xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองเถื่อน เสร็จ"แม้ว"พวกมากลากผ่านฉลุย ปชป.จี้"บิ๊กบัง"เคลียร์ข้อครหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-สภาฉะกันวุ่น "เพื่อแม้ว" ดันรายงานกมธ.ปรองดอง แซงวาระรถไฟฟ้าสายสีม่วง อ้างแค่ขอผ่านทางไปพิจารณาในสภา “มาร์ค”ซัดรายงานผ่านความเห็นชอบจริงหรือไม่ ลูกพรรคประสานเสียงไม่เอา “รายงานเถื่อน” รุกประชิดตัว “บิ๊กบัง” จี้ให้ตอบคำถาม ด้าน ”บิ๊กบัง” ฉะสภาตัวทำสังคมแตกแยก อ้างกมธ.ไม่มีสิทธิ์แก้งานวิจัยสถาบันฯ สุดท้ายใช้พวกมากลากผ่านเข้าสภาไปจนได้ ด้าน ผบ.ทอ. ไม่ห้าม"แม้ว"กลับบ้าน ชี้โละคดีคตส. ยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยตามวาระปกติ จะเป็นการพิจารณา เรื่อง กรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ระยะที่ 3 แต่ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้เลื่อนวาระ ขอให้รัฐสภามีมติให้สภาพิจารณาเรื่องอื่นๆ ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ตามมาตรา 136 (5) ของรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาก่อน เพราะแค่ขอมติที่ประชุมรับรอง เพื่อให้สภาสามารถนำรายงานไปหารือกันในที่ประชุมสภาเท่านั้น ส่วนรายละเอียด จะมีการถกเถียงกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ได้มี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. บางส่วนแสดงความเห็นคัดค้าน และต้องการให้พิจารณาไปตามระเบียบวาระ เพราะเรื่องกรอบเจรจาการกู้เงินมาสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก็มีความเร่งด่วน และเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม ส่วนรายงานปรองดองของคณะกรรมาธิการปรองดองนั้น ยังมีความเห็นขัดแย้งในสังคมอยู่มาก หากให้มีการนำมาพิจารณาในสภา จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ และสาระส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับประโยชน์กับบุคคลบางคนบางกลุ่มเท่านั้น

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง กล่าวว่า สมาชิกมีเวลาประชุมในสมัยนี้อีกไม่กี่วัน ก็ปิดสมัยประชุม และเรื่องนี้เกิดความเห็นต่างในสภาล่าง ดังนั้น เสียงส.ว. เท่านั้น จะสร้างบรรยากาศปรองดองได้ จึงขอให้ทบทวน และนำไปเข้าสมัยประชุมหน้า จึงขอให้พิจารณาว่า จะลงมติในวันนี้ ที่จะเป็นชนวนความขัดแย้ง หรือจะใช้โอกาสนี้ยุติความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

** จี้"บิ๊กบัง"แจงเหตุผลโละคดีคตส.

นายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง กล่าวว่า นับแต่หยิบยกเรื่องปรองดองขึ้นมา ปรากฏว่าสังคมและสมาชิกรัฐสภา ยังสับสนหลายเรื่อง กรณีข้อกล่าวหาว่าจะมีการนิรโทษกรรม ลบล้างการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ประธานกรรมาธิการ จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า หากพิจารณาแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร หากมีประโยชน์จริงๆ เราก็ไม่ขัดข้อง โดยเฉพาะคำแถลงการณ์ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่อ้างเหตุผลทำการรัฐประหารว่า เป็นเพราะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดหลายข้อกล่าวหา เช่น มีการทุจริต แทรกแซงองค์กรอิสระ

"ท่านต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า มาวันนี้ทำไมถึงไม่มีการทวบทวนผลสรุปรายงาน คตส. ที่สร้างมากับมือตนเองในที่สุดจะยกเลิกหรืออย่างไร รัฐสภาต้องคิดว่า การเร่งรีบเสนอเรื่องนี้เข้ามาเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน หรือเพื่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ การคิด หรือทำอะไรต้องเป็นสิ่งที่ชี้แจงกับประชาชนได้ สภาแห่งนี้ต้องคิดว่า ต้องทำเพื่อประโยชน์แผ่นดิน ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ"

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปราย นายวิเชียรได้อ่านคำแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 ของ พล.อ.สนธิ เพื่อทบทวนความจำ และต้องการให้พล.อ.สนธิ ชี้แจงว่า สิ่งที่ได้อ่านแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เวลา 23.50 น. เป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องจริง เพื่อตัดสินว่า จะให้เลื่อนญัตติดังกล่าวหรือไม่ แต่นพ.ชลน่าน ได้ประท้วงว่า อภิปรายนอกประเด็น เพราะขณะนี้เป็นเพียงการขอความเห็นให้เลื่อนระเบียบวาระเท่านั้น ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด

ช่วงนี้บรรยากาศในที่ประชุมเริ่มตึงเครียด โดยสมาชิกได้แสดงเห็นออกเป็นสองฝ่าย ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้สภาพิจารณารายงาน กมธ.ปรองดองในสมัยประชุมนิติบัญญัติได้ ตนเชื่อว่าต่อไปสภาก็คงจะให้ความเห็นชอบ ดังนั้น กระบวนการรัฐสภาขณะนี้ ต้องพิจารณาว่า กระบวนการทำรายงานนั้นถูกต้องหรือไม่ ตนอยากฟังคำอธิบายจาก คณะกรรมาธิการปรองดองว่าทำไมรายงาน จึงมีความสำคัญ และควรเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะมีใครบางคนที่รออยู่หรือไม่

"ผมขอถาม พล.อ.สนธิ ว่า รายงานของกรรมาธิการ เป็นไปตามขั้นตอนปกติ และถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมหรือไม่ โดยมีการเรียกให้กรรมาธิการฯ ทุกคนมาร่วมสรุปรายงานการประชุมครั้งสุดท้ายหรือไม่ และให้สิทธิ์สมาชิกอภิปรายโต้แย้ง ท้วงติง หรือตั้งข้อสังเกตหรือไม่ หากไม่ได้ทำ แสดงว่ารายงาของกมธ.ปรองดอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อบังคับ ที่จะมีการนำเสนอต่อสภาฯ การปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เป็นความบอบช้ำของประเทศไทย หากทำผิดซ้ำสอง จะให้อภัยกันไม่ได้อีก"นายธนากล่าว

** ซัดกมธ.งุบงิบแก้ไขเพิ่มเติมผลวิจัย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าวว่า มีประเด็นที่จำเป็นต้องสร้างความกระจ่าง ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการบรรรจุระเบียบวาระ คือ รายงานของกมธ.ปรองดอง ได้ดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนจริงหรือไม่ ประธาน บรรจุระเบียบวาระไม่รู้ถึงปัญหาที่มาที่ไปของรายงานดังกล่าว เพราะปัญหา คือ การสรุปร่างรายงานของกมธ. แตกต่างจากรายงานที่ส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา คือ มีการแก้ไข เพิ่มเติม โดยเฉพาะการไม่นำเอาแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า ไปหาข้อยุติร่วมกัน เพราะที่ผ่านมา มีการขอให้กมธ.ปรองดองฯ นัดประชุมเพื่อให้พิจารณาใหม่อีกครั้ง

"การจะเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อนว่า รายงานฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจาก กมธ.แล้วหรือยัง หากไม่สามารถทำความกระจ่างได้ จึงไม่สมควรมาพูดกัน ประธานกมธ.ปรองดองฯ จะตอบกับสภาก่อนได้หรือไม่ว่า รายงานฉบับนี้ กมธ.ปรองดองฯ ได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่เท่าไร วันที่เท่าไร หากตอบไม่ได้ เราก็พิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้เลย หากยังพิจารณากันต่อไป และประธานกมธ.ปรองดองฯ ไม่สามารถตอบได้ ผมจะขอใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามข้อ 32 เสนอให้เลื่อนเรื่องที่กำลังจะพิจารณานี้ออกไปก่อน"

**"สมศักดิ์"รวบรัดลงมติเจอโห่ไล่

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้อ้างว่า ได้บรรจุตามวาระ และทุกอย่างถูกต้องตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีข้อกังขาที่ฝ่ายค้านได้หยิบยกมาเป็นปัญหา

ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ จะไปคาดคั้นกับประธานกมธ.ปรองดองฯ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้มีการเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา ไม่เช่นนั้นประธาน ก็ควรให้มีมติให้อภิปรายพร้อมกับลงมติไปในคราวเดียวกันก็ได้

จากนั้นนายสมศักดิ์ ได้ตัดบทว่า มีการอภิปรายมาพอสมควรแล้ว และควรยุติได้แล้ว การที่นายอภิสิทธิ์ จะตั้งคำถามก็เป็นสิทธิที่กมธ.ปรองดองฯ จะตอบหรือไม่ตอบ ดังนั้น ตนขอให้มีการลงมติทันที

หลังประธานฯ กล่าวจบ บรรยากาศความวุ่นวายเริ่มเกิดขึ้นทันที โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันส่งเสียงโห่ร้อง และตะโกนตำหนิการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ พร้อมกับชูรายงานของกรรมาธิการขึ้นมา และตะโกนว่า “รายงานเถื่อนๆๆๆๆ” และ “เผด็จการรัฐสภา” จนที่สุดนายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุม 5 นาที แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส นายโกวิทย์ ธารณา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้พยายามเข้าไปขอคำอธิบายกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธาน กมธ. เช่นเดียวกับ ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา คือ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่พยายามจะเข้าไปขอคำอธิบาย ส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็พยายามตะโกนว่า การปรองดองครั้งนี้ ปรองดองเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทย ต่างไม่พอใจ และส่งเสียงโหตอบโต้กันไปมา

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกจากทุกฝ่าย พยายามเดินเข้าไปหา พล.อ.สนธิ แต่ก็ไม่ได้เข้าไปประชิดตัว โดยนายโกวิทย์ ธารณา ได้กล่าวว่า “ท่านเป็นชายชาติทหารหรือไม่ เสนอเรื่องปรองดองเข้ามา ก็มีแต่เรื่องวุ่นวาย เขาถามเรื่องบันทึกรายงานการประชุม ท่านก็ไม่ตอบ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย แล้วท่านจะนั่งเป็นประธาน กมธ.ทำไม" จนนายสมศักดิ์ ได้ประกาศขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย คือ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นายชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย พยายามเข้าไปพูดคุยกับ พล.อ.สนธิ ส่วนส.ส.พรรคภูมิใจไทย เดินออกนอกห้องประชุม หนีความวุ่นวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ความวุ่นวายก็ยังไม่สงบ จนนายสมศักดิ์ ต้องขอร้องให้ทุกคนนั่งลง และยอมให้ กมธ.ปรองดองฯ ได้มีการตอบคำถามของ นายอภิสิทธิ์ และขอให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะผู้ถามได้ให้ความร่วมมืออยู่ในความสงบด้วย ทำให้นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังพูดไม่จบ ประธานก็ปิดไมค์ แล้วจะให้ลงมติ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้ตนได้แสงความคิดเห็นก่อน สิ่งที่ตนถาม เป็นคำถามง่ายๆ ที่ประธานกมธ.ปรองดองฯ เป็นผู้เซ็นต์ญัตติเข้าสภา ต้องตอบ ถ้าตอบไม่ได้ ก็พิจารณาไม่ได้เลย ดังนั้น อยากให้ถอนกลับไป จนกว่ารายงานฉบับนี้ เป็นรายงานที่กมธ.เห็นชอบจริง ไม่ใช่รายงานเถื่อน

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอญัตติ ตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้เลื่อนเรื่องที่มีการพิจารณาอยู่ แต่ นายสมศักดิ์แย้งว่า จะเสนอญัตติซ้อนไม่ได้ เพราะขณะนี้มีการเสนอญัตติให้เลื่อน หรือไม่เลื่อนเท่านั้น ทำให้นายอภิสิทธิ์ ตอบโต้ว่า ญัตติก่อนหน้านี้ขอให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม แต่ของตนเสนอให้เลื่อนญัตติ ซึ่งตามข้อ 32 (4) คือขอให้เลื่อนการพิจารณาญัตติของ นพ.ชลน่าน

ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ประธานสามารถให้ลงมติว่า จะให้เลื่อนหรือเปลี่ยนระเบียบวาระก็ได้ อยู่ที่ประธาชนจะพิจารณา ซึ่งประธานเห็นว่า เมื่อที่ประชุมยังตกลงกันไม่ได้ จึงได้สั่งให้มีการพักการประชุมอีก 10 นาที

ต่อมาเมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้าน ไม่เจรจากับวิปรัฐบาล เพราะในสถานการณ์นี้ ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์ จนกว่าประธานกมธ.ปรองดองฯ จะได้ตอบคำถามของผู้นำฝ่ายค้าน และคำตอบต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง ว่ารายงานฉบับที่นำเสนอสู่รัฐสภา เป็นรายงานฉบับที่ชอบ หรือเป็นรายงานเถื่อน

** "บิ๊กบัง"อ้างขัดแย้งเกิดจากสภา

เมื่อบรรยาการประชุมเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ พล.อ.สนธิ ได้ลุกขึ้นชี้แจง โดยยืนยันว่า เข้ามาเป็นประธานกมธ.ปรองดอง ด้วยตนเอง ไม่มีใครชักชวนเข้ามา และร่ายยาวถึงอดีตความเป็นมาเป็นทหารบ้านนอก มีโอกาสทำหน้าที่สำคัญๆ หลายคนบอกตนว่า ที่ผ่านมาเคยชื่นชม วันนี้หมดแล้ว ไม่เป็นไร ทุกคนจะได้รู้จักแก่นแท้ของตน ที่ยังไม่ทราบ ตนเห็นบ้านเมืองมีความแตกแยกครั้งแล้วครั้งเล่า ตนวางคออยู่บนเขียง มีใครรับผิดชอบหรือไม่ ผู้ใหญ่ในฝ่ายค้านรู้ดี ตนอาสามาทำ ความขัดแย้งไม่หยุด ตนเองมาถึงวันนี้เพราะผู้นำประเทศแต่ละคน มีความตั้งใจทำสังคมให้เป็นสังคมแห่งความรักหรือไม่ ผ่านมา 5 นายกฯ วันนี้บ้านเมืองก็ยังเป็นอยู่แบบนี้ ตนเข้ามาในสภา ภาพที่เห็นในวันนี้ เป็นสิ่งที่ตนบันทึกไว้ หลายคนมีการถ่ายรูป ถามว่าประชาชนข้างนอกกำลังมองอะไรอยู่ ตนเสียใจที่คนไทยเห็นตน และสมาชิกกำลังทำอะไรกันอยู่ ตนยืนยันเสมอว่า ความขัดแย้งเกิดจากในสภา และขยายไปข้างนอก

**"มาร์ค"ตอก"บิ๊กบัง"ตัวต้นเหตุ

นายอภิสิทธิ์กล่าวตอบโต้ว่า หากไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง ถอนรายงานไปทำให้ถูกต้อง เชิญเรากลับไปพูดคุยกันใหม่ นั่นคือการปรองดอง ถ้าจริงใจอยู่ตรงนี้ ลุกขึ้นเลย ยอมรับเลยว่า นั่นคือหนทางที่จะแก้สิ่งนี้ หากเปิดใจกว้างว่าจะทำตามเจตนารมย์ของพระปกเกล้า ในการที่จะให้มีการเสานเสวนา เราจะช่วยกันทำ กมธ.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกก็จะกลับไปทำงานกับท่าน แต่หากท่านเปลี่ยนเจตนารมย์ ของกมธ. และเปลี่ยนเจตนารมย์ ของคณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า และบอกว่าโยนให้เป็นเรื่องของเสียงข้างมากในสภา ตั้งแต่ว่าจะอนุญาตให้สภาฯ พิจารณาหรือไม่ ไปจนถึงให้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก ว่าเห็นชอบกับรายงานหรือไม่ ท่านก็จะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ มันไม่มีประโยชน์ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งหมดอยู่ที่ท่าน แต่หากยังไม่สามารถตอบคำถามได้ กระบวนการที่จะเดินจากนี้ก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

** "วัฒนา" แก้ข้อหารายงานเถื่อน

จากนั้นที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันในประเด็นข้อกล่าวหาจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า รายงานของกมธ.ฉบับนี้ เป็นรายงานเถื่อน โดยนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ปรองดอง ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. กมธ.ได้รับรองรายงานของสถาบันพระปกเกล้า แต่มีสมาชิกปชป. เห็นแย้ง โดยที่ประชุมมีมติให้ส่งความเห็นแย้ง มาในวันที่ 22 มี.ค. แต่ก็ไม่ได้ส่งมา และรายงานส.พระปกเกล้า ก็เรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ส่วนจะชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

ดังนั้น รายงานจะถูกต้องหรือไม่ สภาผู้แทนฯจะเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่เวลาที่จะมาวิจารณ์ แต่ก็เข้าใจว่า มีการจ้องหาเรื่องตลอดเวลา คนเรียนกฎหมายต้องเข้าใจหลักนิติธรรม ไม่นั้นจะเป็นได้แค่คนหัวหมอ เป็นนักกฎหมายไม่ได้ ยืนยันว่า สิ่งที่ทำในกมธ.ถูกต้องทุกอย่างแล้ว และการมาขอมติต่อที่ประชุมครั้งนี้ เปรียบเหมือนจะเอาการบ้านไปส่งครู แต่บังเอิญโรงเรียนปิด เลยต้องมาขอกุญแจจากครูใหญ่ เพื่อไปเปิดโรงเรียนเท่านั้น

ด้านนายนิพิฏฐ์ กล่าวยืนยันว่า มีรายงานเถื่อนจริง ตนมีหลักฐานรายงานวันที่ 20 มี.ค.ที่เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย มีรายงานทั้งหมด 46 หน้า ซึ่งต่างกับรายงานที่นำเสนอในครั้งนี้ เพราะขาดไปถึง 7 แผ่น แต่ละหน้าก็ไม่เหมือนกัน และในวันที่ 22 มี.ค. ตนได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สนธิ ให้ทบทวน ต่อมาวันที่ 23 มี.ค. สภาได้ส่งเอสเอ็มเอส แจ้งงดประชุมกมธ.ปรองดอง ในวันที่ 27 มี.ค. เนื่องจากการพิจารณาได้เสร็จสิ้นแล้ว

ต่อมาพล.อ.สนธิ ได้ลงนามในรายงานที่เสนอปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาไม่ตรงกับรายงานที่เสนอ กมธ.รับรองเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ดังนั้น รายงานฉบับปัจจุบัน จึงยังไม่มีการรับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยมีการตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป

"คนที่ยื่นรายงานที่ไม่ถูกต้องให้รัฐสภาพิจารณา คนนั้น คือ คนหัวหมอ ไม่อยากพูดว่า พล.อ.สนธิโกหก แต่ท่านเคยบอกว่าเป็นมือใหม่ของสภานี้ เลยไม่อยากกล่าวหาว่า ท่านพูดเท็จ สภาแห่งนี้เป็นที่สูงสุด ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด จะรับรองรายงานเถื่อนโดยไม่มีเลื่อนออกไปก็แล้วแต่ดุลพินิจอยู่กับท่านทั้งหลาย ใครก็ตามรับรองรายงานนี้ เท่ากับรับรองรายงานเถื่อน"

ขณะที่นายวัฒนา ชี้แจงอีกครั้งว่า รายงานฉบับวันที่ 20 มี.ค. ที่นายนิพิฏฐ์ ยกมานั้นเป็นฉบับร่าง และไม่อยากให้นับหน้ากระดาษกัน เพราะเนื้อหาสาระฉบับร่างนั้น อาจมีการปรับบ้าง เพื่อให้ตรงกับรูปแบบรายงานของสภา ส่วนเนื้อหาสาระยังเหมือนเดิม เพียงแต่ตัดในส่วนการแสดงความเห็นของกรรมาธิการเกี่ยวกับสถาบันพระปกเกล้าฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดให้สมาชิกถกเถียงกันมาหลายชั่วโมง ที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบกับญัตติของนายอภิสิทธิ์ ที่เสนอให้เลื่อนญัตติของ นพ.ชลน่าน ออกไปก่อน

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติให้สภาพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ ปรองดอง มาพิจารณา โดยพล.อ.สนธิ ได้อ่านรายงานต่อสมาชิก และเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นเพิ่มเติม

** สุดท้ายใช้พวกมากลากไปจนได้
 

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า มั่นใจว่ารัฐบาลมีมือมากพอ ครูใหญ่คงมอบกุญแจให้ไขเข้าไป เอาการบ้านไปส่ง แต่คิดให้ดีๆ เมื่อบรรยากาศปรองดองยังไม่เกิดขึ้น อย่ารีบทำอะไรตามที่หลายคนเป็นห่วง เรามี 34 เสียง ขอยืนยันจะบอกครูใหญ่ให้กุญแจไป แต่อย่าไปหยิบอะไรในโรงเรียน หวังว่าอยากได้ยินคำสัญญาว่า ได้ไปแล้วขอเพียงเอาการบ้านไปวางบนโต๊ะครูก็พอ อย่าแอบทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปรองดองมาถูกทางแล้ว แต่รายงานฉบับนี้ เพียงแค่ฝ่ามือเท่านั้น เอกสารนี้มีปัญหาต้องแก้ไข การปรองดองเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ การอยู่ในวังวนมา 6-7 ปี อยากออกจากวังวนแห่งนี้ เหมือนไก่ในเข่ง จิกตีกันอยู่ตลอดเวลา หลายประเทศเป็นตัวอย่าง แต่เขาผ่านไปได้แต่ใช้เวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน ไม่อยากเห็นวังวนนี้กลับมา ความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร เข่นฆ่าประชาชนอีก หวังว่าจะพร้อมเดินไปด้วยกัน การจะนำไปสู่ความปรองดองโดยไม่ยอมรับอีกฝ่ายได้อย่างไร จะใช้ชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม ก็จะมีอีกฝ่ายที่มีความแค้นไม่จบสิ้น

หลังจากอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในที่สุดที่ประชุม มีมติให้ นำรายงานของกมธ.ปรองดองไปไพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

**กมธ.ปรองดองปชป.9 คนลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ นำส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมาธิการต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเร่งนำผลสรุปแนวทางสร้างความปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ โดยใช้เสียงข้างมากในที่ประชุม

ทั้งนี้ ภายหลังการรับหนังสือ พล.อ.สนธิ ยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดขณะนี้ สมบูรณ์แล้ว และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งการลาออกจะมีผลในทันที

สำหรับกรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกทั้งหมดจำนวน 9 คน ได้แก่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายศุภชัย ศรีหล้า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายนคร มาฉิม น.ส.รังสิมา รอดรัศมี และ นายกนก วงศ์ตระหง่าน

**ข้องใจ ส.พระปกเกล้าเล่นละคร
 

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึง รายงานการวิจัยเรื่องการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ว่าผู้ตรวจฯ จะต้องเข้ามาตรวจสอบด้วยหรือไม่ว่า คงไม่ได้พิจารณา เพราะไม่ได้มีผู้ร้องเรียนเข้ามา แต่ส่วนตัวเห็นว่า บรรยากาศในขณะนี้มันคงปรองดองกันไม่ได้ ต่างคนไม่ลดราวาศอก และข้อเรียกร้องบางข้อของการปรองดองบางเรื่องก็ฝ่าฝืนกฎหมาย ขัดคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งหากนำไปดำเนินการ ก็เป็นวังวนปัญหาที่ไม่จบ ตรงนี้ก็เป็นข้อห่วงใยของผู้ตรวจการฯ ที่ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง และนองเลือด การเสนอเข้าสภาฯ คงเป็นเพียงลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง แต่คงไม่ได้ข้อยุติ แม้จะเป็นความพยายามที่ดี เพราะต่างคนต่างมีจุดยืนของตนเอง เช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง จะให้กลืนกินกันนั้น เป็นไปได้ยาก ซึ่งการที่คณะกรรมาธิการฯ ให้สถาบันพระปกเกล้า ทำการศึกษาเรื่องการปรองดอง ก็ไม่รู้ว่าเป็นการเล่นละครหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่อยากคิดอย่างนั้น

** ผบ.ทอ.ไม่ห้าม"แม้ว"กลับบ้าน

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. กล่าวว่า การจะปรองดองได้หรือไม่ได้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน และจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ตั้งธงอย่างเดียวว่า ถ้าจะปรองดองจะต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถ้าเป็นเงื่อนไขที่ผิดกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายรองรับ หรือเป็นเรื่องที่จะต้องไปแก้อะไร แล้วคงเกิดความปรองดองกันยาก เราสามารถพูดคุยกันได้ในหลักการที่สามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย ก็สามารถทำได้

ส่วนกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี แนะนำว่า การสร้างความปรองดองควรใช้มาตรการทางการเมือง ตามนโยบาย 66/23 เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีนั้น พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า คงจะต้องเอามาประกอบกันหลายอย่าง เพราะนโยบาย 66/23 ออกมานานแล้ว แต่ปัจจุบันสถานการณ์มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆอะไรที่ดี ก็ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ทั้งหมดต้องนำมาปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เมื่อถามถึงการออก พ.ร.บ.นิโทรษกรรม และการยกเลิกคดีที่ คตส. ทำไว้ จะทำให้กลายเป็นเงื่อนไขขัดแย้งมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ตนไม่อยากแสดงความคิดเห็น ส่วนการเดินทางกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น จะกลับหรือไม่ อยู่ที่ตัวท่านเอง เราคงไปห้ามไม่ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ตนคงตอบแทนท่านไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น