xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานขาดปัญหาใหญ่ นโยบาย300บาทไม่ช่วยชี้วัสดุ-ราคาบ้านขยับขึ้นก่อนใช้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ยัน 1เม.ย. ปรับค่าแรงขั้นต่ำ300บาทต่อวันกระทบต้นทุนวัสดุก่อสร้าง-ราคาที่อยู่อาศัยทั้งระบบ เชื่ออสังหาฯรายใหญ่กระทบไม่มากหลังนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปช่วยแก้ปัญหา แต่รายกลาง-เล็กกระอัก ด้านอุตฯก่อสร้าง-รับสร้างบ้าน ชี้ นโยบายค่าแรงไม่มีผล ระบุแรงงานขาดตลาดปัญหาใหญ่ จี้เปิดเสรีขึ้นทะเบียนแรงานต่างด้าวน์ตลอดปีแก้แรงงานขาดแคลน

ใกล้งวดของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในวันที่ 1 เม.ย.55 ซึ่งแน่นอนความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถูกหยิบยกและสะท้อนข้อดีและข้อเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราเห็นด้วย แต่ในด้านผลกระทบที่จะเกิดกับภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นที่แน่นอนเช่นกันว่า ต้นทุนของธุรกิจจะปรับขึ้น

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้มุมมองก่อนหน้านี้ว่า จะส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจของผู้ประกอบการสูงขึ้น 10% และอาจส่งผลให้ต้องมีการปรับราคาขาย ที่อยู่อาศัย เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของรายผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องแบรนด์และสินค้าที่เป็นที่ยอมรับของลูกค้า และในการทำตลาดเองก็ไม่ได้มีจุดขายที่ราคา แต่อาศัยความน่าเชื่อถือในกลุ่มลูกค้าเป็นตัวชี้วัด บวกกับทำเลที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ หลายๆราย ในตลาดยังได้มีการปรับตัวนำเทคโนโลยีการก่อสร้าง เช่น ระบบ'พรีคาสท์' หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูป เข้ามาแก้ปญหาแรงงานการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและลดต้นทุนแรงงานในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ดังกล่าวเชื่อว่าปัญหาแรงงานคงไม่ส่งผลมากนักเพราะรายใหญ่เหล่านี้มีศักยภาพด้านการเงินที่สูงอยู่แล้ว

แต่สำหรับผู้ประกอบการ อสังหาฯขนาดกลางและรายเล็ก ที่มีศักยภาพด้านการเงินไม่มากพอ จะทำให้มีปัญหากับการปรับระบบการก่อสร้าง เพราะระบบเทคโนโลยีการก่อสร้างสำเร็จรูปนั้น มีต้นค่อนข้างทุนสูง จึงเป็นปัญหาสำคัญหากรายเล็กและรายกลางจะลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำเร็จรูปไว้รองรับงานก่อสร้างของบริษัทเอง

แม้ว่าภาพรวมๆ ของผู้ประกอบการรายใหญ่ดูเหมือนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่การปรับตัวครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงเช่นกัน เพราะนอกจากจะปรับในเรื่องของระบบก่อสร้างแล้ว ผู้ประกอบการเองยังหันมาปรับในเรื่องของราคาขาย เพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย อาทิเช่น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ออกมายอมรับว่าต้องปรับเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มอีกกว่า 2% เพื่อชดเชยให้แก่ทางทีมผู้รับเหมาที่สูงขึ้น แน่นอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะต้องถูกบวกไว้ในราคาบ้านเช่นกัน

นายพิศาล ธรรมวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปทุมดีไซน์ จำกัด ผู้ให้บริการรับสร้างบ้านบนที่ดินลูกค้าชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่มีผลต่อตุ้นทุนแรงานในภาคก่ารก่อสร้าง แต่ส่งผลต่อวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันค่าจ้างแรงานงานฝีมือของบริษัทก่อสร้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ปัญหาในตลาดแรงงานที่สำคัญคือการขาดแคลนแรงงานฝีมือและแรงงานก่อสร้างในตลาดที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ ปัญหาที่บริษัทรับสร้างบ้านประสบในปัจจุบัน สอดคล้องกับมุมมองของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่สะท้อนปัญหาในตลาดก่อสร้างออกมาว่า ปัญหาเรื่องค่าแรงไม่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างมากเท่ากับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯมองว่าสิ่งที่ก่อปัญหา คือ ข้อกำหนดในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ปัจจุบันเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ได้ปีละ1ครั้งเท่านั้น

ขณะที่ความต้องการแรงงานก่อสร้างมีอยู่ตลอดทั้งปี แต่จะมากจะน้อยนั้น ขึ้นกับการประมูลงานก่อสร้างของภาคเอกชนในแต่ละช่วง ซึ่งก็ต้องขึ้นกับว่า ในแต่ละปีนั้นจะมีงานจากภาครัฐและเอกชนออกมามากน้อยเท่าใด และการได้งานจากการชนะประมูลงานของเอกชนนั้น ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน ทำให้บริษัทก่อสร้างไม่สามารถกำหนดแน่นอนได้ว่า จะรับแรงงานหรือนำแรงงานไปขึ้นทะเบียนได้ในช่วงใด

“การที่จะให้บริษัทก่อสร้างนำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนไว้ โดยยังไม่มีงานเข้ามาจะทำให้บริษัทก่อสร้างต้องแบกรับต้นทุนแรงงาน ทั้งที่ยังไม่มีรายได้เข้ามาหรือไม่มีงานในพอร์ตไว้รองรับ ดังนั้น การเปิดให้นำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนการจ้างงานได้ปีละครั้ง กลายเป็นปัญหาของบริษัทก่อสร้าง และเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในตลาด ส่วนแนวทางแก้ไขคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเปิดให้สามารถนำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนได้อย่างเสรี ไม่ต้องกำหนดเวลาในการเปิดรับขึ้นทะเบียนเพียงปีละ1ครั้ง”.
กำลังโหลดความคิดเห็น