ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สัปดาห์ที่ผ่านนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาผลการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน เป็นประธานนั้นได้เดินหน้าไปอีกขั้นหนึ่งที่สามารถนำเสนอเข้าพิจารณาที่ประชุมรัฐสภาได้สำเร็จ
แต่บรรยากาศที่เราเห็นในที่สุดในรอบสัปดาห์นี้เรากลับเห็นกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทยออกมาสนับสนุน ปกป้อง และปรบมือเป็นระยะๆให้กับ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน
ก็ยิ่งทำให้เกิดความสงสัยว่าแม้แต่ในคณะกรรมาธิการและรัฐสภายังสร้างความปรองดองด้วยกันเองไม่ได้ แล้วจะไปสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นนอกรัฐสภาได้อย่างไร?
ในที่สุดก็จบลงด้วยว่าเสียงรัฐบาลจะต้องชนะตลอดกาลในสภา(เหมือนเดิม) โดยที่ไม่มีใครสามารถทัดทานได้ โดยที่ไม่มีใครสนใจผลการศึกษาวิจัยว่ามีความผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวอย่างไร แต่นักการเมืองก็ยังยกมือสนับสนุนต่อไปได้อย่างไร้ยางอาย?
และนี่คือเหตุผลว่าทำไม่จึงไม่เคยมีตัวแทนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าไปร่วมในกรรมาธิการปรองดองฯ หรือ คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เพราะเล็งเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่ายิ่งเข้าไปในขบวนการดังกล่าวยิ่งไปเสริมความชอบธรรมในเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์มากยิ่งขึ้น สู้รออยู่บนภูรอเวลาเดินสู่บนท้องถนนยังจะมีอำนาจต่อรองและแรงกดดันมากกว่า
ในที่สุดกรรมาธิการสายพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องลาออกจากกรรมาธิการ และฉีกรายงานของสถาบันพระปกเกล้า แต่ก็ไม่มีประโยชน์อันใดทั้งสิ้น เพราะระบบเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบนี้ ฝ่ายรัฐบาลจะต้องชนะในทุกวาระร่ำไป
ต่อให้ประชาธิปัตย์พูดเก่ง สมาชิกวุฒิสภาอภิปรายได้ยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้ก็จะจบลงแบบเดิมทุกครั้งไป คือเมื่อยกมือรัฐบาลก็จะชนะทุกยกทุกวาระ
นี่คือเหตุผลสำคัญที่ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าระบบเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และตอกย้ำให้เห็นว่ากลไกการ “ถ่วงดุล”ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงในระบบที่เป็นอยู่แบบนี้
และนี่คือเหตุผลที่ทำไมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงรณรงค์ให้ประชาชนกากบาทลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพราะเล็งเห็นตั้งแต่ตอนต้นและประกาศตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่าหากลงคะแนนเลือกตั้งไม่ว่าจะลงให้พรรคการเมืองไหนรวมกันก็จะพ่ายแพ้ให้กับพรรคเพื่อไทยซึ่งเชี่ยวชาญในระบบเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์
นักธุรกิจบางคนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด ได้วิเคราะห์ถึงเหตุผลการปล่อยประกันตัวให้กับแกนนำคนเสื้อแดงและผู้ต้องหาในคดีก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองเมื่อต้นปี 2554 โดยมติคณะรัฐมนตรีและเงินที่นำมาจากกองทุนของกระทรวงยุติธรรมนั้นว่า:
เป็นการปล่อยตัวเพื่อสร้างบรรยากาศความน่ากลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การณรงค์หาเสียงในทำนองว่า “ถ้าไม่เลือกประชาธิปัตย์ เดี๋ยวคนเผาบ้านเผาเมืองจะกลับมาปกครองประเทศ”
นี่คือการรณรงค์การโฆษณาที่อำมหิตโหดเหี้ยมอยู่ไม่น้อย ถือเป็นการตลาดให้ซื้อสินค้าตัวเองเพราะสินค้าคนอื่นเป็นพิษมากกว่าตัวเอง จนถึงขั้นปล่อยให้สินค้าอื่นเอาออกมาขายเพื่อให้สินค้าตัวเองดูดีขึ้นโดยไม่ต้องพัฒนาคุณภาพและโกงผู้ซื้อต่อไป ใช่หรือไม่?
แต่ในที่สุดการทำเช่นนี้ทำให้เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อยว่าจำใจต้องเลือกประชาธิปัตย์เพราะหลงเชื่อว่าจะสามารถทัดทานกระแสอันเชี่ยวกรากของพรรคเพื่อไทยได้ พรรคประชาธิปัตย์+พรรคภูมิใจไทยได้ จะยุบสภาและชนะพรรคเพื่อไทยได้นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย และจะเป็นไปไม่ได้อีกยาวหากยังอยู่แบบนี้
เพราะพรรคประชาธิปัตย์เองทำอะไรครึ่งๆกลางๆ และแคร์ภาพลักษณ์มากกว่าเพื่อไทย จะทำประชานิยมก็ไม่กล้าและใจไม่ถึงเพราะอายมากกว่า แต่ในความจริงเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ปล่อยให้มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โกงบ้าน กินเมือง ไม่แพ้รัฐบาลชุดไหน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนได้เช่นกัน
ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จำนวนไม่น้อยไม่ได้ชื่นชอบผลงานและการกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เลือกเพราะ...
“กลัวพรรคเพื่อไทยและกลัวคนเผาบ้านเผาเมืองจะเข้ามาบริหารประเทศ” ประการหนึ่ง และ “หลงเชื่อประชาธิปัตย์ว่าถ้าเลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะทำให้ชนะการเลือกตั้งขัดขวางพรรคเพื่อไทยได้” เป็นอีกประการหนึ่ง จริงหรือไม่?
ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่ได้คะแนนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด แต่ผลการสำรวจคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554-กลางเดือนมกราคม 2555 มีสัดส่วนร้อยละ 14.2 (วิเคราะห์โดยอนุมานได้ว่าคะแนนบัญชีรายชื่อของประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 11.4 ล้านเสียงนั้น มีฐานเสียงที่ตั้งใจเลือกประชาธิปัตย์ด้วยความชื่นชอบจริงๆอยู่ประมาณ 6.6 ล้านเสียง) ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีคะแนนไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับคะแนนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย
ถ้าใครจำได้ ในเหตุการณ์ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องเคลื่อนย้ายไปชุมนุมที่หน้าอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนั้นก่อนที่พันธมิตรฯจะเคลื่อนไปชุมนุมสนามบินนั้นมีระเบิด M-79 ลงใส่ฆ่าพี่น้องประชาชนผู้ชุมนุมเป็นแรงกดดันรายวันที่ทำเนียบรัฐบาล แต่นายอภิสิทธิ์กลับเพิกเฉยไม่เสนอทางออกแนะนำอะไร นอกจากตำหนิการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเพื่อให้ตัวเองดูดีเท่านั้น อีกทั้งดำเนินคดีอาญาข้อหาก่อการร้ายให้กับแกนนำพันธมิตรฯและผู้ชุมนุมผู้บริสุทธิ์อีกมากต่อมาด้วย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประชาธิปัตย์อยากได้ผลลัพธ์จากการชุมนุมอย่างเดียวเท่านั้น ใช่หรือไม่?
25 ธันวาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวปราศรัยว่า:
“พรรคประชาธิปัตย์จะไม่จัดมวลชนออกมาคัดค้านหรือขับไล่รัฐบาลเหมือนที่พรรคประชาธิปัตย์เคยถูกกระทำในตอนที่ผมมารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีในระยะแรก อะไรที่ดีก็จะให้การสนับสนุน และตรวจสอบเรื่องที่มีปัญหา พรรคจะต่อสู้ในแนวทางของระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักการทำงานของระบบรัฐสภาเพราะผมไม่ต้องการเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเมืองอีก”
แต่ประชาธิปัตย์ในวันนี้ทำตัวกระมิดกระเมี้ยน จัดตั้งกลุ่มมวลชนของตัวเองขึ้นมาก็ไม่กล้าประกาศว่าเป็นมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ แถมยังมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมโดยทุนของพรรคประชาธิปัตย์โจมตีพรรคเพื่อไทยอย่างสุดโต่งด้านเดียวประมาณ 3 สถานี เพียงเพื่อโค่นล้มอำนาจฝ่ายตรงกันข้าม และพวกตัวเองจะได้เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์แทนฝ่ายตรงกันข้าม โดยไม่กล้าเปิดเผยว่าเป็นทีวีของพรรคประชาธิปัตย์ จริงหรือไม่?
คำถามมีอยู่ว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ยังไม่พออีกหรือว่าระบบเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งในวันนี้ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้ มีมติและวาระไหนบ้างที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านสามารถขัดขวางรัฐบาลได้? หรือถ้าคิดว่าแก้ไขได้ก็ลองทำให้ดูเสียหน่อยว่าระบบรัฐสภาในระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งว่าจะหยุดยั้งการทำชั่วของฝ่ายการเมืองได้อย่างไร?
และต่อให้เลือกตั้งอีกพรรคประชาธิปัตย์ก็จะแพ้พรรคเพื่อไทยอีกยาวในระบบที่เป็นอยู่แบบนี้ แต่แพ้หรือชนะก็คงไม่สำคัญเท่ากับประเทศจะวอดวาบฉิบหายไปอีกนานเท่าไหร่?
แต่หวังว่าประชาธิปัตย์วันนี้จะไม่ได้เล่น “บทอำมหิต” เหมือนในอดีตคือ “ชาติฉิบหายอย่างไรไม่สำคัญ ถ้าคิดว่าทนความฉิบหายไม่ได้ให้หันกลับมาเลือกประชาธิปัตย์” เข้าทำนอง “ถ้าทนไม่ไหวกับความจัญไร ให้หันกลับมาเลือกอัปรีย์อีกครั้ง” ทัศนคติเช่นนี้คือความใจแคบ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว และไม่ได้เอาประเทศชาติเป็นตัวตั้ง และในความเป็นจริงก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยในการเลือกตั้งอีกหลายสมัยนับจากนี้ที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นรัฐบาลในโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นแบบนี้
แต่หากพรรคประชาธิปัตย์คิดว่ารัฐสภาในระบอบเผด็จการที่มาจากนักเลือกตั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ ยอมรับว่ารัฐสภาในระบบแบบนี้แก้ไขปัญหาประเทศไม่ได้ และประกาศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับประชาชนเสนอการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองใหม่ ยอมที่จะสูญเสียและเสียสละฐานอำนาจของกลุ่มการเมืองเดิมๆ ประกาศจุดยืนที่จะขจัดระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งโดยทุนสามานย์ เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้
มิเช่นนั้นประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็น “ฝ่ายล้าหลัง”ที่ตามไม่ทันพรรคเพื่อไทยที่เชี่ยวชาญประชานิยมในระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า และตามไม่ทันภาคประชาชนที่เรียกร้องชูธงการปฏิรูปการเมืองด้วยเช่นกัน