xs
xsm
sm
md
lg

"วัชระ"ชี้ไร้ค่าแค่ "อึ" ประชาชน-ฉีกร่างปรองดอง-เสธ.หนั่นโยนส.พระปกเกล้าทำขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาเดือด! "วัชระ เพชรทอง" ฉีกรายงานปรองดองของกมธ. กลางที่ประชุม เปรียบเป็นอุจจาระสำหรับประชาชน "เสธ.หนั่น" คาดโทษ "ส.พระปกเกล้า" ต้องรับผิดชอบหากเกิดความขัดแย้งรุนแรง วอน"บิ๊กบัง" ถอนรายงานจากสภาฯ เตือนรัฐบาลอย่าประมาท ความรุนแรงรอบใหม่หนักกว่าเดิม "บวรศักดิ์" โวยสังคมเลือกเสพรายงานวิจัย จนเกิด "สงครามปรองดอง" ด้านปชป. เตรียมยื่นศาลรธน.ตีความรายงานเถื่อน ก่อนจะถูกรัฐบาลนำไปออกพ.ร.ก.นิรโทษฯ "ยิ่งลักษณ์" ยันเพื่อไทยไม่ใช้เสียงข้างมากลากปรองดอง ด้าน"แม่น้องเกด" ค้านออกกม.นิรโทษฯ จนกว่าจะนำคนผิดมารับโทษตามกฎหมาย

วานนี้ (28 มี.ค.) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง ความวุ่นวายระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น ควรต้องประนีประนอมกัน ซึ่งหากยังไม่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ อาจจะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศได้

ดังนั้น คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อเห็นสังคมเกิดความขัดแย้ง น่าจะถอนรายงานออกไป ซึ่งการที่ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาระบุว่า เรื่องของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกินความรับผิดชอบของสถาบันฯ ไปแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดนั้น ตนคิดว่า ถือเป็นการท้าทายประชาชน นักวิชาการไม่ควรทำแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้ประธาน กมธ.ปรองดอง ได้ถอนรายงานผลสรุปการศึกษาออกไป เนื่องจากเป็นห่วงที่จะมีการนำเข้าสู่สภาในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ซึ่งคงต้องหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย ทั้งพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (ร.5) เพื่อขอให้ พล.อ.สนธิ กลับใจเสียที เพราะประชุมไปก็ไร้ประโยชน์

" ผมไม่เชื่อว่า แนวทางผลสรุปของ กมธ. จะนำไปสู่ความปรองดองได้จริง และรัฐบาลควรที่จะได้ร่วมเข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะถ้าหากยังดื้อดึงอยู่ต่อไป อาจเกิดวิกฤติขึ้นได้ และยิ่งมีกระแสข่าวว่า มีความพยายามหาทางออกเป็น พ.ร.ก.ปรองดอง ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง กลัวจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้เลย เพราะเชื่อว่าคนไทยยังรู้จักให้อภัยกัน ถ้าไปใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเข้ามา ก็คงไม่มีความสุข มีแต่อันตราย " พล.ต.สนั่น กล่าว

** ดันทุรังเดินหน้ามีเหตุรุนแรงแน่

เมื่อถามว่า ทางสถาบันพระปกเกล้า ที่เคยระบุว่า ความยุติธรรมต้องไม่ใช่มาจากผู้ชนะ ซึ่งถ้ามีการผลักดัน ให้เป็นไปตามแนวทางเลือกจริง จะเป็นอย่างไร พล.ต.สนั่น กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าถือเป็นสถาบันชั้นสูง ต้องทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่พูดไปแล้วถอนไม่ได้ และบอกไม่รับผิดชอบ เช่นนี้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ตนโทษไปที่สถาบันพระปกเกล้าแน่ เพราะ 3 ข้อที่เสนอมานั้น ล้วนรับไม่ได้ทั้งสิ้น ทั้งที่ผลวิจัยยังไม่สมบูรณ์ ก็น่าเอากลับไปทบทวนใหม่

" รัฐบาลอย่าประมาท ขอให้ยับยั้งเรื่องการผลักดันเข้าสู่สภาฯ ก่อนดีกว่า เพราะที่ผ่านมาการบริหารประเทศ ตลอด 8 เดือน ก็กำลังไปได้ดี อย่าให้เหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นเลย เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงกว่าปี 2553 แน้นอน ถึงเวลานั้นประเทศชาติคงล้มละลาย ส่วนเหตุการณ์รัฐประหาร จะซ้ำรอยหรือไม่ คิดว่าประวัติศาสตร์บอกมาทุกครั้งอยู่แล้ว " พล.ต.สนั่น กล่าว

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้องมีการเร่งรัดดำเนินการในเรื่องการเสนอรายงานการปรองดองเข้าสู่สภา พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ก็คงเพราะอยากกลับบ้าน ซึ่งตนคิดว่าปัญหาเรื่องเหล่านี้ อยู่ที่คนสองคน ถ้าทั้งสองสามารถทำความเข้าใจกันได้ ประเทศคงเห็นทางออกไปสู่ความสงบ

*** ฉีกร่างปรองดองเถื่อนกลางสภพ

วานนี้ (28 มี.ค) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนฯเ ป็นประธานประชุม ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หยิบรายงานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานดังกล่าวในสมัยสามัญนิติบัญญัติมาแสดงก่อนจะทำการฉีกรายงานดังกล่าวในส่วนแผ่นด้านหน้า 2-3 แผ่น พร้อมกล่าวโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรงโดยระบุรายงานฉบับดังกล่าวเปรียบเสมือนอุจจาระสำหรับประชาชนและเป็นรายงานเถื่อน ทำให้นายสมศักดิ์สั่งถอนคำพูดทันที ซึ่งนายวัชระยอมถอนแต่โดยดี

** ส.พระปกเกล้าแจงงานวิจัย

สำหรับการประชุม คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มี นางรัชฏาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน กมธ. โดยมีวาระการพิจารณาศึกษารายงานวิจัยเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้เชิญเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มาร่วมชี้แจง แต่ทางสถาบันฯ ได้ส่งตัวแทนเป็น คณะผู้วิจัย นำโดย นายนิยม รัฐอมฤต รองหัวหน้าคณะวิจัย เข้าชี้แจงแทน

ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุม สถาบันพระปกเกล้า ถูกตั้งคำถามถึงข้อสงสัยวิธีการทำงาน และ ข้อเสนอแนวทางเลือกของคณะการวิจัย โดย นายนิยม กล่าวว่า ในประเด็นคำถามที่ว่าจะให้มีการโละคดี คตส.นั้น เพราะเห็นว่าในเมื่อเราจะสร้างความปรองดอง แม้ว่า คตส. จะถูกตั้งขึ้นอย่างถูกต้อง ตามผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น แต่ก็ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถ้าจะสร้างความปรองดอง ต้องมองถึงความชอบธรรมด้วย ซึ่งเราสามารถใช้กระบวนการ ตามปกติของกฎหมายในการพิจารณาคดีได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องวิธีการทำงาน โดยเฉพาะที่ตั้งคำถามถึงการเรียบเรียงน้ำหนักของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำไมสถาบันพระปกเกล้า กลับไม่ลงรายละเอียดในเหตุการณ์อื่นๆ ด้วย เนื่องจากเรายึดเหตุการณ์ความขัดแย้งหลักๆ โดยแบ่งออกเป็นช่วงเวลาซึ่งยอมรับว่าไม่เน้นลงรายละเอียดทุกคดีมากขนาดนั้น

ส่วนเรื่องการสอบถามความเห็นของ 47 ผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างที่กล่าว เราพยายามทำให้ครอบคลุมทุกฝ่าย แบ่งเป็น 8 ประเภท คือ นักการเมือง พธม. นปช. นักวิชาการ สื่อมวลชน กมธ.ปรองดอง นักการเมืองอาวุโส และอดีตนายกฯ ซึ่งแต่เดิมตั้งใจว่า นอกจากมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ยังได้เชิญ นายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ปรากฏว่า นายชวนไม่ตอบรับแสดงความคิดเห็น เช่นนี้จะหาว่าไม่เป็นกลางได้อย่างไร

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงานของคณะผู้วิจัย ไม่มีการตั้งธงการศึกษาไว้แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการหาทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

** "บวรศักดิ์"ซัดคนโวยไม่ได้อ่านงานวิจัย

วานนี้ (28 มี.ค.) ที่ห้องวรรณไวทยากร ตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนาเรื่อง “เสรีภาพในสังคมไทย” ถึงการนำเสนอรายงานวิจัยปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า ว่า เสรีภาพทางวิชาการ หรือเสรีภาพของนักวิชาการ หรือสิ่งที่นักวิชาการพูด หรือไม่ เพราะอีกด้านหนึ่งคือ การเลือกเสพผลงานวิชาการของสังคมไทย และของสื่อมวลชนไทย

ยกตัวอย่าง การนำเสนอรายงานวิจัยปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า หากดูในมิติการเลือกเสพเพียงอย่างเดียว จะพบว่า คนที่จะอ่านรายงานทั้งฉบับ หรือรายงานฉบับย่อ ที่ยาวไม่เกิน 10 หน้า คงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ทุกคนกลับมีจุดยืนที่ตั้งกันไว้ล่วงหน้าแล้ว

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า รายงานดังกล่าว ยังได้เสนอให้มีการสร้างบรรยากาศปรองดองภายในหมู่นักการเมือง และในประเทศ โดยให้นำประเด็นต่างๆไปพูดคุย หาข้อยุติกันว่า หากมีการให้อภัยกัน จะออกมาเป็นการนิรโทษกรรม หรืออย่างไร ความจริงในอดีตจะเปิดเผยได้มากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้จาก 47 ผู้ทรงคุณวุฒิ มีเพียง 1 คน เท่านั้นที่ต้องการให้เปิดเผยชื่อ ทุกคนทุกเหตุการณ์ แต่นอกนั้น บอกว่า ต้องให้ลืมอดีต

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้วิจัยก็มีแนวทางชัดเจนว่า ไม่สามารถลืมอดีตได้ทั้งหมด เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเปิดเผยอย่างมีขั้นตอน และจังหวะที่เหมาะสม

**วอนรัฐบาลทบทวนเหตุการณ์ 27 มี.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบรรยากาศ การประชุม เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า หากเป็นเช่นนี้ คงไม่ดี เป็นตัวที่บ่งบอกว่า รัฐบาลพยายามที่จะผลักดันสิ่งที่เรียกว่าปรองดอง แต่ความจริงคือ การมุ่งล้างผิดให้คนโกง ก็จะมีแต่ความขัดแย้ง และถ้าอยากทำความปรองดอง ก็ต้องเคารพเจตนารมณ์ของทุกคน โดยมีการหยิบเอาเรื่องราวต่างๆ มาพูดคุยให้เกิดบรรยากาศการยอมรับที่เป็นจุดร่วม แต่ถ้าพยายามทำ และมีความเคลือบแคลงเรื่องความถูกต้องตลอดเวลา การปรองดองก็จะเดินยาก

" ขอให้รัฐบาลทบทวนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มี.ค. เป็นการปรองดองหรือไม่ จะกลับไปทบทวนเพื่อแก้ไขอย่างไร ให้ถูกต้อง คิดว่าสังคมต้องการให้ฝ่ายการเมือง ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มากกว่าที่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา ในภาวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนคณะผู้วิจัย และสถาบันพระปกเกล้า จะต้องมีการพิจารณาในเรื่องนี้ ต่อไป"

** ยื่นศาลรธน.ตีความ"รายงานเถื่อน"

นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ปรองดองกล่าวว่า ตนยืนยันว่า ผลสรุปขอกมธ.ปรองดอง เป็นรายงานเถื่อน และเชื่อว่าจะมีการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ และใช้เสียงข้างมาก ปูทางในการออก พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะในรายงานมีการอ้างเรื่องความมั่นคง ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริง พรรคประชาธิปัตย์ จำเป็นต้อง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความไม่ชอบในการออกกฎหมาย ที่เอาขอสรุปที่เป็นรายงานเถื่อน มาพิจารณา

**จับตารัฐบาลออกพ.ร.ก.นิรโทษ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กล่าวว่า แนวทางนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้กำหนด เพราะคิดถึงบ้านเกิดมาก และไม่ต้องเดินตามแนวทางของ นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดง เพราะมันจะไม่เท่ และต้องรับโทษ แต่หากออกพ.ร.ก. กลับมาโดยไม่รับโทษ ถึงจะเท่ ซึ่งหากรัฐบาลมีการออกพ.ร.ก.ซึ่งมีผลทันทีจริง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถกลับมาเมืองไทยได้ แม้จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรธน.ตีความ ก็ตาม แต่เมื่อศาลรธน.กำลังจะตัดสิน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะบินออกไปต่างประเทศ เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรธน. และหากพบว่าไม่ขัดรธน. พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะเดินทางกลับมาประเทศไทย แต่หากขัดรธน. ก็จะไม่กลับ

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะเลือกใช้แนวทางออกพ.ร.ก. และผลที่ตามมา บ้านเมืองจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาล และพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรับผิดชอบ

"พ.ต.ท.ทักษิณ อาจอาศัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในการทำเรื่องนี้ เพราะฝ่ายค้าน และประชาชน อาจจะตั้งตัวไม่ทัน ที่จะมาคัดค้าน และผมก็เชื่อว่าคุณทักษิณ ก็สามารถทำตามแผนนี้ได้ " นายนิพิฎฐ์ กล่าว

นายนิพฏฐ์ กล่าวด้วยว่า การเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม นอกจากจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและ อาจจะทำให้ระคายเบื้องสูง เพราะรัฐบาลต้องมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเรื่องที่ประชาชนเกิดความขัดแย้ง รวมทั้งแม้แต่นายกฯ พยายามปัดความรับผิดชอบ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะการออกพ.ร.ก. เป็นหน้าที่ของรัฐบาล นอกจากนี้อาจะสุ่มเสี่ยงให้ พ.ร.ก. เป็นเรื่องของการขัดผลประโยชน์ เพราเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายกฯ และยังเป็นการช่วยเหลือนักการเมืองคนเสื้อแดง ที่อยู่ในรัฐสภาด้วย

** "บิ๊กบัง"ไม่ตอบเรื่องพ.ร.ก.นิรโทษ

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกมธ.ปรองดอง กล่าวถึงช่วงที่โดน ส.ส.รุมล้อมในสภา ว่า ตอนนั้นกำลังก้มหน้าทำดุษฎีนิพนธ์อยู่ พอเงยหน้าขึ้นมา ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แต่ไม่ตื่นเต้น เข้าใจในวัฒนธรรมทางการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นจะได้นำไปบันทึกไว้ ทุกสิ่งที่ทำไป เป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีท้อ สิ่งที่ทำไม่ได้เข้าข้างใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้ จะมีการประชุมสภาฯ เพื่อหารือแนวทางปรองดองอีกครั้ง ในวันที่ 4 เม.ย. ซึ่ง กมธ.ที่มีอยู่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่หน้าที่ตนคนเดียว แต่การหารือจะออกมาเป็นอย่างไร อยากให้ไปรอฟังวันที่ 4เม.ย. ดีกว่า

เมื่อถามว่า เอกสารสรุปที่ออกมา ยังมีส่วนใดต้องปรับแก้อีกหรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ตัวร่างเป็นข้อสรุปจากสถาบันพระปกเกล้า เราจะไปเอาตามนั้น 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้

ส่วนที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานกมธ.ปรองดอง ที่ออกมาเป็น รายงานเถื่อน พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ต้องไปอ่านรายงานพระปกเกล้าให้ชัดเจน อย่าไปฟังเพียงเขาเล่าว่า

เมื่อถามว่า เมื่อ 5 ปีก่อน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด วันนี้เข้าสู่วงการการเมือง แล้วเจออย่างนี้รู้สึกอย่างไร พล.อ.สนธิ ตอบว่า การเมืองกับการทหาร มันคนละเรื่องกัน แต่ตนไม่มีปัญหาอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นสังคมจะได้บันทึกไว้ ว่ามันมีอย่างนี้อยู่

** "แม่น้องเกด"ค้าน ดันพ.ร.บ.นิรโทษ

เมื่อเวลา 11.20 น.วานนี้ ที่รัฐสภา นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือ น้องเกด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม พร้อมกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 53 ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการนำพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ โดยมี นายพินิจ จันทรสมบูรณ์ ผู้ช่วยประธานสภาฯ รับหนังสือแทน

ทั้งนี้ นางพะเยาว์ กล่าวว่า กลุ่มพวกตนเห็นด้วยกับการนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาเป็นตัวตัดสินปัญหา เพราะตั้งแต่ปี 2549-2553 ได้เกิดเหตุการณ์ในประเทศมากมาย โดยมาจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงเห็นว่า ควรที่จะต้องหาคนมารับผิดชอบกับการเสียชีวิตของประชาชน และการจะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ผู้ได้ประโยชน์คือ ฝ่ายการเมืองและกองทัพ จึงขอคัดค้านไม่ให้นำพ.ร.บ.นี้เข้าสู่สภาฯ จนกว่าความจริงจะปรากฏ ว่าใครเป็นคนฆ่า และใครเป็นคนสั่งฆ่าประชาชน ถ้าได้ความจริง และนำคนผิดมารับโทษตามกฎหมายแล้ว จะเอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯ ก็คงไม่สายไป

** อัดปชป.โหยหาอำนาจจากฏิวัติ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รุมล้อมกรอบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่า พล.อ.สนธิ ท่านเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ระยะเวลาผ่านมา 4 ปีเศษๆ ท่านก็คิดว่าการปฏิวัติไม่ถูกต้อง และการตั้ง คตส.ไม่น่าจะชอบธรรม เพราะเอาคนที่เป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นคณะกรรมการสอบ ท่านก็คิดจะหาทางเยียวยา เพื่อนำไปสู่การปรองดอง เพราะการปฏิวัติ ก่อให้เกิดผลกระทบ อำนาจปฏิวัติ เป็นอำนาจที่ไม่ชอบ เป็นอำนาจที่ไม่ถูกต้อง

**นิรโทษต้องออกเป็นพ.ร.บ.

เมื่อถามว่า สถานการณ์เหล่านี้ จะนำไปสู่การออก พ.ร.ก.ปรองดอง ได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่สำเร็จหรอก อะไรที่เป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็รับ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ เขาก็ไม่เอา การที่จะทำความปรองดองได้ ถ้าแค่ความเห็นของคณะกรรมาธิการ มันไม่ได้ เป็นนามธรรม ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ถึงจะเป็นรูปธรรม

** เย้ย"เหลิมเมารัก" ปรี่เข้าหา"รังสิมา"

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีร.ต.อ.เฉลิม โจมตีว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปล้อมกรอบพล.อ.สนธิ ในที่ประชุมรัฐสภา เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดของสมาชิกพรรค แต่เป็นเพราะประธานสภา ไม่สามารถควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับได้ และยังมีท่าทีไม่ให้เกียรติต่อผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยการปิดไมค์ และตัดบทไม่ให้พูด ซึ่งไม่เคยมีปฏิบัติในสภามาก่อน รวมถึงตัว พล.อ.สนธิ เองก็นั่งนิ่ง ไม่ตอบคำถาม และข้อสงสัยของสมาชิก จึงทำให้สถานการณ์ ตึงเครียดและมีความกดดันมากขึ้น ยืนยันว่า สมาชิกพรรคไม่ได้มีท่าทีคุกคาม พล.อ.สนธิ แต่อย่างใด

" แต่ที่น่าแปลกใจคือ พล.อ.สนธิ ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ แต่กลับมีคนในพรรคเพื่อไทยเรียงหน้าออกมาปกป้อง โดยเฉพาะส.ส.แกนนำเสื้อแดง ที่เคยเป็นไม้เบื่อ ไม้เมา กับคมช.ในอดีต เคยโจมตีใส่ร้ายตลอดการชุมนุมเคลื่อนไหว แต่พอ พล.อ.สนธิ พลิกลิ้น ยอมเปลืองตัวมาเป็นประธานกมธ.ปรองดอง คนเหล่านี้ก็เข้ามายกย่องเชิดชู คุ้มครองให้มาเป็นพวกของตนเอง แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้คนเหล่านี้ว่า ไม่มีอุดมการณ์ แต่เอาผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อตัวเองเป็นที่ตั้ง" นายเทพไท กล่าว

ดังนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ควรอวดอ้างเอาสถานะความเป็นชายชาติทหาร การเป็นนักรบของพล.อ.สนธิ มาดูถูกดูแคลนเราว่า เป็นแค่ปลาซิว ปลาสร้อย หรือนกกระจิบ นกกระจอก ไปล้อมกรอบพล.อ.สนธิ ซึ่งความเป็นจริงสมาชิกปชป.เพียงเข้าไปทวงถามคำตอบจาก พล.อ.สนธิเท่านั้น ถ้าร.ต.อ.เฉลิม คิดว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการคุมคาม พล.อ.สนธิ ก็อยากถามว่า ในคืนวันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่ในอาการเมารัก แล้วเดินปรี่เข้าไปหา น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ปชป. ซึ่งเป็นลูกผู้หญิงแท้ๆ เป็นการคุกคามหรือไม่ และพฤติกรรมอย่างไหนจะน่าเกลียดกว่ากัน ก่อนที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะกล่าวหาคนอื่น ให้กลับไปย้อนดูพฤติกรรมตัวเองเสียก่อน ไม่อยากใช้คำพังเพยที่ว่า ตักน้ำใส่กระโหลก ชะโงกดูเงา ตัวเองเสียก่อน

** "ปู"ติงปชป.ให้เคารพเสียงส่วนใหญ่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความวุ่นวายในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อขอมติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานการสร้างความปรองดองของกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ควรได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกติกาของเสียงส่วนใหญ่เราต้องเคารพ แต่แน่นอนต้องให้เกียรติเสียงส่วนน้อยด้วย ยืนยันว่าสภาฯ เป็นศูนย์รวมเป็นสถานที่ๆดีที่สุด ที่จะมาหารือกัน และได้ใช้กลไกของงระบอบประชา ธิปไตย ในการหาทางออกของประเทศในเรื่องของความปรองดอง เพราะการมีทั้งเสียงที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถือเป็นครรลองของประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น แต่การหาทางออกของประเทศ คงต้องมีหลายขั้นตอนที่ต้องทำกัน ไม่ใช่แค่ว่าวันนี้ก็จะจบแล้ว จากนี้ก็ต้องมีรายละเอียดว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านกังวลว่า จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม จะชี้แจงอย่างไรไม่ให้เกิดความเคลือบแคลง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับข้อสงสัยนี้ จะเห็นว่าเป็นการพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกันของ 2 สภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส.และ ส.ว. หลายท่านอาจจะบอกว่า ทางพรรคเพื่อไทยมีเสียงส่วนใหญ่ แต่จริงๆแล้ว ถ้าดูเสียงที่ออกมา จะเห็นว่ามีเสียงของส.ว.ประกอบกันด้วย ซึ่งทุกคนที่อยู่ในสภาก็เป็นตัวแทนของประชาชนจากทั่วประเทศจริงๆ ซึ่งส.ว.ก็มีทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ เชื่อว่าตรงนี้เป็นกลไก ที่จะมีการรวมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เราก็น่าใช้เวทีนี้ร่วมกันถกทางออกของประเทศ แก้ปัญหาปรองดอง แต่สิ่งสำคัญ ต้องเคารพในกติกาซึ่งกันและกัน

เมื่อถามต่อว่า ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า หลังผ่านความเห็นจากสภา รัฐบาลก็จะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของสภาฯ ตนเป็นเพียง 1 เสียงในสภาฯเท่านั้น แต่ที่สำคัญเชื่อว่าสมาชิกสภาฯทั้ง ส.ส.และส.ว. สุดท้ายแล้วจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่

เมื่อถามว่า นายกฯคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า " อีกนานค่ะ "

**ออกพ.ร.ก.ปรองดองยิ่งขัดแย้งหนัก

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวถึงการนำผลการศึกษาของกรรมาธิการเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าประธานสภาจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์หน้า ประมาณวันที่ 4 เม.ย. ต่อเนื่องถึงวันที่ 5 เม.ย. และเชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรง เหมือนการพิจาณาของรัฐสภา ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการผลักดันให้ออกพ.ร.ก.ปรองดองนั้น ตนคิดว่าฝ่ายบริหาร คงไม่มีแนวคิดที่จะทำเช่นนั้น เพราะจะเป็นการทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ขอยืนยันว่า การดำเนินการของกมธ.ไม่ได้ต้องการให้เกิดผล กับการนิรโทษกรรม ฝ่ายบริหารคงไม่คิดจะทำเช่นนั้น เพราะขนาดที่จะออกเป็น พ.ร.บ. ยังต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

** อยากปรองดองต้องลดความเห็นต่าง

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา กล่าวถึง เหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า พล.อ.สนธิ ก็ทำหน้าที่ ในฐานะประธาน กมธ. ซึ่งทุกคนก็ทำหน้าที่สมาชิก การที่มีการเข้าสอบถาม และพล.อ.สนธิ ก็ได้อธิบายไปแล้ว ส่วนการตอบคำถาม จะสามารถทำให้ทุกคนเข้าใจแนวทางของการปรองดองดีแค่ไหนนั้น ก็แล้วแต่คนฟัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง ส.ว.อยากที่จะเสนออะไรไปยังรัฐบาล และฝ่ายค้าน บ้างหรือไม่ พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า ยังไม่ทราบเหมือนกัน แต่ในรายละเอียด ที่ผ่านมาทางส.ว. เช่น นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.สรรหา ก็เคยมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งแนวทางที่ศึกษานั้นก็ยังคงอยู่

ทั้งนี้ตนคิดว่า แนวคิดของแต่ละฝ่าย รวมไปถึงของสถาบันพระปกเกล้า ที่น่าจะเป็นประโยชน์ ก็น่าจะนำมาพิจารณาได้ ส่วนความเห็นของ ส.ว.แต่ละคน ก็มีความเป็นอิสระ ในส่วนที่ว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ประสงค์ที่จะลงมติเห็นชอบ และวอล์กเอาต์ เพื่อไม่รับรายงานนั้น จะมีผลต่อการปรองดองหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ก็ต้องดูเหตุผลว่าที่ท่านวอล์กเอาต์นั้น ด้วยเหตุผลออะไร เกี่ยวกันหรือไม่

เมื่อถามว่า เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนไม่ต้องการที่จะปรองดอง พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า คงไม่ใช่ อย่าไปคิดอย่างนั้น อย่างกรณีเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นเรื่องของญัตติ ที่ต้องการให้ปิดการอภิปราย หรือญัตติให้เลื่อนการประชุมขึ้นมาเร็วขึ้น ซึ่งตนมองว่า การปรองดองเป็นเรื่องที่เราจะต้องมองกัน ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นเราก็เดินไม่ได้

เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดหากมีการออก พ.ร.บ.ปรองดอง จะช่วยลดความขัดแย้งได้หรือไม่ พล.อ.ธีรเดช กล่าวว่า ทุกอย่างที่ทุกคนคิด และทำ ต้องไปสู่เป้าหมายของความปรองดอง การลดความเห็นที่แตกต่าง ส่วนจะเริ่มจากตรงไหนก่อนนั้น ตนไม่ทราบ แล้วแต่จะมอง แต่ควรเริ่มจากพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน

** ปรองดองต้องใช้เวลา

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดอง ซึ่งดูเหมือนจะยิ่งขัดแย้ง มากกว่าปรองดองว่า ถ้าทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และพูดจากันโดยมีจุดมุ่งหมายสิ่งเดียวกัน คือ เพื่อชาติ และอนาคตของประเทศ อะไรที่เป็นข้อขัดแย้งกันอยู่ อยากให้ค่อยๆ พูดกัน

"เรื่องความปรองดองเป็นเรื่องที่จะทำให้เสร็จภายในเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ ไม่ได้ ต้องใช้เวลาพอประมาณ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากความที่เราแตกแยกกันอยู่ มันเป็นบาดแผลที่ค่อนข้างลึก เพราะฉะนั้น การสมานแผล หรือการรักษาแผลให้หายเป็นปกติ หรือการรักษาความรู้สึกที่ดีนั้นมันต้องใช้เวลา และการจะใช้เวลานั้น ก็ต้องมีการพูดคุยเจรจากัน ค่อย ๆ ทำไป หนทางอะไรที่ดีที่มีใครเสนอมา ก็ต้องดูว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าเป็นประโยชน์ก็นำมาทำ เพราะมีความมุ่งหมายเดียวกันอยู่แล้ว และทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น เพียงแต่อาจจะต้องใช้ความพยายามหน่อย" พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วง พล.อ.สนธิ หรือไม่ ในฐานะที่เป็นรุ่นน้องในกองทัพ ที่โดนหนัก รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เป็นห่วงหรอก ตนเคยทำงานและอบรมร่วมกับ พล.อ.สนธิมา ก็เห็นว่าท่านเป็นคนที่มีความอดทน เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นแค่การกระทบทางความรู้สึก และทางใจมากกว่า เดี๋ยวก็ดึงกลับมาได้ ไม่เป็นอะไร

** ทหารปล่อยให้การเมืองว่ากันไปก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยในกองทัพหรือไม่ว่า ทหารเอาด้วยกับแนวคิดของพล.อ.สนธิ หรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ยัง ทหารยังไม่ได้พูดอะไร ยังเฉยๆ อยู่ ดูเรื่องของการเมืองไปก่อน ซึ่งเมื่อวานตนก็ยังได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หลังจากที่ ผบ.ทบ.ได้คุยกับสื่อ และฝ่ายการเมืองต่างๆ ผบ.ทบ. บอกว่าไม่ได้พูดอะไรมากในเรื่องของการเมือง ท่านดูในเรื่องของความมั่นคงต่อไป ก็ปล่อยให้ทางการเมืองว่ากันไป แต่อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ. ก็อยากเห็นความรัก ความปรองดอง ความก้าวหน้าของประเทศชาติ

เมื่อถามว่า มองหรือไม่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เพราะ พล.อ.สนธิ เคยเอาปืนไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกไป แต่ตอนนี้กลับมาทอดไมตรีให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าพล.อ.สนธิ จะคิดถึงขนาดนั้น แต่คิดว่าพล.อ.สนธิ คงจะคิดในภาพที่ว่า การอยู่ร่วมกันของความปรองดองของคนในชาติเสียก่อน ก่อนที่จะถึงขั้นนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตราบใดที่ต่างฝ่ายต่างจะค้นหาความจริง ความปรองดอง จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ตนถึงบอกว่า มันต้องพูดคุยกัน และต้องพูดกันนอกรอบด้วยว่า จะเอาอย่างไรกัน

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีคนประสานหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าตอนนี้เขามีคนประสานแล้ว น่าจะต้องมีคนประสานแน่นอน มันต้องมีตัวกลาง เพื่อนำความคิดทั้งขวาทั้งซ้าย มารวมกัน ส่วนจะเป็นใคร ตนไม่ทราบ

** "ประยุทธ์"ขอแค่ติดตามสถานการณ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกันต่อแนวทางการปรองดองว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่ทหารจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้เป็นเรื่องของกระบวนการตามรัฐธรรนูญ ที่แต่ละฝ่ายที่จะแก้กันไป ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ไปหาวิธีการอื่น ไม่ใช่ว่าทหาร จะนิ่งดูดาย หรือไม่สนใจ แต่เราติดตามสถานการณ์ทางการเมืองตามคำสั่ง รมว.กลาโหมอยู่แล้ว บทบาทของทหารขณะนี้ จะอยู่ในจุดที่ควรอยู่ คือ ทำหน้าที่ของทหารให้ดีที่สุดในการป้องกันชายแดน การแก้ปัญหาภาคใต้ และงานขุดลอกคูคลอง อย่าดึงเราไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า แนวทางการปรองดองขณะนี้ เพื่อการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ขอกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตนกล่าวเพียงว่า สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า ต้องไปหาทางเอา ใครมีผลได้ ผลเสีย ก็ไปแก้เป็นตัวบุคคล เป็นรายๆไป ทุกคนต้องมาช่วยกันเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะเป็นปัญหาของชาติ ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ดังนั้นทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมาพูดคุย และต้องใช้ระบบระเบียบแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐบาล ฝ่ายบริหาร กระบวนการยุติธรรรม

เมื่อถามว่า กองทัพมีท่าทีอย่างไร ต่อความพยามยามที่จะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า กฎหมายเขาว่า อย่างไร ไม่ใช่ว่า ทหารจะทำอะไรก็ได้ ในกฎหมาย มาตารา 77 เขียนไว้ว่า ทหารมีหน้าที่อย่างไร และยังมีกฎหมายปลีกย่อยอีกทั้งการเคลื่อนย้ายกำลัง การใช้อาวุธ ทุกครั้งที่ทหารจะทำอะไร ต้องทำตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่มีอยู่ การทำอะไรต่างๆ ถ้าไม่อยู่ในกฎหมาย เช่น การปฏิวัติ 19 ก.ย.49 ก็ไม่อยู่ในกฎหมาย ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นตนไม่รู้ เพราะไม่ใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติ ต้องไปถามท่านเอง

ดังนั้นวันนี้อย่าให้เกิดขึ้นอีก และอย่าไปคิดถึงมันดีกว่า ตนคาดหวังให้สื่อช่วยทำให้สังคมเรียนรู้ กลัวความรุนแรง เพราะตอนนี้สังคมค่อนข้างอ่อนไหว ไม่กลัวความรุนแรง ซึ่งอันตรายต่อบ้านเมือง แล้วจะอยู่ต่อไปอย่างไร ตนอยากให้บ้านเมืองไปได้ เป็นบ้านเมืองที่น่ารัก และอยากคุยกับนักข่าวด้วยอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่อยากทะเลาะกับใครทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น