ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การสร้างเส้นทางเพื่อให้ทักษิณ ชินวัตรเดินทางกลับเข้าประเทศอย่างเท่กำลังดำเนินไปอย่างใหญ่โต โอฬาร และเร่งรีบ มีการระดมสรรพกำลังจำนวนมาก ใช้ผู้คนหลากหลายฝ่าย ใช้สถาบันทางการเมือง สถาบันวิชาการ การวิจัยเทียม การสร้างเหตุผลเสมือนจริง และวิธีการทุกอย่างเท่าที่จะสรรหามาได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งที่ตามมาคือความโกลาหลของสังคมและการก่อตัวของคลื่นสึนามิทางการเมือง
เมื่อมนุษย์มีการก่อสร้างทางกายภาพครั้งใด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้าน สร้างตึก โรงงาน ถนนหนทาง เขื่อน โรงไฟฟ้า ก็จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติทุกครั้งไม่มากก็น้อย ยิ่งการก่อสร้างนั้นมีความใหญ่โตมโหฬารเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบที่กว้างไกลและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกันเมื่อมนุษย์มี “การสร้างความเป็นจริงทางสังคม” ตั้งแต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนฝูง กฎระเบียบบรรทัดฐาน ค่านิยม ในกลุ่ม ชุมชน องค์การ จนไปถึงนโยบายของรัฐ และกฎหมาย ในกระบวนการสร้างความเป็นจริงทางสังคมเหล่านี้ ย่อมบังเกิดผลกระทบต่อสังคม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการของสังคม และยิ่งการสร้างความเป็นจริงทางสังคมใด มีขอบข่ายกว้างขวางใหญ่โตมากเท่าไร กระแสคลื่นแห่งผลกระทบย่อมแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง และมีระดับความรุนแรงมากขึ้น
ระดับความรุนแรงบวกกับสภาพบริบททางกายภาพของพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของคลื่นสึนามิฉันใด ระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมือง บวกกับสภาพบริบททางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ย่อมมีความสัมพันธ์กับภาวะความรุนแรงของคลื่นสึนามิทางการเมืองฉันนั้น
การสร้างเส้นทางในการนำทักษิณกลับประเทศไทยเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องมาจากการสร้างเส้นทางให้พรรคเพื่อไทยขึ้นมาครอบครองอำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐดังกล่าวในการช่วยเหลือทักษิณ ชินวัตร อันที่จริงทักษิณสามารถสั่งให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมตนเองได้ทันที หรืออาจสั่งพรรคเพื่อไทยเสนอพระราชบัญญัติเดียวกันนี้โดยเร็วก็ได้ แต่เขากลับไม่สั่งการเช่นนั้นทันทีเพราะทราบดีว่าการสั่งการอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เป็นการแสดงออกถึงการใช้อำนาจแบบดิบเถื่อนซึ่งจะทำให้รัฐบาลและพรรคของเขาตกเป็นเป้าหมายในการโจมตี และถูกต่อต้านอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
ทักษิณจึงเลือกใช้กระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นโดยให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาหาแนวทางปรองดองขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการเสนอหนทางอันเป็นบันไดไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ตนเองในภายหลัง ในการนี้จึงต้องให้บุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักที่ทำให้ตนเองต้องหลุดจากอำนาจมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการ อันได้แก่ พลเอกสนธิ บุญญรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2549 และให้สถาบันพระปกเกล้ารับหน้าที่ไปวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งและจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างความปรองดอง
แม้ว่าสถาบันพระปกเกล้าจะเป็น “สถาบันวิชาการเทียม” (Pseudo-academic institution) เพราะเป็นสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยฝ่ายการเมือง มีประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบันและมีกรรมการเกือบทั้งหมดมาจากนักการเมือง และทำหน้าที่ในการอบรมนักการเมืองและศึกษาปรากฎการณ์ทางการเมืองเพื่อตอบสนองเป้าหมายของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก แต่สำหรับภาพลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในสังคมที่ผู้บริหารสถาบันพยายามสร้างคือ การพยายามจะเป็น “สถาบันทางวิชาการแท้” (Authentic academic institution) ซึ่งดูเหมือนจะทำได้สำเร็จระดับหนึ่ง เพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง
ภาพลักษณ์และความหมายของการเป็นสถาบันวิชาการ นักวิชาการ และงานวิจัย คือสัญลักษณ์ของการแสวงหาความจริงอย่างมีเหตุมีผล และการทำความเข้าใจกับความจริงอย่างที่มันเป็นอย่างรอบด้านให้มากที่สุดเท่าที่ศักยภาพของผู้ศึกษาจะทำได้ สถาบันทางวิชาการแท้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการยึดถือความจริงเป็นเป้าหมายในการศึกษา ไม่ว่าความจริงนั้นจะดำรงอยู่จริงอย่างเป็นอิสระจากมนุษย์ หรือความจริงที่สังคมสร้างขึ้นมาก็ตาม และที่สำคัญสถาบันวิชาการแท้ย่อมไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของอำนาจทางการเมืองที่มีเป้าหมายในการทำลายความจริงและความมีเหตุผล
ฝ่ายการเมืองเลือกใช้สถาบันวิชาการเทียมศึกษาแนวทางการปรองดองในครั้งนี้ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสี่ประการ ประการแรก เขาสามารถกำหนดผลการศึกษาและข้อเสนอแนะให้ออกมาตามความปรารถนาของตนเองได้ ประการที่สอง พวกเขาสามารถนำผลการศึกษาไปอ้างกับสังคมได้ว่าข้อเสนอเหล่านั้นมาจากสถาบันทางวิชาการ เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสถาบันดังกล่าวเป็นสถาบันทางวิชาการเทียม จึงอาจหลงเชื่อและเข้าใจผิดว่าสถาบันนั้นเป็นสถาบันทางวิชาการแท้
ประการที่สาม เอาไว้หลอกตัวเองภายหลังว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบางเรื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกรณีที่ผลการศึกษานำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม พวกเขาก็จะบอกให้ตัวเองสบายใจว่านั่นเป็นข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า มิใช่เป็นความคิดของพวกเขา และประการที่สี่ทำให้เกิดความแยบคายในการออกกฎหมายเพื่อช่วยทักษิณให้หลุดพ้นจากอาชญากรรมที่เขาก่อไว้กับประเทศและสังคมไทย
ความแยบคายในการช่วยเหลือทักษิณเป็นการแต่งเติมเสริมสร้างให้กระบวนการใช้อำนาจแบบดิบเถื่อนดูดีมีเหตุผลขึ้น หรือเป็น “กระบวนการสร้างความเป็นเหตุผล” ให้แก่อำนาจ เป็นการเปิดทางให้ผู้มีอำนาจใช้ “ความไร้เหตุผล” (irrationality) ได้อย่างเป็น “เหตุผลเสมือนจริง” (virtual rationality)
ความไร้เหตุผลก็คือความไม่สอดคล้องและไม่คงเส้นคงวาภายในของปรากฎการณ์หนึ่งๆ เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่อาชญากรอันเกิดมาจากพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบของเขา ย่อมไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ หลักธรรมาภิบาล หลักคุณธรรมและ หลักประชาธิปไตย ดังนั้นเพื่อซ่อน “ความไร้เหตุผล” นี้เอาไว้จึงต้องฉาบผิวหน้าไว้ด้วยสิ่งที่ดูเสมือนหรือเป็นสัญลักษณ์ของ “เหตุผล”
สถาบันวิชาการเทียมและการวิจัยเทียมเพื่อสร้างเหตุผลเสมือนจริงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไป โดยมีภารกิจเพื่อถากถางเส้นทางให้ “อำนาจแบบดิบเถื่อน” กลายเป็น “อำนาจที่มีชั้นเชิง” ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างกับสังคมได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
ดังนั้นหากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรมีการนิรโทษกรรมทักษิณ พวกเขาจะสร้างตรรกะเสมือนจริงดังนี้
“ เป็นการปรองดอง มิใช่นิรโทษกรรม อันเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรัฐสภาได้อนุญาตให้ดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนฯมิได้คิดเอาเอง ไม่ได้ช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง แต่พิจารณาตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปรองดองซึ่งก็ไม่ได้คิดเอาเองเช่นเดียวกัน แต่พิจารณาตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าอันเป็นสถาบันวิชาการที่สูงส่ง มีนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายมาช่วยทำวิจัย และได้ทำศึกษาการวิจัยอย่างเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างรอบด้านมาแล้ว”
ถามว่าสังคมไม่ทราบเรื่องเช่นนี้หรือ ก็คงตอบว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ทราบและเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ถูก “เหตุผลเสมือนจริง” นี้กล่อมเกลาให้เชื่อในสิ่งที่ทักษิณและสาวกต้องการให้เชื่อ
กระนั้นก็ตาม แม้มีการสร้างเหตุผลเสมือนจริงมาปกปิดการใช้อำนาจดิบถื่อนเพื่อทำลายหลักนิติธรรมและนิติรัฐ แต่แรงสั่นสะเทือนอันเกิดมาจากกระบวนการบิดเบือนความจริงย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นแรงที่ผู้คนในสังคมจำนวนมากรับรู้ได้
การถากถางเส้นทางเพื่อนำทักษิณกลับประเทศไทยในครั้งนี้เป็นการทำให้สังคมไทยเห็นภาพความจริงทางการเมืองชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง เห็นถึงกลไกการสร้างเหตุผลเสมือนจริง เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของสถาบันทางวิชาการเทียม และรัฐสภาเทียมที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนแต่มีพฤติกรรมและการระทำที่แสดงถึงการเป็นรัฐสภาที่รับใช้อาชญากรหนีคุกผู้เป็นเจ้านายตนเอง
การเพิ่มความเข้มข้นแก่รัฐสภาในการรับใช้ทักษิณและทุนนิยมสามานย์ การปรับเปลี่ยนความเป็นจริงในอดีตจากการภาวะที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ทุจริตคอรัปชั่นและเป็นนักโทษ ให้กลายเป็นทักษิณที่บริสุทธิ์ ทำถูกกฎหมาย ไม่เคยทุจริต มีคุณธรรมสูงส่ง และจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเป็นจริงของสังคมที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าฝ่ายทักษิณจะสร้างเหตุผลเสมือนจริง ใช้สถาบันวิชาการเทียม และการวิจัยเทียมขึ้นมาเป็นเครื่องป้องกันไว้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดตามมาได้
สึนามิทางการเมืองกำลังก่อตัวและจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน ใครจะถูกคลื่นยักษ์นี้กวาดตกเวทีประวัติศาสตร์บ้าง คำตอบกำลังเผยตัวออกมา