตำแหน่งกรรมการบริหารในปี 2537
เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาการคลัง (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2506 และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ (University of Maryland) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2508 และจบจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในปี 2531
ก่อนหน้านั้น นายโฆสิต เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศหลายตำแหน่ง เช่น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ในด้านประวัติการรับราชการ นายโฆสิตเคยเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และยังมีประสบการณ์ทำงานระดับนานาชาติในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลก ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
นายโฆสิต เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งในธนาคารกรุงเทพ ก็ได้จัดตั้งโครงการเกษตรก้าวหน้า เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลผลิตการเกษตร นอกจากนั้น ยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจขนาดและขนาดย่อม (SMEs) หลายโครงการ
แต่สำหรับธาริตแล้ว ก็ถือว่าเป็นลูกหม้อคนสำคัญของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถือว่าคนหนึ่งที่ร่างกฎหมายจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ
แต่ในระยะหลัง ดีเอสไอ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากพอสมควร
โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจ
ธาริต เคยบอกกับสื่อหลังจากยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำ มีความพร้อมและยินดีที่จะร่วมงานกับรัฐบาลใหม่”
ทั้งๆ ที่หลายคนเชื่อว่า ธาริต จะถูกปลดจากตำแหน่งเป็นคนแรกเหมือน “สุนัย มโนมัยอุดม”
“ส่วนตัวผมแล้ว ยังมีอายุราชการเหลืออีก 7 ปี และยังมีความสุขกับการทำงานในหน้าที่ ไม่เคยคิดจะลาออกจากราชการไปเล่นการเมือง อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายบริหารเห็นว่าผมมีความไม่เหมาะสม จะสั่งย้ายก็พร้อมปฏิบัติตาม และไม่เสียใจ ในชีวิตราชการผมเคยถูกย้ายไปในพื้นที่ไกลสุดถึง จ.สตูล”
“แต่อยากฝากเป็นประเด็นว่า เก้าอี้อธิบดี ดีเอสไอ มีความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อสังคมสูง และเพื่อให้องค์กรได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีศักดิ์ศรี ตำแหน่งอธิบดี ควรมีภูมิต้านทานทางการเมืองสูง จึงอยากเสนอต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ ให้พิจารณายกฐานะดีเอสไอ ขึ้นเป็นซุปเปอร์กรม เทียบเท่าสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ”
ทั้งนี้ หัวหน้าหน่วยของทั้ง 2 หน่วยงานได้ยกระดับเป็นซี 11 ซึ่งตำแหน่งของอธิบดี ดีเอสไอ ควรเทียบเท่าซี 11 เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน การโยกย้ายทำไม่ได้ง่ายเหมือนการสั่งย้ายซี 10 เข้าสำนักผู้ตรวจราชการ
ธาริต บอกว่า “ ปกติตำแหน่งอธิบดีมีจำนวน 200 คน ผมในฐานะที่มานั่งอยู่กรมนี้เป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดี ยอมรับว่า การทำงานในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ เป็นการทำงานที่ลำบาก ในแต่ละวันแต่ละช่วงเวลา มีหลายเรื่องราวเกิดขึ้น ทั้งเรื่องบริหารองค์กรและการเข้าไปรับผิดชอบคดีสำคัญ ซึ่งกว่าจะผ่านในแต่ละช่วงยากมาก”
นั่นหมายความว่า ธาริต พร้อมที่จะถูกย้าย แต่ธาริต ก็อยู่มาได้ โดยไม่ถูกปลดกลางอากาศ
ที่สำคัญ ธาริต กำลังถูกจับตามองว่า พยายามเปลี่ยนสี เพื่อล้างคราบไคลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และวาง “กับดัก” คู่ศัตรูทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างตำรวจ และอัยการ ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545…จึงเก็บใส่ลิ้นชักไปนานแล้ว !!
ที่สำคัญ ปฏิบัติการ กับธนาคารกรุงเทพ ของธาริต จะทำให้ “ความไว้วางใจ” จากทักษิณ เพิ่มดีกรีขึ้นมากน้อยแค่ไหน หากเป้าหมายครั้งนี้ไปไกลถึง “พล.อ.เปรม”…!!
สมการการเมืองของไทย ยังไม่เปลี่ยนแปลง...